ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
March of the Termite
สำรวจระบบชนชั้นทางสังคมและระบบนิเวศ
ด้วยศิลปะแบบปลวกๆ
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่ร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 กันอีกครา คราวนี้เป็นคิวของศิลปินผู้มีชื่อว่า ณัฐพล สวัสดี ศิลปินร่วมสมัย ผู้มุ่งเน้นในการสำรวจและวิพากษ์วิจารณ์บริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมถึงค่านิยมและความเชื่อส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมในยุคปัจจุบัน เขาทำงานกับสื่อที่หลากหลายทั้งภาพยนตร์ เสียง งานศิลปะจัดวาง และศิลปะการแสดง
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ณัฐพลนำเสนอผลงาน March of the Termite ผลงานวิดีโอจัดวางและประติมากรรมจัดวาง ที่ได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนของฝูงปลวก
โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าสังคมของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจ้อยอย่างปลวกนั้นมีความคล้ายคลึงกับสังคมมนุษย์ในบางแง่มุม จากผลการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมแมลง ที่ความอยู่รอดของฝูงนั้นมักจะขึ้นอยู่กับระบบชนชั้นวรรณะอันเข้มงวด
ณัฐพลสนใจในปลวกแรงงานและปลวกทหารตาบอด ซึ่งสื่อสารกันด้วยฟีโรโมนและการโขกหัวเป็นจังหวะในโพรง อีกทั้งปลวกเหล่านี้ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความทนทาน และมีความสามารถในการย่อยสลายซากพืชเศษไม้ในธรรมชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้เกิดการหมุนเวียนของแร่ธาตุในดินให้อุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ ณัฐพลบันทึกเสียงการโขกหัวที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณของปลวกที่ว่านี้ นำมาบรรเลงประกอบกับบทเพลง “มาร์ชกรรมกร” ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่อุทิศให้แก่แรงงานและชาวนาไทย
ภายในจอที่มีฉากคล้ายเวทีการแสดง ณัฐพลแต่งกายและตกแต่งใบหน้าและร่างกายคล้ายนักดนตรีแบล็กเมทัล ในลักษณะที่เรียกว่า Corpse paint (บวกกับการตกแต่งศีรษะและใบหน้าก็ทำให้ดูคล้ายกับมนุษย์ปลวกอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน!) รายล้อมด้วยเหล่าบริวารมนุษย์ปลวกร่างดำทะมึน เคลื่อนไหวร่างกายโยกหัวคล้ายกับปลวกกำลังโขกหัวไปตามจังหวะของบทเพลง มาร์ชกรรมกร
เพื่อชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อการกดขี่ผู้คนจากระบบชนชั้น และการด้อยค่าแรงงาน ที่ดำรงอยู่มาตลอดในสังคมไทยของเรา
“งานชุดนี้มีชื่อว่า ‘March of the Termite’ หรือในภาษาไทยว่า ‘มาร์ชปลวก’ ผมสนใจในตัวปลวก เพราะว่าบ้านของผมโดนปลวกกิน แล้วคนในบ้านก็จะบอกว่า ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงปลวกกำลังกินบ้าน ผมก็เลยสนใจว่าปลวกทำเสียงแบบไหน ก็เลยไปศึกษาปลวกในเชิงชีววิทยา ว่ามันมีพฤติกรรมแบบไหน มันทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร ก็ค้นเจอว่า เวลาปลวกสร้างเสียง มันจะใช้หัวโขกกับพื้นรังแรงๆ รัวๆ เพื่อให้เกิดเสียงเป็นเหมือนการสื่อสารในฝูง หลังจากนั้นผมก็ได้คุยถึงแนวคิดนี้กับคุณพอใจ อัครธนกุล ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 แต่ยังไม่มีโอกาสได้ผลิตงานขึ้นมา พอมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็นศิลปินในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ผมจึงหยิบเอาโครงการนี้กลับมาทำอีกครั้ง
ผมเริ่มต้นด้วยการบันทึกเสียงโขกหัวของปลวก เอามาทำเป็นเพลงมาร์ช เพราะผมมองว่า การสร้างเสียงของปลวกก็เหมือนการตีกลอง หรือการเดินสวนสนามของกองทหารในสงคราม โดยหยิบเอาเพลง มาร์ชกรรมกร ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาใช้เป็นทำนอง เพราะผมมองจากการที่ปลวกมีวรรณะในฝูง ทั้งราชินีปลวก ปลวกทหาร ปลวกแรงงาน ปลวกกรรมกรนั่นเอง”
“ผมยังสนใจว่าปลวกเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง เช่นเวลาที่บ้านเราถูกปลวกกิน เราจะรู้ว่าบ้านของเรากำลังจะถูกทำลายให้พังพินาศ แต่ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ชีววิทยา ผมพบว่ามีหลักฐานว่าปลวกนั้นมีชีวิตย้อนกลับไปถึงยุคต้นครีเตเชียส (Early Cretaceous) ที่มีการค้นพบซากของปลวกในอำพันจากเมื่อ 130 ล้านปีก่อน
หรือในแง่มุมทางสังคมวิทยา ผมค้นเจอว่า หนึ่งในซูเราะฮ์ หรือบทในคัมภีร์อัลกุรอาน มีเรื่องราวเกี่ยวกับปลวกที่กินไม้เท้าของนบีสุไลมาน ซึ่งบทนี้พูดถึงการที่ นบีสุไลมานยืนสั่งการให้เหล่าบรรดา ญิน (ภูตผี ปีศาจ) มาทำงานสร้างวิหารโซโลมอน จนวันหนึ่ง นบีสุไลมานเกิดเสียชีวิตลง แต่ไม้เท้ายังค้ำยันร่างกายให้ยังคงยืนอยู่ ทำให้พวกญินไม่รู้และยังคงทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนเมื่อปลวกค่อยๆ กินไม้เท้าของนบีสุไลมานจนไม้เท้าหัก นบีสุไลมานจึงล้มลง พวกญินจึงรู้ตัวและหนีหายไป ผมสนใจนัยยะของเรื่องราวนี้ที่ปลวกเป็นสิ่งที่ทำให้ความจริงบางอย่างถูกเปิดเผยออกมา
ในแง่มุมทางการเมือง ผมมองว่าปลวกเปรียบเสมือนนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ผมมองว่าคนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับปลวกที่ค่อยๆ กัดเซาะบ่อนทำลายโครงสร้างหรือระบบอำนาจในสังคม” (แต่ในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจในสังคมเองก็มองประชาชนเป็นเพียงมดปลวกเช่นเดียวกัน)
“อีกอย่าง วิธีการที่ปลวกเอาหัวโขกพื้น ในภาษาอังกฤษนั้นเรียกว่า Head Bang หรือ Head banging เช่นเดียวกับการเต้นโยกหัวในดนตรีแนวเมทัล ผมจึงอยากทำให้งานชุดนี้เป็นเหมือนกึ่งมิวสิกวิดีโอ อยากให้โครงสร้างของงานตั้งอยู่บนงานดนตรี เป็นมิวสิกวิดีโอที่นำเสนอภาพการเคลื่อนไหวของ ผมที่โยกหัวเหมือนปลวกประกอบเพลงมาร์ชกรรมกร ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ผมศึกษามาจากพฤติกรรมของปลวกเวลาที่มันโขกหัวอยู่ในรังจริงๆ
ผมยังเอาเสียงโขกหัวของปลวกที่บันทึกมาดัดแปลงให้เข้ากับท่วงทำนองของเพลงมาร์ชกรรมกร แต่ไม่มีเสียงร้องของมนุษย์ มีแต่เสียงเคาะหัวของปลวกในรัง ส่วนเนื้อร้องของเพลงจะปรากฏในคำบรรยายในวิดีโอแทน”
นอกจากผลงานวิดีโอจัดวางแล้ว ในพื้นที่แสดงงานใกล้ๆ กัน ยังมีผลงานของณัฐพลอีกชิ้น ในรูปของประติมากรรมจัดวางรูปจอมปลวกขนาดใหญ่ คล้ายเนินดินขนาดย่อม วางตั้งอยู่อย่างผิดที่ผิดทางในหอศิลป์ผนังขาวสะอาดตา ดูแปลกตาอย่างน่าประหลาด
“ประติมากรรมจอมปลวกที่ว่านี้ได้แรงบันดาลใจจากจอมปลวกที่อยู่ในฉากตอนที่ผมถ่ายวิดีโอประติมากรรมจอมปลวกนี้ ผมยังใส่ลำโพงเอาไว้ในประติมากรรมจอมปลวก เพื่อทำให้จอมปลวกที่ว่านี้มีเสียง เมื่อผู้ชมเงี่ยหูฟังเสียงจากจอมปลวก ก็จะได้ยินเสียงแกรกๆ เหมือนมีปลวกอยู่ข้างในนั้นจริงๆ
ประติมากรรมจอมปลวกนี้ผมสร้างขึ้นมาจากการศึกษาในเชิงชีววิทยาว่า เวลาปลวกสร้างรัง มันทำได้อย่างไร ผมพบว่า เวลาปลวกทำรังมันจะใช้เอนไซม์ต่างๆ จากการย่อยสลายซากพืชเศษไม้ในการยึดเกาะดิน ไม่ใช่แค่เอาดินมาโปะๆ กัน ในวิทยาศาสตร์การก่อสร้าง ก็มีการเลียนแบบเอนไซม์ของปลวกมาใช้ในการก่อสร้างอาคารด้วย ผมก็นำวิธีการแบบเดียวกันนี้มาใช้ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการทดลองกัน แต่พยายามใช้เคมีมาช่วยในการยึดตัวของดิน ซึ่งจะมีการพัฒนาเพื่อไปนำใช้ในงานศิลปะโครงการต่อไปหลังจากงานชุดนี้
ที่สำคัญ การทำผลงานชิ้นนี้ ผมไม่ทำให้จอมปลวกเสียหายเลยแม้แต่น้อย เพราะผมไม่อยากฆ่าปลวก หรือแม้แต่กระบวนการบันทึกเสียงเองก็ไม่ได้มาจากการบันทึกเสียงที่จอมปลวก เพราะผมอยากได้เสียงแบบเดี่ยวๆ ผมเลยต้องบันทึกเสียงจากปลวกที่กำลังกินประตูไม้ที่บ้านของผมอยู่”
ถึงแม้ผลงานชิ้นนี้จะเปรียบเทียบปลวกกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้พยายามทำลายโครงสร้างระบบอำนาจกดทับในสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ปลวกก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่กัดกินบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเรา ไม่ต่างอะไรกับศัตรูของมนุษย์อย่างเราเช่นเดียวกัน
“ในมุมมองแบบ Post-apocalyptic (ยุคหลังจากการสิ้นโลก) ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เราอาจจะเป็นผู้รุกรานธรรมชาติ ตอนนี้เราอาจจะมองว่าปลวกเป็นผู้รุกราน ในฐานะเราซื้อบ้านหลังหนึ่งขึ้นมาแล้วโดนปลวกกิน แต่ตามหลักชีววิทยาศาสตร์อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม มนุษย์เองก็เป็นปัญหาต่อโลก ทั้งการสร้างมลภาวะ ฝุ่น pm 2.5 สภาวะโลกร้อน ในประวัติศาสตร์โลก ปลวกมีชีวิตมาก่อนมนุษย์เราด้วยซ้ำ มนุษย์เราเพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงปลายประวัติศาสตร์ของโลกที่กำลังดำเนินอยู่เท่านั้นเอง”
“ผมมองว่าหลังจากที่มนุษย์สูญพันธุ์ไปหมดในยุคสิ้นโลก ปลวกอาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่หลังจากมนุษย์ ผู้คอยย่อยสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ”
ณัฐพลยังกล่าวถึงแนวคิดของงานชุดนี้ ที่เชื่อมโยงกับธีมหลักของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 อย่าง รักษา กายา (Nurture Gaia) ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในตำนานเทพปรณัมกรีกว่า
“ถ้าเรามองว่าจอมปลวกนั้นเกิดจากดิน ปลวกเองก็อาจนับได้ว่าเป็นลูกของพระแม่ธรณีได้ด้วยเหมือนกัน และจากการค้นคว้า ผมยังพบว่าปลวกยังมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ที่การระบาดของปลวกในยุโรปเป็นครั้งแรก เกิดจากการล่าอาณานิคมและเหตุการณ์สังหารหมู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในนามิเบีย โดยมีการขนส่งไม้จากแอฟริกากลับมายังยุโรป นั่นหมายความว่า การที่คนในยุโรปเดือดร้อนจากการที่ปลวกกัดกินบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจนพังพินาศเสียหาย ก็เป็นผลพวกจากการล่าอาณานิคมของตนเองนั่นเอง”
ผลงาน March of the Termite ของ ณัฐพล สวัสดี จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ณ พื้นที่แสดงงาน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 10:00-20:00 น. ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพจาก BACC •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022