ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
ปณิธานปีใหม่ 2568
ทำอย่างไรให้สำเร็จ
ปณิธานปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution ยอดฮิตที่ติดอันดับต้นๆ ทุกปี ไม่ว่าของคนชาติไหน ก็คือ ใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น ออกกำลังกาย กินอาหารให้มีประโยชน์ เพื่อลดน้ำหนัก
แต่คนส่วนใหญ่ทำได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ถอดใจ หันมากินตามใจปาก เลิกออกกำลังกายเหมือนเคย
จากการสำรวจของสถานพยาบาลชื่อ เชสซาพีก เฮลธ์ แคร์ (Chesapeake Health Care) พบว่าวันศุกร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันที่หลายคนล้มเลิกปณิธานปีใหม่ หรือที่เรียกว่า Quitter’s Day
ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568
การสำรวจในปี 2023 โดย Forbes Health พบว่าคนส่วนใหญ่มักจะล้มเลิกความตั้งใจในการทำปณิธานปีใหม่ หลังจากผ่านปีใหม่ไปได้สี่เดือน
มีคน 8% ที่บอกว่าปณิธานของพวกเขาอยู่ได้แค่หนึ่งเดือน
21.9% อยู่ได้แค่สองเดือน
22.2% อยู่ได้แค่สามเดือน
13.1% บอกว่าปณิธานของพวกเขายังคงอยู่ได้สี่เดือน
มีเพียง 1% เท่านั้นที่บอกว่าอยู่ได้ 11 หรือ 12 เดือน
จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเกือบ 50% ของชาวอเมริกันตั้งปณิธานปีใหม่ แต่มีเพียงประมาณ 25% ของคนที่ยังมุ่งมั่นกับปณิธานปีใหม่ หลังจากผ่านไปได้ 30 วัน
ไม่ถึง 10% ที่ทำปณิธานปีใหม่ได้สำเร็จทั้งปี ตามที่ตั้งเป้าหมาย
ทําไมคนมักทำปณิธานปีใหม่ไม่สำเร็จ?
จัสติน เฮล (Justin Hale) ที่ปรึกษาและนักพูดในบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ Crucial Learning บอกว่าปณิธานปีใหม่มักจะล้มเหลวเพราะคนไม่เคยเปลี่ยนปณิธานปีใหม่ให้เป็นนิสัย
จัสตินบอกว่า งานวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่า 40% ของสิ่งที่เราทำนั้นเป็นนิสัย
นิสัยคือสิ่งที่เราทำโดยไม่ต้องคิด เราทำสิ่งนั้นจนเป็นกิจวัตรเป็นความเคยชิน เกือบจะเป็นโดยอัตโนมัติ
ปัญหาคือเมื่อคนต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นในปีใหม่ มักจะไม่มุ่งเน้นในการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนเป็นนิสัยคืออะไร และแผนที่พวกเขาจะสร้างขึ้นเพื่อทำให้สิ่งนั้นเป็นนิสัยคืออะไร
จัสตินบอกว่าคนจำนวนไม่น้อยตั้งปณิธานปีใหม่เยอะเกินไป และไม่เฉพาะเจาะจง
ดังนั้น ควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
เช่น ในปี 2568 จะวิ่ง 30 นาทีทุกวัน ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้จริง
ควรตั้งเป้าหมายโดยดูศักยภาพของตัวเอง เพื่อเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อทำไม่ได้ก็จะรู้สึกผิดหวังกับตัวเองและล้มเลิกความตั้งใจ
เคล็ดลับในการทำให้ปฏิธานปีใหม่ที่ตั้งไว้ประสบความสำเร็จมีดังนี้
1. อย่าตั้งปฏิธานปีใหม่หลายอย่างพร้อมกันทีเดียว ควรจะตั้งเป้าที่จะทำให้สำเร็จเป็นอย่างๆ
เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากตั้งเป้าไว้ว่าจะออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น ก็ควรจะเริ่มด้วยการออกกำลังกายสัปดาห์ละสามหรือสี่วัน ไม่ใช่ออกกำลังกายเจ็ดวันต่อสัปดาห์ เพราะว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
2. ประกาศให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงทราบ หากท้ออยากล้มเลิกความตั้งใจ จะได้มีคนคอยให้กำลังใจให้เราฮึดสู้ต่อ
นอกจากนี้ การประกาศให้คนอื่นทราบ ก็จะเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
3. ให้รางวัลกับตัวเอง หากเริ่มเห็นผลแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ เช่น ถ้าลดน้ำหนักได้ตามเป้า ก็ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการไปซื้อชุดใหม่ที่ขนาดเล็กลง ไม่ใช่ฉลองด้วยการกินขนม
4. ไม่ท้อแท้ ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าจะต้องมีวันหนึ่งที่เกิดอารมณ์อยากล้มเลิกความตั้งใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น อย่าผิดหวังในตัวเองและถอดใจเลิกทำไปเลย แต่ให้หยุดพักสักหนึ่งสัปดาห์ เพื่อสงบจิตสงบใจ แล้วค่อยกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
หากปณิธานปีใหม่ที่ตั้งไว้ในเดือนมกราคม ดูทรงแล้วว่าคงทำไม่สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงปีใหม่ปีหน้าเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง
เดือนกุมภาพันธ์ ก็สามารถตั้งเป้าหมายใหม่ที่คิดว่าตัวเองมีโอกาสมากกว่าที่จะทำสำเร็จ
อย่าให้ปฏิทินเป็นตัวกำหนดในการตั้งปณิธานปีใหม่
การเปลี่ยนแปลงนิสัยเพื่อพัฒนาตัวเองสามารถเริ่มต้นได้ทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นเดือนมกราคม 2568 หรือธันวาคม 2568
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022