เมษา พฤษภา 2553 สลาย ‘แดง’ 13-14 เมษายน 2552 รากฐานปลุก เมษา พฤษภา 2553

หมายเหตุ เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลข่าว จากหนังสือบันทึกประเทศไทยปี 2552 -2553 โดย สนพ.”มติชน” 

ยุทธการ แดงเดือด

เมษา พฤษภา 2553 สลาย ‘แดง’ 13-14 เมษายน 2552 รากฐานปลุก เมษา พฤษภา 2553

สัญญาณแห่งการเข้าสลายการชุมนุมของ “แดงทั้งแผ่นดิน” เห็นได้จากเมื่อเวลา 04.00 น.ของวันที่ 13 เมษายน 2552 กำลังเข้าไปยังพื้นที่สามแยกเหลี่ยมดินแดงซึ่งถูกปิดกั้นและยึดครองโดยคนเสื้อแดง

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 98/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.)

โดยให้ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการ

และประกาศบังคับใช้มาตรา 11(6) ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามมิให้มีการปิดเส้นทางจราจรหรือเส้นทางการคมนาคมโดยเด็ดขาด

ผลก็คือ คนเสื้อแดงดาวกระจายกำลังเคลื่อนไหวตอบโต้กลับหลายจุด

เช่น บริเวณทางแยกสามเหลี่ยมดินแดงที่แยกไปถนนราชปรารภ ซอยรางน้ำ ถนนข้ามแยกดินแดงไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนดินแดนฝั่งตรงข้ามโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เป็นต้น

มีการจุดไฟเผายางรถ เผารถเมล์หลายจุด และนำรถก๊าซแอลพีจีมาจอดขวางถนนดินแดนใกล้กับแฟลต 2 และ 3 ของเคหะดินแดง

ช่วงบ่ายสถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียมของคนเสื้อแดงก็ถูกตัดสัญญาณ

 

บันทึกประเทศไทยปี 2552 ของ “มติชน” บันทึกว่า ทหารลุยสกัดกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยึดบริเวณแยกราชปรารภกับบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ถอยร่นกลับไปยังทำเนียบรัฐบาล

15.00 น. เสื้อแดงถอยออกปิดบริเวณชุมชนนางเลิ้ง

พร้อมนำรถยูโรมาจอดขวางถนนสวรรคโลกและเตรียมจะเผา แต่ชาวบ้านเกือบ 200 คนรวมตัวกันขับไล่

หลัง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้อำนวยการ กอฉ. แถลงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังทหารเข้าสลายฝูงชน เวลา 15.30 น. ทหารสลายการชุมนุมบริเวณแยกศรีอยุธยา ผู้ชุมนุมล่าถอยไปหน้าทำเนียบรัฐบาล

17.30 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

18.00 น. กำลังทหารหลายร้อยนายพร้อมอาวุธยิงปืนขึ้นฟ้าเข้าเคลียร์พื้นที่หลายจุด อาทิ ถนนราชดำเนินนอก ถนนพิษณุโลกหน้าโรงพยาบาลมิชชั่น ถนนข้างคลองผดุงกรุงเกษม สหประชาชาติ สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นต้น

ขณะที่เสื้อแดงจุดไฟเผารถเมล์ขวางไว้หน้าสหประชาชาติ แต่ไม่สามารถต้านทานได้ จึงไปรวมตัวที่สะพานมัฆวานรังสรรค์

20.40 น. เสื้อแดงบริเวณสนามม้านางเลิ้งประมาณ 1,000 คนมุ่งหน้าสู่แยกสะพานผ่านฟ้าฯ พยายามผลักดันทหาร แต่ถูกต้านด้วยแก๊สน้ำตา และยิงปืนเอ็ม 16 ขึ้นฟ้าเพื่อขับไล่

ระหว่างปะทะมีกลุ่มชาวบ้านในเขตพื้นที่นางเลิ้งเข้าช่วยเจ้าหน้าที่จนชาวบ้านเสียชีวิต 2 คน

 

สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านทองหลายแห่งในกรุงเทพมหานครต้องปิดชั่วคราว รัฐบาลหลายประเทศออกคำเตือนพลเมืองสัญชาติตนให้ทบทวนหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย

ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยก็สรุปเหตุการณ์การชุมนุมของเสื้อแดงในต่างจังหวัด

ตั้งแต่เช้าวันที่ 12 ถึงเช้าวันที่ 13 เมษายน ว่ามีเสื้อแดงชุมนุมใน 34 จังหวัด

เช้าวันที่ 14 เมษายน ทหารเริ่มกดดันอีกระลอก จนกระทั่งเวลา 10.30 น. แกนนำคนเสื้อแดงยอมประกาศยุติการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลที่ปักหลักมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

12.00 น. แกนนำบางส่วนได้แก่ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เดินเท้าเข้าเจรจากับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่บริเวณแยกมิสกวันแล้วไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

14.00 น. นพ.เหวง โตจิราการ ถูกนำตัวมากองบัญชาการตำรวจนครบาล

17.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าสถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายจนเกือบหมด

จากนั้นศาลอาญาก็อนุมัติหมายจับ 985/2552 ลงวันที่ 14 เมษายน ตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย 1 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 นายจตุพร พรหมพันธุ์ 3 นายวีระ มุสิกพงศ์ 4 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 5 นายจักรภพ เพ็ญแข 6 นพ.เหวง โตจิราการ 7 นายอดิศร เพียงเกษ 8 นายสิรวิชญ์ พิมพ์กลาง 9 นายพีระ พิมพ์กลาง 10 นายณรงค์ศักดิ์ มณี 11 นายชินวัฒน์ หาบุญพาด 13 ชายไทยไม่ทราบชื่อ (ปรากฏตามภาพถ่าย)

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 215

มีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางธรรมดา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

เมื่อตรวจสอบผ่านหนังสือ “19-19 ภาพ ชีวิตและการต่อสู้ของ ‘คนเสื้อแดง’ จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53” อัน อุเชนทร์ เชียงแสน เป็นบรรณาธิการ ก็จะเห็นเงาสะท้อนของการเคลื่อนไหวในเชิงเปรียบเทียบ

นั่นคือ

13 เมษายน 2552 ทหารเริ่มลงมือปฏิบัติการตั้งแต่เช้าตรู่ โดยนำกำลังเข้ากดดัน สลายแนวป้องกันที่ผู้ชุมนุมตั้งขึ้น แล้วค่อยเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม

เผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้าน

เห็นภาพของทหารเคลื่อนกำลังผ่านถนนพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังพื้นที่การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล

เห็นภาพทหารเคลื่อนกำลังจากถนนราชดำเนินเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนเสื้อแดงรวมตัวกันตั้งแนวป้องกันการสลายการชุมนุม

เห็นภาพเจ้าหน้าที่ดับเพลิงช่วยกันดับไฟที่กำลังลุกท่วมรถโดยสารประจำทางซึ่งถูกนำมาจอดเป็นเครื่องกีดขวางและถูกเผาเมื่อทหารเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

เห็นภาพผู้สนับสนุนเสื้อแดงตั้งแนวสกัดและโห่ร้องขับไล่ทหาร

ภาพทหารเคลื่อนกำลังรุกคืบพื้นที่ผ่านซากรถโดยสารประจำทางที่ถูกเผาบริเวณแยกอุรุพงษ์ มุ่งหน้าไปยังถนนพิษณุโลก

เห็นภาพแนวล้อมทหารพร้อมรถฮัมวี่บริเวณทางลงทางด่วนยมราช

หลัง 6 โมงเย็นของวันที่ 13 เมษายน ทหารสามารถทลายแนวสกัดของคนเสื้อแดงได้ทั้งหมด

ปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมไว้ทุกด้าน

ภาพชายฉกรรจ์ในชุดพลเรือนสวมเสื้อเกราะพร้อมอาวุธสงครามเข้าร่วมปฏิบัติการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม

ภาพทหารพร้อมอาวุธครบมือเตรียมพร้อมอยู่บนสะพานข้ามแยกอุรุพงษ์

ผลจากการปิดล้อมพื้นที่ ปิดช่องทางเข้า-ออกทั้งหมด ทำให้แกนนำต้องยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายน 2552

เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ความรุนแรงและรักษาชีวิตของผู้ชุมนุม

 

ถามว่าเป้าหมายของการประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คืออะไร

คือ ความต้องการยุติปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ดาวกระจาย” ไปตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

ผลเฉพาะหน้าทั้งที่พัทยาและทั้งที่กรุงเทพมหานครสามารถยุติสลายการชุมนุม ยุติการเคลื่อนไหวลงได้

แต่ถามต่อไปว่า “จบ” หรือไม่

คำตอบเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอีกครั้งในเดือนเมษายนต่อเนื่องไปยังเดือนพฤษภาคม 2553

คำตอบจาก “ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”