ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
บทบาทอันยอกย้อนของประชาสังคม
ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย
: บทเรียนจากเกาหลีใต้
บทความฉบับก่อนนี้ผมเสนอแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยฐานะและพลังของประชาสังคมที่มีต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในตะวันตก
นั่นคือประวัติศาสตร์ช่วงปลายของระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ในยุโรป ที่เห็นการก่อตัวและเติบใหญ่ของพลังและอำนาจชนชั้นกระฎุมพีหรือคนชั้นกลางที่นำไปสู่การถ่วงดุลอำนาจของสถาบันกษัตริย์และขุนนางและศาสนจักร
กระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติเช่นในอังกฤษ (1688) อเมริกา (1776) และฝรั่งเศส (1789) ที่เป็นต้นแบบของการปกครองภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจอธิปไตยและสูงสุดแทนที่อำนาจของกษัตริย์
ที่เห็นเด่นชัดคือรัฐธรรมนูญสหรัฐ (1878) ที่ได้ลงมือกระทำการตามที่จอห์น ล็อก ได้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือว่าด้วยการปกครอง (Two Treatises of Government) ที่บอกว่าสังคมประชาธิปไตยเกิดและดำรงอยู่ได้ด้วยการที่ประชาสังคมสามารถแทรกซึมและเข้าไปกำกับรัฐในการใช้สิทธิทางการเมืองเช่นการออกกฎหมายและพิทักษ์ทรัพย์สมบัติได้
จอห์น ล็อก เป็นคนสร้างทฤษฎีที่ว่าประชาสังคมเกิดก่อนรัฐ ดังนั้น สังคมจึงมีสิทธิในการล้มล้างหรือปฏิวัติรัฐบาลได้อย่างถูกต้องหากไม่เคารพรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
เขาทำให้อำนาจตามจารีตแต่เดิมของผู้ปกครองเช่นกษัตริย์ไม่ใช่ “อำนาจการเมือง” อันชอบธรรม จนกว่าจะมีประชาสังคมดำรงอยู่ในนั้นด้วย
วรรคสุดท้ายมีความหมายและความสำคัญก็ต่อเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือสังคมอย่างแท้จริง ด้วยการที่สภาผู้แทนราษฎรสามารถออกกฎหมายในการปกครองด้วยตนเองได้อย่างอิสระเสรี จนทำให้คติเดิมที่อำนาจปกครองมีความชอบธรรมด้วยบารมีของพระมหากษัตริย์ถูกลบล้างและแทนที่ด้วยอำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่กำกับควบคุมโดยประชาชน
บทบาทเชิงบวกดังกล่าวนี้ของประชาสังคมกล่าวได้ว่าเป็นโจทย์ที่ยากและทำให้เป็นจริงแทบไม่ได้เลยในการเปลี่ยนผ่านจากระบบก่อนทุนนิยมมาสู่ระบบทุนและรัฐชาติสมัยใหม่ในโลกที่สาม เพราะรากฐานทางสังคมที่ก่อรูปและพัฒนามาภายใต้ระบบอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมไม่อำนวยให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่รองรับชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมฝ่าฟันขึ้นมาได้ นอกจากจะมีปัจจัยภายนอกที่เป็นบวกเข้ามาช่วยเหลือและอุดหนุนอย่างมาก
กรณีของเกาหลีใต้และไต้หวันเป็นตัวอย่างของความสำเร็จมากที่สุดในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเสรีในเอเชีย
ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ที่กำลังดำเนินไปนั้น ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ความขัดแย้งระหว่างสองสถาบันในการปกครองและสร้างรัฐ นำไปสู่การต่อสู้อย่างเต็มที่ด้วยการใช้อำนาจของสถาบันระหว่างบริหารกับนิติบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ว่าฝ่ายใดกระทำการอันเป็นความชอบธรรมและรักษารัฐธรรมนูญ
การตอบโต้การใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายบริหารในการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล ว่าไม่มีกฎหมายรองรับ จากนั้นคำประกาศนั้นถูกสภาผู้แทนฯ โหวตคว่ำไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้นปฏิบัติการกลางดึกคืนนั้นก็กลายเป็นการก่อ “การกบฏ” ทันที เพราะมีแผนในการจับกุมหัวหน้าและสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านและสื่อมวลชนด้วย อันเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง
มาตรการแรกที่ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญคือจากรัฐสภาด้วยการลงมติถอดถอน (impeachment)
ที่น่าสนใจคือการดำเนินคดีต่อมาจากฝ่ายกฎหมายของรัฐคือสำนักงานสอบสวนการทุจริต (Corruption Investigation Office-CIO) ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเพื่อทำการจับกุมตัวประธานาธิบดีที่ไม่ยอมมาให้ปากคำ
แสดงว่าอำนาจของสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้มีเขี้ยวเล็บด้วยไม่ใช่ดีแต่พูดเท่านั้น
หลังจากประธานาธิบดียุนไม่ยอมมาให้การ ฝ่ายสอบสวนการทุจริตจึงขอหมายจับตัวประธานาธิบดี ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างมวลชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดีนับพันที่ออกมาปิดล้อมหน้าบ้านพักไม่ให้กำลังฝ่ายสอบสวนเข้าไปจับตัวได้ กับมวลชนฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีที่ออกมาหนุนการจับตัว
น่าสังเกตด้วยว่าคะแนนหยั่งเสียง (poll) ของมวลชนฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีกับพรรคฝ่ายค้านห่างกันไม่มาก
พรรคพลังประชาชนของรัฐบาลได้ 40.8% ส่วนพรรคประชาธิปไตยฝ่ายค้านได้ 42.2%
แสดงว่าพลังประชาสังคมที่เป็นอนุรักษนิยมก็เติบใหญ่ด้วยเช่นกันในระยะหลัง
ในที่สุดฝ่ายสอบสวนถอนกำลังออกจากบ้านพักที่มีหน่วยความมั่นคง 200 คนพิทักษ์ประธานาธิบดีซึ่งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ
ล่าสุดขณะเขียนบทความนี้ (17 มกราคม) ประธานาธิบดียุนยอมออกมาจากบ้านพักและให้นำตัวไปยังที่กักตัวต่อไป เขาแถลงผ่านวิดีโอที่อัดไว้ก่อนแล้วว่า การที่เขายอมมอบตัวก็เพื่อ “หลีกเลี่ยงการนองเลือดที่น่ารังเกียจ หากเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างมวลชนสองฝ่าย”
เขายังยืนกราน “แม้ว่าการสอบสวนเขานั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” ก็ตาม
ฝ่ายทนายความของประธานาธิบดีก็กล่าวเหมือนกันว่าการสอบสวนประธานาธิบดีต่อคำประกาศนั้นไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ และการกระทำของประธานาธิบดีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
การตัดสินใจเข้ามอบตัวของประธานาธิบดียุนก็อยู่เหนือการคาดเดาของผู้สังเกตการณ์ คิดว่าเขาคงปักหลักสู้อยู่ในทำเนียบจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมติการถอดถอนของสภาผู้แทนฯ แต่เมื่อไปดูประวัติของเขาก็กระจ่างขึ้นว่าทำไมเขาเลือกตัดสินใจทำตามกฎหมาย
นายยุน ซ็อกยอล เคยเป็นอัยการมาก่อนและเคยเป็นหัวหน้าคณะสอบสวนการทุจริตของอดีตประธานาธิบดีปัก กึนเฮ ด้วย ดังนั้น เขาจึงมีประสบการณ์ของการเป็นผู้ใช้และรักษากฎหมายมาก่อน ได้ตัดสินลงโทษนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่จนสำเร็จมาแล้วหลายราย จนได้ฉายาขณะนั้นว่า “Mr. Clean” หรือ “อัยการมือสะอาด”
การฝืนการดำเนินการทางกฎหมายของสำนักงานจึงไม่ใช่ความเชื่อของเขามาโดยตลอด
กลับมามองฝ่ายกฎหมายของไทยสงสัยว่าทำไมถึงไม่ก้าวหน้าและยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยแบบเกาหลีใต้บ้าง
เมื่อเข้าไปดูช่วงที่ภาคประชาสังคมเกาหลีพัฒนามานับแต่หลังปี 1987 มาอันเป็นยุคของการสร้างประชาธิปไตย (democratization) เหมือนกับในไทยหลังพฤษภาเลือด 2535 ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้มีความเปลี่ยนแปลงเติบใหญ่และสร้างพลังในระบอบประชาธิปไตยได้
เริ่มจากการที่รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐกับประชาสังคม นำไปสู่การเติบใหญ่ขององค์กรประชาสังคม
สายหนึ่งหนักไปทางสายเหยี่ยวของการประท้วงรัฐบาลและความไม่เป็นธรรม
อีกสายหนักไปทางการขยายบทบาทของกลุ่มประชาชนต่างๆ
ระยะผ่านที่สำคัญคือเมื่อสองสายประสานกันและนำไปสู่การเกิดประชาสังคมที่สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินทางนโยบายของรัฐบาล กลายเป็นหุ้นส่วนที่มีความหมายของพรรคการเมืองไป
นี่คือสองเสาหลักของประชาสังคมเกาหลีใต้ เครือข่าย People’s Solidarity for Participating Democracy (PSPD) กับเครือข่าย Citizen’s Coalition for Economic Justice (CCEJ) และ Korean Federation of Environmental Movement (KFEM)
ทั้งหมดนั้นเพื่อเข้าไปมีอิทธิพลในการตัดสินใจทางนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาล เรียกว่าเป็นหุ้นส่วนเชิงวิพากษ์ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองหรือรัฐบาล บทบาทสำคัญยิ่งคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองของกระบวนการนิติบัญญัติได้ในที่สุด
จุดนี้สำคัญเพราะกระบวนการในการทำให้ภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรกับพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่เกิดไม่ง่าย
แม้เริ่มเกิดแต่การรักษาจุดยืนและเป้าหมายของการเคลื่อนไหวขององค์กรสังคมไว้ท่ามกลางการต่อสู้ภายในโครงสร้างของระบบการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและความเป็นมาของโครงสร้างอำนาจในรัฐและประเทศนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร
กรณีเกาหลีใต้การจัดการลงโทษประธานาธิบดีชุน ดูฮวาน อดีตนายทหารผู้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐหลังจากหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีแล้วในข้อหากบฏจากการประกาศกฎอัยการศึกและละเมิดรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสังหารโหดผู้ประท้วงในกวางจู
ทำให้อำนาจบริหารไม่อาจเป็นอำนาจที่ล้นพ้นได้อีกต่อไป
นี่เป็นปรากฏการณ์ที่การเมืองไทยต้องการอย่างยิ่ง
ตรงกันข้ามเรามีประชาสังคมเสื้อเหลือง เสื้อแดงและหลากสี ที่ในที่สุดนำไปสู่การ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ระบอบประชาธิปไตยเสรีไปโดยสิ้นเชิง
และในระยะยาวทำให้ฐานะและบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมเป็นพลังทางการเมืองที่ไม่มีความชอบธรรมและที่พรรคการเมืองต้องให้การยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเพียงนักประท้วงเท่านั้น
เราจึงไม่มีสิ่งที่ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Roh Moo- hyun เขาแต่งตั้งนาย Park Si- hwan และนาย Kang Kum-sil ให้เป็นประธานผู้พิพากษาศาลสูงสุดและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามลำดับ
ทั้งสองคนเคยเป็นนักกิจกรรมฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในระบบยุติธรรม และเป็นสมาชิกสมาคมเพื่อการวิจัยในกฎหมายของเรา (Society for Research on Our Law) หมายความว่าฝ่ายสถาบันกฎหมายและยุติธรรมเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาฝ่ายก้าวหน้าเข้าไปหลายคน ทำให้ฝ่ายยุติธรรมเกาหลีใต้จึงสามารถใช้กฎหมายในการจัดการลงโทษอดีตนายพลผู้ก่อการรัฐประหารได้
ทั้งหมดนี้แสดงถึงความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของประชาสังคมเกาหลีใต้ ที่ช่วยค้ำจุนเสถียรภาพและประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติและกฎหมายเกาหลีใต้ให้มั่นคงและยึดมั่นในหลักนิติรัฐมากกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และนี่คือคือปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเกาหลีใต้
เอกสารประกอบ
Yooil Bae, “South Korea”, Bencharat Sae Chua, “Thailand”, and Apichai W. Shipper, “Democratization” ใน Akihiro Ogawa, ed. Routledge Hand Book of Civil Society in Asia. London and New York, Routledge, 2018.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022