สุรชาติ บำรุงสุข : สืบทอดอำนาจ 2561 เลื่อนก็แพ้ ยิ่งเลื่อนยิ่งแพ้!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผู้ที่ยอมแลกเสรีภาพกับความมั่นคงเพียงชั่วคราวนั้น เขาจะไม่ได้ทั้งเสรีภาพและความมั่นคงเลย”

เบนจามิน แฟรงกลิน

ในที่สุดก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า รัฐบาลทหารตัดสินใจที่จะเลื่อนกำหนดเวลาการเลือกตั้งออกไป จากที่เคยได้ประกาศไว้ในแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

ท่าทีที่จะเลื่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกินจากความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นที่รับรู้กันอยู่โดยทั่วไปเสมอว่ารัฐบาล คสช. ต้องการจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

กำหนดการเลือกตั้งที่ประกาศในเวทีสาธารณะจึงไม่ใช่คำมั่นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น

แต่เป็นเพียงการประกาศเพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ ที่มีเสียงเรียกร้องเสมอมาให้การเมืองไทยกลับสู่ “ภาวะปกติ” ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น รัฐบาลทหารต้องการสืบทอดอำนาจ

ในความต้องการที่คงอำนาจรัฐบาลทหารไว้อย่างยาวนานเช่นนี้ คำสัญญาที่โตเกียว… คำสัญญาที่นิวยอร์ก… คำสัญญาที่วอชิงตัน จึงเป็นดังอาการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ของผู้นำรัฐบาลไทย

และด้วยการขาดความตระหนักรู้ ผู้นำรัฐบาลไทยที่เป็นทหารจึงไม่ละเอียดอ่อนกับผลกระทบที่จะเกิดกับภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีการเมืองโลกว่า การบิดพลิ้วคำสัญญาในเวทีต่างประเทศเรื่อยไป โดยไม่มีความใคร่ครวญที่ดีเพียงพอ ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือความไม่แน่นอน… ความไร้เสถียรภาพ… ความผันผวน

ภาพเช่นนี้ทำให้สถานะของประเทศไทยตกต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ

ปลายทางรัฐบาลทหาร

ว่าที่จริง ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในการเมืองไทยที่รัฐบาล คสช. พยายามทุกอย่างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน และขณะเดียวกันก็เตรียมการที่จะ “สืบทอดอำนาจ” อย่างชัดเจนนั้น เป็นสัญญาณบอกเหตุถึงช่วงระยะเวลาที่เป็น “ปลายทาง” ของรัฐบาลทหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลทหารดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศเท่าที่ได้โฆษณาไว้

เพราะรัฐบาลทหารที่ไร้ความชอบธรรมทางการเมืองนั้น มักจะต้องสร้างภาพและวาทกรรมด้วยการโหมโฆษณาทางการเมืองเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสนับสนุนเป็นเครื่องมือหลัก

ซึ่งการโฆษณาอย่างหนักของรัฐบาลทหาร จึงมักกลายเป็น “ดาบสองคม” อันเนื่องจากรัฐบาลทหารในความเป็นจริงไม่ได้มีขีดความสามารถทางการเมืองและเศรษฐกิจมากมายจนเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิด “ปาฏิหาริย์” ได้

หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลทหารไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิด “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” (Economic Miracle) ให้แก่ประเทศได้เลย

ดังนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากทฤษฎีหรือปฏิบัติของการเมืองกับระยะเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วงระยะเวลาที่ “วิกฤต” กับระบบการปกครองของทหารนั้นก็คือช่วงปลายทางก่อนที่การเมืองของประเทศจะเดินไปสู่การเลือกตั้ง

ในช่วงระยะเวลาที่เป็นดัง “รอยต่อ” ทางการเมืองเช่นนี้ ในด้านหนึ่งระบบทหารจึงเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกือบทุกกรณีทั่วโลกจะพบว่าในช่วงปลายทางนั้น ระบบทหารมีอาการ “อ่อนแรง”

และขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองอื่นๆ ทั้งจากพรรคการเมืองหรือจากภาคประชาสังคมเองก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ฉะนั้น ในช่วงปลายทางเช่นนี้จึงตามมาด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการต่อต้านทหารของกลุ่มต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ช่วงปลายทางก่อนที่ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเกิดขึ้นมักมีความ “ซับซ้อน” เกิดขึ้น

เนื่องจากกลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มเปิดการเคลื่อนไหวด้วยความรับรู้ว่าการคงอยู่ของรัฐบาลทหารแบบเดิมนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป

ในสภาวะเช่นนี้ ทักษะทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลทหารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

เพราะในด้านหนึ่งเขาจะต้องสามารถบริหารจัดการสถานการณ์การเมืองที่กำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนผ่าน และหากบริหารจัดการได้ไม่ดีพอแล้ว

แรงกดดันทางการเมืองอาจจะกลายเป็น “วิกฤต” จนทำให้อายุของรัฐบาลทหารอาจจบลงอย่างรวดเร็วได้ง่ายๆ

แต่ถ้าผู้นำทหารมีทักษะพอที่จะประคับประคองสถานการณ์เพื่อเดินไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้จริง โดยไม่ประสบกับวิกฤต ก็อาจจะต้องมีการ “พูดคุย” กับฝ่ายต่างๆ มากขึ้น

และเปิดช่องทางให้เกิดการประนีประนอมในบางประเด็น อันจะเป็นดังการค่อยๆ “เปิดวาล์ว” ให้แรงกดดันบางส่วนได้ระบายออกไป

ซึ่งในบริบทเช่นนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านมีความเห็นร่วมกันที่จะเดินไปสู่การเตรียมการเลือกตั้งในอนาคต และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันว่ารัฐบาลทหารจะไม่ถูกล้มลง

สิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นก็เพื่อบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่เปราะบางสำหรับรัฐบาลทหาร แม้รัฐบาลอาจจะยังมีอำนาจทางทหาร แต่ก็ต้องตระหนักว่าในช่วงปลายทางนั้น อำนาจดังกล่าวถูกท้าทายและไม่ได้มีพลังมากเช่นในช่วงต้นของการรัฐประหาร

ขณะเดียวกันกับที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เปิดการเคลื่อนไหว ก็มีเสียงเรียกร้องที่มากขึ้น

ฉะนั้น จึงมักเห็นได้ชัดเจนจากตัวแบบในหลายๆ กรณีว่าในช่วงปลายของรัฐบาลทหารนั้น แรงกดดันหันกลับไปสู่รัฐบาลทหารมากกว่าที่พวกเขาคิด

และยิ่งหากรัฐบาลดังกล่าวมีอาการอยู่ในช่วง “ขาลง” อันเป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จในนโยบายที่จะเกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใดแล้ว

แรงกดดันในช่วงขาลงก็ดูจะถาโถมรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บ่วงรัดคอ!

รัฐบาลทหารทั่วโลกมีความเชื่อคล้ายคลึงกันว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะยังเป็นโอกาสของการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง

ความเชื่อเช่นนี้มาจากความพยายามในการสร้างกฎกติกาต่างๆ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารและจบลงด้วยชัยชนะ

และผู้นำทหารก็กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลโดยมีการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบไว้เป็นเครื่องมือรองรับให้เกิดความชอบธรรม

ดังนั้น กระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงทำให้การเปลี่ยนผ่านมีลักษณะเป็น “การเลือกตั้งที่ปราศจากประชาธิปไตย” (Election without Democracy) เช่นที่พบในบางประเทศ

และการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะดำเนินการในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ตลอดรวมถึงการกำหนดขั้นตอนและมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้เป็นโทษแก่กลุ่มการเมืองอื่นๆ

และขณะเดียวกันก็เป็นคุณโดยตรงแก่ฝ่ายสนับสนุนทหาร

การดำเนินการในลักษณะของการ “เอาเปรียบทางการเมือง” เช่นนี้ เป็นหลักประกันโดยตรงที่จะทำให้รัฐบาลทหารสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ และไม่เป็นผู้แพ้ในการเลือกตั้ง

รัฐบาลทหารไทยในช่วงปลายทางก็ดูจะไม่แตกต่างไปจากปรากฏการณ์ที่กล่าวในข้างต้น

มีการออกแบบกฎกติกาจนสามารถกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนผ่านที่จะมาถึงในอนาคตจะเป็น “การเลือกตั้งที่ปราศจากประชาธิปไตย” อันจะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้นำทหารสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้

แม้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นานนักการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพม่าจะเป็นสัญญาณเตือนว่า การควบคุมที่เข้มแข็งของกองทัพจะมีมากเพียงใดก็อาจพ่ายแพ้ต่อบัตรลงเสียงของประชาชนได้ไม่ยากนัก…

บทเรียนจากพม่าเป็นของเตือนใจถึง “พลังประชาชน” เสมอ

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำรัฐบาลทหารก็ดูจะตระหนักว่ารัฐบาลต้องรับมือกับวิกฤตในรูปแบบต่างๆ ที่รุมเร้าไม่หยุด

ในเบื้องต้นนั้น รัฐบาลทหารเผชิญกับ “วิกฤตความชอบธรรม” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประกอบกับการบริหารเศรษฐกิจหลังรัฐประหารได้กลายเป็น “วิกฤตกำลังซื้อ” เพราะแม้จะมีตัวเลขของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผู้คนในระดับกลางและในระดับล่างกลับไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

อีกทั้งผลจากกรณีนาฬิกาหรูของผู้นำทหารได้กลายเป็น “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” ที่สังคมมีต่อรัฐบาลทหาร

และยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลจากการมีรัฐบาลทหาร เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างของรัฐบาลไทย เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ก่อตัวรุนแรงขึ้นจนเป็น “วิกฤตความเชื่อมั่น” ต่อรัฐบาลทหารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่รุมเร้าเช่นนี้ ได้มีความชัดเจนแล้วว่า กำหนดการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเลื่อนออกไป

ดังที่ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า “การเลือกตั้งอาจจะเลื่อนไปต้นปีหรือปลายปี 2562…”

รัฐบาลอาจจะไม่คำนึงว่าการประกาศเช่นนี้เท่ากับบอกว่าคำสัญญาครั้งที่ 3 ของผู้นำรัฐบาลทหารที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 นั้น ได้กลายเป็น “คำพูดเท็จ” ที่หาสาระไม่ได้

และขณะเดียวกันก็ไม่ตระหนักว่าการผิดคำสัญญาถึง 3 ครั้งในเวทีระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องเล็ก

เพราะคำประกาศที่เป็นดัง “พันธสัญญา” ทางการเมืองนั้นย่อมมีผลผูกพันต่อสถานะของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งการใช้กลไกในการเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนแต่เป็นองค์กรที่ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหารทั้งสิ้น

อีกทั้งก็เป็นที่รับรู้กันว่า การตัดสินใจขององค์กรทั้งสองในเรื่องที่สำคัญๆ นั้น จะต้องมีทิศทางมาจากคณะรัฐประหารหรือมาจากผู้นำรัฐบาลทหารอย่างแน่นอน

เพราะองค์กรดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในภาวะปกติและมีความเป็นอิสระของตนเอง

หากแต่มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือและกลไกในการดำเนินการทางการเมืองของคณะรัฐประหาร

การถอยทางยุทธศาสตร์

การประกาศถึงการเลื่อนการเลือกตั้งจึงน่าจะทำให้วิกฤตต่างๆ ที่กำลังเกิดแก่รัฐบาลทหารมีความเข้มข้นมากขึ้น

และยิ่งประกาศให้พรรคการเมืองใหม่เปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ก่อนพรรคการเมืองเก่าแล้ว วิกฤตที่รุมเร้าก็จะยิ่งรุมเร้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์ของคณะรัฐประหารในปี 2561 จึงเป็นการเผชิญหน้ากับสัจธรรมในการยึดอำนาจว่า รัฐบาลทหารกำลังอยู่ในภาวะของการถดถอยทางยุทธศาสตร์

การถดถอยเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดจากกลุ่มที่เคยมีบทบาทในการสนับสนุนรัฐประหารก็ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาล

รัฐบาลทหารในปี 2561 จึงอยู่ในภาวะ “หมดกองหนุน-ไร้แนวร่วม” มากขึ้น และแม้จะยังคงมีกลุ่มกองเชียร์ที่ออกเสียงสนับสนุนรัฐบาลทหารไม่เลิก

แต่ก็เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่ผ่านมา เสียงเช่นนี้ก็ดูจะลดลง…

วันนี้เสียงเชียร์ไม่เหมือนวันก่อนแล้ว และในความเป็นจริง อำนาจของการควบคุมสังคมการเมืองด้วยปืนก็อ่อนแรงลงอย่างมากแล้ว

ฉะนั้น ในสภาวะที่คณะรัฐประหารกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย

การตัดสินใจยืดระยะเวลาการเลือกตั้งด้วยข้อแก้ตัวว่า “การขยับระยะเวลาไปทำให้พรรคใหญ่และพรรคเล็กมีเวลาหายใจในการเตรียมการหลายๆ เรื่อง” (คำสัมภาษณ์ของนายอุดม รัฐอมฤต)

ข้อแก้ตัวเช่นนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสร้าง “เกมกฎหมาย” เพื่อสร้างอำนาจควบคุมการเลือกตั้ง เพราะหากรัฐบาลทหารต้องการให้พรรคใหญ่และพรรคเล็กมี “เวลาหายใจ” มากขึ้น (ตามคำกล่าวของโฆษก กรธ.) ก็สามารถ “ปลดล็อก” พรรคการเมืองได้ตามเงื่อนเวลาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลทหารก็เลือกที่จะไม่ทำ

ดังนั้น การประกาศว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดตามคำสัญญาครั้งที่ 3 ของผู้นำรัฐบาลทหารจึงไม่เพียงบ่งบอกถึง “การต่ออายุ คสช.” เท่านั้น

หากยังแสดงถึง “การถดถอยทางการเมือง” ที่กำลังเกิดขึ้น

และเป็นสัญญาณถึงการ “ล้มละลาย” ของความเชื่อถือทางการเมืองที่ประชาคมระหว่างประเทศพึงมีกับรัฐบาลและประเทศไทยด้วย แม้รัฐบาลจะแก้ว่าความล่าช้าเกิดจากองค์กรต่างๆ ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลโดยตรง แต่ทุกฝ่ายก็รู้ดีว่าองค์กรเหล่านี้เป็นเพียงกลไกที่ใช้ในการเดินหมากทางการเมืองมากกว่าจะเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ของตนโดยไม่ผูกพันกับรัฐบาลทหาร คำแก้ตัวเช่นนี้จึงไม่มีคุณค่าในเวทีระหว่างประเทศแต่อย่างใด และกลายเป็นความ “พ่ายแพ้ทางการเมือง” ในตัวเอง

หากมองปรากฏการณ์ทั้งหมดโดยรวมแล้ว การเปิดเกมทางการเมืองของของ คสช. คือ การเปิดชิงความได้เปรียบทางการเมืองด้วยความต้องการสืบทอดอำนาจต่อ โดยมีปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของความกลัวต่อความพ่ายแพ้ที่จะเกิดขึ้นหากมีการเลือกตั้งในอนาคต

แต่แทนที่รัฐบาลทหารจะเปิดการรุกด้วยการประกาศเลือกตั้งตามคำสัญญา

กลับสร้างเงื่อนไขให้ตนยิ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะยิ่งเลื่อนเลือกตั้งก็ยิ่งแพ้มากขึ้น…

ปี 2561 จึงอาจจะเป็นปีแห่งความโหดร้ายสำหรับรัฐบาลทหารอย่างที่นึกไม่ถึงก็ได้!