ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
เมื่อทรัมป์ 2.0
แสดงถึงการทะยานขึ้น
ของฝ่ายขวาทั่วโลก
คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2
นโยบายอเมริกามาก่อน (America First) การดำเนินการสร้างอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again-MAGA) 2 กรอบใหญ่นี้ย่อมสั่นสะเทือนไปหลายภูมิภาค ในหลายประเด็นทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม
จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แน่นอนมีการวิเคราะห์ ตีความต่างๆ นานาต่อทรัมป์ 2.0
ส่วนผมไม่ปฏิเสธความสามารถส่วนตัว บุคลิกและนิสัยของทรัมป์ เช่นกันผมไม่ปฏิเสธความมั่งคั่งมหาศาลของเขา อีกทั้งไม่ควรลืมว่า ทรัมป์เป็นผู้นำกองทัพที่ทรงอำนาจทางทหาร อาวุธและเทคโนโลยี อันแสดงถึงพลังอำนาจ ที่สมัยนี้เรียกรวมๆ ว่า ผู้ทรงอิทธิพล
อย่างไรก็ตาม ผมพอใจใช้กรอบวิเคราะห์บริบท (context) เป็นกรอบวิเคราะห์ทรัมป์และอำนาจของเขา
โดยลองนำเสนอว่า แท้จริงแล้ว ทรัมป์เป็นแกนหลักพลังฝ่ายขวา (Right) ซึ่งพลังนี้ทะยานขึ้น ทรงอำนาจพร้อมๆ กัน และมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก
พลังฝ่ายขวาคำรามกลับ
พฤศจิกายน 2024 ทรัมป์ทำท่ากลับมาอีกครั้ง เขาได้คะแนนนิยมจากการสำรวจ เขาเอาชนะ กมลา แฮร์ริส ผู้มาแทนโจ ไบเดน ในฐานะตัวแทนผู้ชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต
ในระดับโลกมีข้อมูลชี้ว่า ยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกามีการทะยานขึ้นของฝ่ายขวา ที่ได้ 55.7% ของคะแนนเสียง เทียบกับฝ่ายซ้ายได้ 42.3%
The Telegraph สื่ออังกฤษระบุ มีช่องว่างของการออกเสียงเลือกตั้งชัดเจนนับตั้งแต่ปี 1990 แสดงว่า พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายไม่เป็นที่นิยมทั่วโลกนับตั้งแต่ยุคสิ้นสุดสงครามเย็น1
ข้อสังเกต มีเพียงอังกฤษที่เป็น 1 ในน้อยประเทศที่ต่อต้านทิศทางนี้ พรรคแรงงานยังได้ชัยชนะถล่มทลาย โดยการปฏิรูปของ นิเกล ฟารัง (Nigel Farage) ได้ชนะการออกเสียงเลือกตั้งถึง 4 ล้านเสียง และเขายังรักษาที่นั่งผู้นำในรัฐสภาอังกฤษได้
ทิศทางกระแสขวาทะยานยังเห็นต่อไป
ตัวเลขผลคะแนนเลือกตั้งของฝ่ายขวาชนะฝ่ายซ้ายทั่วโลกเรื่อยมายังไม่พอ พฤติกรรมนักการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลกช่วยยืนยันตัวเลขข้างต้น
บราซิล เจร์ โบลโซนาโล (Jair Bolsonaro) ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีปี 2019 ปีเดียวกับทรัมป์ เขาเป็นพวกคัดค้านประชานิยม แล้วยังกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
เอลซัลวาดอร์ เนยิบ บูเกเล (Nayib Bukele) นักธุรกิจที่ผันตัวเป็นนักการเมือง กลายเป็นประธานาธิบดีหลังจากรณรงค์ประเทศตามแนว ‘สร้างอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง’ เขาได้รับเครดิตที่นำประเทศกลับสู่เสถียรภาพ แต่ก็ได้ชื่อ นักฆ่าระดับประเทศ เขาสั่งขังประชาชนหลายแสนคน ที่วิจารณ์การบริหารประเทศของเขา
อิตาลี เมื่อรัฐบาลนิยมซ้ายล้มลงปี 2021 มัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Salvini) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอิตาลี โดยเขาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอิตาลี แล้วอิตาลีก็ตกอยู่ในโลกยุคเก่า ด้วยการขับเคลื่อนประเทศต่อต้านการอพยพย้ายถิ่น แบบเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์
โปแลนด์ นักการเมืองชาตินิยมชนะการเลือกตั้ง ช่วยให้พวกเขาเข้มแข็ง ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งปี 2019 พวกเขาได้ต้อนรับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มากรุงวอร์ซอ ทรัมป์เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้กล่าวปราศรัยใหญ่ในยุโรป แล้วได้รับความนิยมและเสียงเชียร์ในการปราศรัยครั้งนั้นมาก
ฮังการี วิกเตอร์ ออร์แบน (Viktor Orban) นักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวา ผู้ถูกเรียกขานว่า ‘ทรัมป์แห่งฮังการี’ ตอนนี้เป็นที่รักของฝ่ายอนุรักษนิยมอเมริกัน เขาชนะเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในฮังการี
แคนาดา มกราคม 2025 จัสติน ทรูโด (Justine Trudeau) หลั่งน้ำตายอมลาออกจากประธานาธิบดีแคนาดา ปีแอร์ พวงลิเอล์ (Pierre Poilievre) นักการเมืองฝ่ายขวาที่หนุนโดยอภิมหาเศรษฐีอเมริกันและเป็นเพื่อนของทรัมป์ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้รับความนิยมแทนประธานาธิบดี
แล้วฝ่ายขวาก็กำลังได้รับความนิยมนำรัฐบาลนิยมซ้ายของออสเตรเลีย
ฟิลิปปินส์ โรดริโก้ ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2016 ได้ออกกฎหมายโหดร้ายและสั่งจับกุมผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของตน เขาถูกกล่าวหาว่า ได้สั่งฆ่าตัดตอนนักการเมืองชาตินิยมเชื้อสายฮินดู แล้วเขากลับชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีปี 2019 อย่างถล่มทลาย
ไม่ใช่แค่บุคลิกทำให้ผู้นำฝ่ายขวาทะยานขึ้นสู่อำนาจตามกัน บริบทการเมืองยังได้เกื้อหนุนอีกด้วย
บริบท การฟื้นตัวของฝ่ายขวา
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางต่างประเทศครั้งแรกมิถุนายน 2021 และได้ไปประชุม G 7 เขาบอกแก่ผู้นำเหล่านั้นว่า ต่อไปนี้ไม่มีการคุกคามโดยใช้อัตราภาษี สหรัฐอเมริกาไม่วิจารณ์การพลาดเป้างบประมาณด้านความมั่นคงของ NATO แล้วสหรัฐอเมริกาจะไม่เข้มงวดและเร่งรัดกฎระเบียบต่างๆ ที่ได้ก่อรูปเป็นระเบียบระหว่างประเทศนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้งหมดนี้คือ การผ่อนคลายและกลับสู่สภาพปกติหลังความวุ่นวายและโลกอยู่ภายใต้สภาพการคาดการณ์ไม่ได้หลายปีในยุคทรัมป์สมัยที่ 1
อย่างไรก็ตาม ไบเดนเองไม่ได้เริ่มต้นยุคสมัยแห่งความสงบอีกครั้งเลย
รูปธรรมคือ การถอนตัวเชิงสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาออกจากอัฟกานิสถาน หลังจากนั้น กุมภาพันธ์ 2022 วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียก็รุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมาย
นั่นหมายความว่า ยุคสมัยแห่งบุรุษเหล็ก (Strong man) ไม่ได้หายไปจากโลกชัดเจน
นี่คือบริบทอันเป็นที่มาให้ผู้นำฝ่ายขวาในชาติต่างๆ ชนะการเลือกตั้ง
ทรัมป์ 2.0 กับกระแสทะยานขึ้น
ของฝ่ายขวาทั่วโลก
ย้อนกลับไปผู้นำฝ่ายขวาได้รับความนิยมอย่างล้นหลานและชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย พวกเขาต่อต้านนโยบายประชานิยม ต่อต้านการอพยพย้ายถิ่น ต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ต่อต้านศาสนาอื่นที่ไม่ใช่คริสต์
พวกเขายืนหยัดเสรีนิยม (Liberalism) กระแสหลัก แล้วประเทศของพวกเขาก็ปล่อยและยินยอมต่อระบอบอำนาจนิยม
ดูเหมือนประชาชนผู้สนับสนุนผู้นำล้วนเชื่อในแนวคิดบุรุษเหล็ก ผู้นำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ต่อต้านคณาธิปไตย (Oligarchy) หรือแม้แต่ผู้นำผู้ฉ้อฉล
ที่สำคัญ ไม่ประหลาดใจที่หลายประเทศเรียกขานผู้นำของตนว่า ทรัมป์ เช่น ทรัมป์แห่งดัตช์ ทรัมป์แห่งฮังการี ทรัมป์ของเบลเยียม เป็นต้น
พวกเขาเลียนแบบทรัมป์แม้ทรงผมสีบลอนด์ หมายความว่า ทรัมป์คือต้นแบบแห่งฝ่ายขวา ได้หรือไม่
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ จุดประกายความหวัง แนวคิด สร้างอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แนวคิดนี้ของทรัมป์สามารถสร้างเครือข่ายนานาชาติของ ‘เหล่าตัวแทน’ (proxies) ใช้อำนาจลูกคู่หุ่นเชิด ที่พูดเลียนเสียงทรัมป์
ย้อนกลับมาดูที่พิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ นี่เองที่แห่กันทะยานขึ้นของฝ่ายขวา แล้วพากันไปร่วมงานพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 45 และที่ 47 จนกองกำลังของทรัมป์รู้สึกว่า
อนาคตการเป็นเจ้าของเหล่าผู้นำที่หน้าสลอนในพิธีสาบานตนของทรัมป์ 2.0 หรือเปล่า
1อ้างจาก James Crisp, “Rise of the Right, Milei, Meloni, Trumps, Musk, Farage-its our world now,” The Telegraph, 17 January 2025
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022