เมืองไทย กำลังกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ของคนจีน (จบ)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

เมืองไทย

กำลังกลายเป็นบ้านหลังที่สอง

ของคนจีน (จบ)

 

บทความตอนที่แล้วเล่าถึงเรื่องราวของชาวจีนยุคปัจจุบันที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากใหม่ในไทย จากการสำรวจของ The Guardian ผ่านการบอกเล่าของเอมมี ฮอว์คินส์ (Amy Hawkins) และคริสโตเฟอร์ เชอร์รี (Christopher Cherry) ในบทความเรื่อง The Chinese ?migr?s leaving the pressures of home for laid back Chiang Mai เผยแพร่ทาง https://www.theguardian.com/world/2024/apr/13/the-chinese-emigres-leaving-the-pressures-of-home-for-laid-back-chiang-mai และสารคดีเรื่อง The ‘new China’ in Thailand : ‘if you want hope, you have to leave’ ทาง https://www.theguardian.com/world/video/2025/jan/07/the-middle-class-building-a-new-china-in-thailand-video

โดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 คนที่ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นบ้านหลังที่สองของตน คนแรกคือ Xiong Yidan หญิงวัยสามสิบกลางๆ ที่เบนเข็มจากแวดวงธุรกิจและวงการคริปโตเคอร์เรนซีมาสู่ชีวิตในฟาร์มที่เชียงดาว คนที่สองก็คือ Zhang Jieping นักข่าวแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่หันเหมาเป็นผู้ประกอบการร้านหนังสืออิสระในไทเปและเชียงใหม่ภายใต้ชื่อว่า “Nowhere Bookstore”

ส่วนบทความนี้ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายบอกเล่าชีวิตของชาวจีนคนที่สามคือ Zheng Shiping นักเขียนอาวุโสที่อาศัยเชียงใหม่เป็นแหล่งพำนักแห่งสุดท้ายในบั้นปลายชีวิต

คนต่อมาคือ Du Yinghong ศิลปินผู้ย้ายมาถาวรเพื่อรังสรรค์ผลงานในดินแดนที่เขามองว่าศิลปะยังคงมีลมหายใจอยู่

และคนที่ห้าซึ่งเป็นคนสุดท้ายก็คือ Gloria Niu ชาวจีนที่ย้ายมาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมกับพาครอบครัวมาอยู่ด้วย

 

บทความตอนที่แล้วจบลงตรงที่การเปิดร้านหนังสืออิสระชื่อ Nowhere Bookstore ของ Zhang Jieping ซึ่งสร้างบรรยากาศทางปัญญาผ่านพื้นที่ซึ่งมีเสรีภาพในการคิด การพูด การตั้งคำถาม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

ส่วนบทความตอนนี้จะเล่าต่อจากจุดนั้นว่ากิจกรรมภาษาจีนต่างๆ ที่ Zhang Jieping จัดขึ้นในร้านได้กลายเป็นศูนย์รวมของปัญญาชนจีนในเชียงใหม่ โดยบุคคลที่ฮอว์คินส์กับเชอร์รีไปสัมภาษณ์ก็คือนักเขียนรุ่นลายครามนามว่า Zheng Shiping อดีตตำรวจวัย 62 ปีผู้ใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เชียงใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัย

เขาตัดสินใจลาออกจากราชการมานานแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนผันตัวเองมาเป็นกวีและนักเขียนนามปากกาว่า Ye Fu

บ้านเกิดของเขาอยู่ที่อู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย แต่การย้ายมาเมืองไทยไม่เกี่ยวกับการระบาดของโควิด เนื่องจากเดินทางมาถึงไทยก่อนหน้านั้นเพียงนิดเดียว และทราบข่าวการแพร่กระจายอย่างรุนแรงไปทั่วเมืองจากแพทย์ที่อยู่ในอู่ฮั่น

สำหรับ Zhang Jieping แล้วเมืองไทยจึงปลอดภัยกว่าจีนทั้งในแง่ของโรคระบาดและเสรีภาพทางการเมือง

เขามองว่าแม้ไทยจะไม่ได้มีความปลอดภัยทางการเมืองมากกว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบกับจีนแล้วก็ยังดีกว่า

เพราะโดยพื้นฐานแล้วไทยเป็นประเทศที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและมีเสรีภาพในการพูด

 

มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหลายครั้งในไทยซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ผู้ลี้ภัย ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือกรณีการอุ้มหาย “กุ้ย หมินไห่” (Gui Minhai) นักเขียนและผู้จำหน่ายหนังสือชาวจีน-ฮ่องกง-สวีเดน ซึ่งถูกลักพาตัวจากไทยขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ในพัทยา

ก่อนที่หลายเดือนต่อมาจะปรากฏกายในฐานะนักโทษของรัฐบาลจีน และถูกศาลจีนพิพากษาจำคุก 10 ปี ข้อหาเป็นสายลับหรือแพร่งพรายข้อมูลสำคัญของชาติ

เหตุการณ์ลักพาตัวกุ้ย หมินไห่ เกิดขึ้นปลายปี 2558 ขณะอยู่ภายใต้ระบอบ คสช. สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประมาณหนึ่งปีกว่าๆ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ยังไม่รวมเหตุการณ์อื่นๆ ที่บทความนี้ไม่ได้อ้างถึง

อย่างเช่น กรณีการลอบสังหารลิม กิมยา นักการเมืองกัมพูชาที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบัน ซึ่งทำอย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ ใจกลางกรุงเทพฯ

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชีวิตของ Zhang Jieping ก็ยังคงมีเสรีภาพมากกว่าและปลอดภัยกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่

ชาวจีนสูงวัยได้รวมตัวกันเป็นชุมชนแถบชานเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งคนจีนวัยหลังเกษียณ คนรุ่นนี้มีลักษณะที่ต่างจากรุ่นมิลเลนเนียล เพราะเป็นรุ่นเก่าที่เคยผ่านการใช้ชีวิตในช่วงทศวรรษที่ 1980 อันเป็น “ยุคเสรี” ของจีนซึ่งมีอิสระเสรียิ่งกว่าสมัยอื่นใด พวกเขามีความหวัง เสียสละอุทิศตน

แต่แล้วก็แตกสลายหลังเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในขณะที่คนหนุ่มสาวของจีนทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสิ้นหวังและอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งในทางเศรษฐกิจและสิทธิของความเป็นมนุษย์

 

ชาวจีนคนที่สี่คือศิลปินวัย 48 ปี ผู้มีนามว่า Du Yinghong ซึ่งอพยพเข้ามาในไทยด้วยเหตุผลที่แตกต่าง หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นก็คือเขาคิดว่าในเมืองจีนนั้นศิลปะได้ตายไปแล้ว เขาไม่พอใจสภาพที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดทั้งในทางวัตถุและจิตวิญญาณ จึงตัดสินใจย้ายมาเมืองไทยหลังพิจารณาแล้วเห็นว่ามีค่าครองชีพต่ำแถมยังเป็นเมืองพุทธอีกด้วย

ตามข้อมูลของ Pew Research Centre รายงานว่าไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน แต่หากนับตามอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรและความเชื่อถือศรัทธาจริงๆแล้ว ชาวไทยก็มีอัตราการนับถือพุทธสูงกว่าจีนมาก โดยคนไทยที่นับถือพุทธมีมากถึง 90% ในขณะที่ชาวจีนนับถือพุทธไปงั้นๆ แม้ว่าหลายคนมีความศรัทธาอยู่จริงๆ

แต่ Du Yinghong มองว่าในจีนนั้นไม่มีทั้งพุทธแท้ คริสต์แท้ และอิสลามแท้ การนับถือศาสนาใดในจีนล้วนแล้วแต่ปลอมทั้งนั้น เพราะบรรยากาศที่ปราศจากเสรีภาพในจีนเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อหรือไม่อนุญาตให้ใครสามารถมีศรัทธาที่แท้จริงได้

ชีวิตของ Du Yinghong เป็นตัวอย่างชาวจีนผู้แสวงหาบ้านใหม่ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้ชีวิตเนิบช้าลงได้โดยจ่ายไม่แพงเกินไป ซึ่งค่าครองชีพในไทยทำให้พวกเขาอยู่แบบสโลว์ไลฟ์ในราคาที่ถูกกว่าเมืองอื่นๆ ของจีนอย่างเช่นฉงชิ่ง

ที่สำคัญคือไทยเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ศิลปะและศาสนายังคงมีชีวิตอยู่ ขณะที่บรรยากาศเช่นนี้ไม่มีอยู่ในจีนแล้ว

เหตุผลเรื่องนี้จึงเป็นอีกข้อหนึ่งซึ่งท้ายที่สุดได้ดึงดูดให้คนจีนตัดสินใจย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยเป็นการถาวร

 

ตัวอย่างสุดท้ายคือชีวิตของ Gloria Niu ซึ่งเหมือนกับชาวจีนหลายคนที่ต้องการสถานศึกษาที่เหมาะสมกับบุตรหลาน โดยหลีกหนีจากการศึกษาในจีนที่มีการแข่งขันสูงและเต็มไปด้วยความตึงเครียด อันเป็นบรรยากาศที่ไม่สมดุลและเกินพอดี

ต่างกับโรงเรียนทางเลือกในไทย อย่างเช่น โรงเรียนนานาชาติปัญญาเด่น ซึ่งมีคนจีนเป็นนักเรียนถึง 10% ที่นี่นำแนวคิดเรื่อง “ภาวนา” ของพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับการเรียนการสอน ทำให้มีกิจกรรมที่แตกต่างจากสถานศึกษาอื่น เช่น การปฏิบัติสมาธิประจำปี และการเก็บเกี่ยวข้าวจากนาของพวกเขาเอง

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 อาคารเรียนสร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่เกือบทั้งหมด เก็บค่าเล่าเรียน 549,000 บาทต่อปี ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับโรงเรียนไทยทั่วไป แต่ก็ยังถูกกว่าในจีนมาก คือมีราคาราวหนึ่งในสามของโรงเรียนนานาชาติชั้นนำในปักกิ่ง

ทำให้ Gloria Niu อาจารย์ชาวจีนซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่งลูกสาวของตัวเองไปเรียนที่นี่ เพราะมองเห็นถึงการศึกษาแบบนานาชาติและมีความหลากหลาย พร้อมกับการคงรักษารากเหง้าคุณค่าแบบเอเชียเอาไว้ให้เด็กได้เติบโตอย่างสมดุล ไม่ส่งเสริมให้บริโภคมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และสามารถให้การปรึกษาทางจิตใจแก่พวกเขาได้

สรุปก็คือคนจีนปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นกลางกำลังอยู่ในกระแสนิยมของการย้ายประเทศ ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ชาวจีนตัดสินใจเลือก โดยมีเชียงใหม่เป็นจุดหมายอันดับต้นๆ เนื่องจากค่าครองชีพต่ำและมีเสรีภาพมากกว่าจีน

นอกจากนั้น มีสถานศึกษาคุณภาพดีในราคาที่จับต้องได้ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทางภูมิปัญญากับจิตวิญญาณทั้งด้านศิลปะและศาสนา

ประกอบกับความสะดวกสบายที่ได้จากวีซ่าแบบอีลิตการ์ด (elite card) ซึ่งแม้ต้องจ่ายแพงแต่ก็ทำให้สามารถอยู่อาศัยที่เมืองไทยในระยะยาวได้