ถอดรหัสแม่น้ำ 5 สาย สารพัดสูตร “บอนไซ” การเมือง

การเมืองหลังร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงผ่านการทำประชามติจากประชาชนอย่างฉลุยจากประชาชน เท่ากับว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้รับ “วีซ่า” ในการดำเนินภารกิจต่อไป

นั่นคือ การจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก จำนวน 10 ฉบับ ภายในระยะเวลา 240 วัน ตามมาตรา… ของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

แต่ที่ต้องโฟกัส คือ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่

1. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

2. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

3. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

4. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ 1 ในแม่น้ำ 5 สาย อย่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ตีโจทย์จากร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกงและปฏิรูป” ให้ได้คำตอบออกมาให้ตรงกับโจทย์มากที่สุด ด้วยเนื้อหาที่คนการเมืองสรุปตรงกันว่าเป็น “ยาแรง”

และ “บอนไซ” ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ

เริ่มจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ยกร่างโดย กกต. นั้น ได้รับฉายาว่า “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก”

มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน

และมีสาขาพรรคอย่างน้อยหนึ่งสาขาในแต่ละภูมิภาค ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ ไม่ต้องเซ็ตซีโร่

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้สาขาพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยคำนึงสัดส่วนของชายและหญิง

ส่วนเรื่องนโยบายหาเสียงของพรรค กกต. กำหนดแนวทางว่าจะต้องมาจากความเห็นที่ประชุมสาขาพรรค โดยต้องมีกรอบ 4 ด้าน คือ ที่มางบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ และความเสี่ยง และต้องส่งให้ กกต. ประกาศต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

หากพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามกรอบนี้ กกต. มีอำนาจในการสั่งยุติการใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียง และหากไม่ยอมยุติจะมีความผิดทางคดีอาญา ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองคิดนโยบายอย่างรอบคอบต่อการนำเสนอมากขึ้น มีการวิเคราะห์รอบด้าน

ถอดรหัสออกมาเท่ากับว่าเป็นการปิดช่องการใช้นโยบายแบบประชานิยม ไม่ให้พรรคการเมืองนำไปหาเสียงเหมือนเช่นในอดีตได้

ขณะที่ประเด็นการยุบพรรค ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยพรรคการเมือง “ฉบับ กกต.” ระบุไว้ว่า การยุบพรรคจะกระทำได้เฉพาะที่มีเหตุร้ายแรง คือ กระทำการล้มล้างหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รวมทั้งถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองใดไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็เป็นเหตุให้สิ้นสภาพได้เช่นกัน

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในสูตรของ “กกต.” กำหนดไว้ว่า เริ่มตั้งแต่การสมัครด้วยการเพิ่มเงินค่าสมัคร ทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต เพิ่มเป็น 10,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท กรณีผู้สมัครมีคะแนนเกินร้อยละ 5 จะคืนครึ่งหนึ่งคือ 5,000 บาท

ดังนั้น ผู้สมัครจะได้เงินคืนคือต้องได้คะแนนจำนวน 4-5 พันคะแนนขึ้นไป รวมทั้งจะเพิ่มช่องทางให้มีการรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต แก้ปัญหาที่มีการขัดขวางการเลือกตั้งเหมือนเช่นในอดีต

ขณะที่การปฏิรูปกลไกการหาเสียง จะกำหนดขนาด จำนวนป้ายหาเสียง สถานที่ติดป้าย โดยเบื้องต้นป้ายหาเสียงกำหนดขนาดไว้ 60 x 60 ซ.ม. ติดตั้ง 200 จุดต่อ 1 เขตเลือกตั้ง รวมทั้งประเทศ 7 หมื่นจุด น้อยกว่าจำนวนหน่วยออกเสียงเล็ก จะทำให้เป็นการเมืองต้นทุนต่ำ เพราะอาจจะลดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจาก 1.5 ล้านบาทเหลือ 5 แสนบาท

นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง ประมาณ 175 เขตขึ้นไป ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต้องดีเบตนโยบายของพรรคประมาณ 5-6 ครั้ง ผ่านสถานีโทรทัศน์ เพื่อป้องปรามนอมินีที่จะมานั่งเป็นนายกฯ

ส่วนการปฏิรูปการประกาศผลจะมี 4 อย่าง คือ

“ใบเหลือง” หรือการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่ไม่เชื่อมโยงผู้สมัคร หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ส่วนใบส้มที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ กรณีก่อนประกาศผล หากพบว่ามีการทำผิดโดยเชื่อมโยงกับผู้สมัคร กกต. สามารถนำบุคคลนั้นออกจากการเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเป็นเวลา 1 ปี

ส่วนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือ “ใบแดง” เป็นอำนาจของศาล

ส่วนใบดำหรือเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีพนั้น

โทษดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามโมเดลของ สปท. ที่จัดเป็นสูตร “ยาแรง” หรือแทบจะ “ล้างบาง” นักการเมืองก็เป็นได้

อย่างร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง “ฉบับ สปท.” เริ่มจากผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคต้องแสดงแบบการยื่นเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี

ตามมาด้วย บทลงโทษที่ “รุนแรง” และ “เด็ดขาด” อย่างในกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครคนใด รวมทั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือตัวแทน รับเงินที่มาจากการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนทางการเมืองรวมทั้งเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โดยไม่มีการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ และมีโทษปรับจำนวน 20 ล้านบาท พร้อมถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองรู้ถึงเหตุแห่งการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองหรือผู้ช่วยหาเสียงของพรรคการเมืองไปกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งประกาศ หรือคำสั่งของ กกต. แล้วเพิกเฉย ถือว่าหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดดังกล่าว ถือเป็นความผิด

มีโทษต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีสูตรของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … เพื่อส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หรือที่ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจกันคือ “กฎหมาย 3 ชั่วโคตร” คือ การห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ ครอบคลุมถึงพ่อ แม่ ลูก และคู่สมรสของลูก โดยมีบทลงโทษหากมีผู้กระทำความผิดจะถูกส่งให้ ป.ป.ช. ไต่สวน มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะสูตร “ยาแรง” และ “พิสดาร” กับนักการเมืองมากเพียงใด รวมทั้งกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ ครม. จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งไปที่การ “ปราบโกง” ยังต้องผ่านด่านสุดท้ายจาก “สนช.” เป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

หากเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับใดยังไม่เข้มข้นพอที่จะจัดการกับนักการเมืองหรือการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ในชั้นของ “สนช.” ก็ยังสามารถปรับแก้ไขให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายได้

หรือหากยังติดเงื่อนไขในหลายปัจจัยที่จะทำให้การจัดทำกฎหมายต้องสะดุด ก็ยังมี “ม.44” ของพี่ใหญ่อย่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแม็ป เพื่อให้ได้คำตอบสุดท้ายคือ “ไม่เสียของ”