กินลม ชมเกาะ (2)

ญาดา อารัมภีร

เกาะต่างๆ ใน “นิราสตังเกี๋ย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) เป็นเกาะที่อยู่ในอ่าวไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็น เกาะสามมือยื้อ เกาะขาม เกาะล้านที่กล่าวมาแล้วใน ‘กินลม ชมเกาะ (1) ปัจจุบันทั้งสามเกาะอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีเช่นเดียวกับเกาะต่อไปนี้

ใกล้ๆ กับ ‘เกาะล้าน’ คือ ‘เกาะริ้น’ นายแววเห็นชื่อเกาะนี้ก็นึกไปถึงสัตว์ชื่อพ้องกัน ‘ริ้น’ เป็นแมลงตัวกระจิ๋วหลิว ขนาดเท่าแมลงหวี่ บินอยู่ตามแหล่งน้ำ เช่น ริมแม่น้ำ ลำคลอง และชายทะเล ดูดกินเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

กวีถ่ายทอดความห่วงใยสาวคนรักทำนองว่า กัดใครก็ได้ ขออย่ากัดคนรักของข้าก็แล้วกัน

“๏ ถึงเกาะริ้นจินตนาภาษาสัตว์ มันเที่ยวกัดมังสาเหมือนห่าฝน

ข้าขอแต่น้องรักเสียสักคน อย่าบินวนไปกัดให้ขัดใจ”

ทั้งยังบรรยายถึงสภาพของเกาะริ้นไม่อาจต้านแรงคลื่นที่กัดเซาะตลอดเวลา

“เห็นหินผาหน้าเกาะคลื่นเซาะแซะ ที่แง้มแยะน้ำกระฉอกเข้าออกได้

ที่ขาววาบกาบลอกเปนปลอกไคร เหมือนเขาไม้ทำเล่นไม่เห็นดิน”

แง่หินไม่ถูกคลื่นก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่หนีไม่พ้น

“ที่น้ำเค็มท่วมไม่ถึงมันจึ่งรก กิ่งไม้ปกปิดแจคลุมแง่หิน

ข้างล่างเตียนเลี่ยนตาด้วยวาริน มันชะหินถูกคลื่นทุกคืนวัน ฯ”

 

เกาะริ้นนี้อยู่ระหว่างเกาะไผ่ กับเกาะล้าน นายแววเล่าถึง ‘เกาะไผ่’ ว่าไม่เห็นไผ่สีสุกสักต้นบนเกาะ ช่างไม่สมชื่อเสียเลย

“๏ ถึงเกาะไผ่ไม่เห็นมีกอสีสุก แลสนุกล้วนพฤกษาพนาสัณฑ์

มีต้นไม้คล้ายผักเบี้ยดูเตี้ยครัน ก็เพราะมันบังหมอกแลออกไกล ฯ”

ปัจจุบันเกาะไผ่อยู่ในตำบลเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตกปลา ตกหมึก และดำน้ำเช่นเดียวกับเกาะริ้น

 

ไกลออกไปอีกหน่อย เป็น ‘เกาะคราม’ ชื่อนี้ทำให้กวีนึกไปถึง ‘ครามดิบ’ ที่ใช้ย้อมผ้าออกโทนสีม่วง น้ำเงิน เขียว อยากจะซื้อไปฝากสาวคนรัก

“๏ เห็นเกาะครามตามภาษาเวลายาก น่าซื้อฝากครามดิบสักสิบไห

เผื่อเนื้อหอมย้อมผ้าชุบสะไบ ให้สะใจนุ่งห่มสมอินทรีย์”

ปัจจุบัน ‘เกาะคราม’ หรือ ‘เกาะครามใหญ่’ ในเขตตำบลและอำเภอสัตหีบ อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ ประกาศเป็นเขตหวงห้ามมิให้บุคคลทั่วไปเข้าพื้นที่เกาะโดยไม่ได้รับอนุญาต บริเวณรอบๆ เกาะครามเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเล เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

 

เมื่อถึง ‘เกาะยอ’ นายแววเล่นคำว่า ‘ยอ’ กับ ‘ผลยอ’ ทั้งที่เป็นผลกลมๆ รีๆ ของไม้ต้นชนิดหนึ่ง รอบผลผิวขรุขระเป็นตุ่มๆ ผลและใบกินได้ และเล่นคำกับ ‘ผลยอ’ ที่ใครๆ ล้วนพึงใจ ซึ่งมีความหมายว่า พูดจายกย่องชมเชย พูดให้ชอบใจ เพราะคำว่า ‘ยอ’ หมายถึง ยกย่อง หรือสรรเสริญ นั่นเอง

“๏ ถึงเกาะยอออไฉนอย่างไรหนอ ฤๅผลยอมีชุกทั้งสุกดิบ

นึกอยากกินลิ้นกับฟันคันยิบยิบ ได้สักสิบคำก็คงพอการ

อันผลยอพอใจทั้งชายหญิง มันดีจริงจับจิตรสนิทหวาน

รู้ว่ายอก็ยิ่งชอบสู้หมอบกราน เหมือนน้ำตาลทาปากอยากให้ยอ”

เกาะยอสมัยนี้หาดทรายขาว ทะเลสวยใสสีเทอร์ควอยซ์ฟ้าอมเขียว เป็นที่ดำน้ำ ดูปะการัง เดินเล่นนอนเล่นตามชายหาด บรรยากาศค่อนข้างสงบ เนื่องจากยังไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวมากนัก อยู่ในตำบลและอำเภอสัตหีบ

 

จากเกาะยอ กวีเล่าถึง ‘เกาะเสือ’ ได้ชื่อตามลักษณะภูเขาที่มีรูปร่างคล้ายเสือใหญ่หมอบอยู่ เป็นเสือจำศีลไร้พิษสง

“๏ ถึงเกาะเสือเหลือกลัวตัวพยัคฆ์ หมอบประจักษ์นอนเห็นเปนไศล

ดูรูปร่างโตถนัดไม่กัดใคร เปนเสือใหญ่จำศิลคอยกินลม ฯ”

ตามด้วย ‘เกาะจระเข้’ เมื่อมองไปเห็นเหมือนหัวจระเข้ โดยเฉพาะส่วนหางของมันนั้นร้ายกาจสามารถฟาดเรือล่มได้ บนเกาะนี้มีแนวหินทอดยาวคล้ายลำตัวจระเข้ที่ซุ่มอยู่ในน้ำและมีตะไคร่ปกคลุม

“๏ แลเห็นเกาะจระเข้เหศีร์ษะ ดูเกะกะมองเขม้นยิ่งเห็นสม

เขาว่าหางสำคัญที่มันจม ให้เรือล่มแตกไปก็หลายลำ

ถ้าเกยเข้าทีไรมักไม่รอด ยาวตลอดแหลมเปลือยเลื้อยถลำ

เปนหินล้วนบังอยู่ดูประจำ มันจมน้ำนอนซุ่มชุ่มตะไคร่ ฯ”

(เนื่องจาก ‘เกาะพระ’ ที่กวีบรรยายต่อจากเกาะจระเข้อยู่ในเขตตำบลและอำเภอสัตหีบเหมือนกับเกาะครามและเกาะยอที่เพิ่งกล่าวมาก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเกาะจระเข้ที่อยู่ใกล้ๆ เกาะยอนี้เป็นเกาะเดียวกับ ‘เกาะจระเข้’ หนึ่งในหมู่เกาะแสมสารที่อยู่ตำบลแสมสา อำเภอสัตหีบซึ่งอยู่ต่างตำบลออกไปหรือไม่)

จากเกาะจระเข้ก็มาถึง ‘เกาะพระ’ ยอดเขาที่เกาะนี้มีลักษณะเฉพาะเป็นรูปคล้ายๆ พระภิกษุ

“แต่สังเกตเห็นตลอดบนยอดเขา เปนปุ่มเปาเหมือนภิกขูไม่รู้สึก

คนจึ่งเรียกเกาะพระให้อธึก ดูพิฦกอัศจรรย์ขันจริงจริง”

การเห็นเกาะที่มีลักษณะคล้ายพระนั้นเป็นสิริมงคล กวีจึงขออำนาจพระพุทธคุณปกป้องคุ้มครอง

“ขอให้คุ้มข้าหลวงคอยท้วงติง บำบัดสิ่งสรรพไภยอย่าได้พาน

ทั้งเย่าเรือนเพื่อนอุราของข้าเจ้า ที่โศกเศร้าคอยหาน่าสงสาร

จงคุ้มไภยพาธาสาธุการ สุขสำราญพูลพิพัฒน์สวัสดี ฯ”

น่าสังเกตว่าปัจจุบันที่ตำบลและอำเภอสัตหีบมีทั้ง ‘เกาะพระ’ และ ‘เกาะพระน้อย’ ผ่านมานานถึงร้อยกว่าปี ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ‘เกาะพระ’ ใน “นิราสตังเกี๋ย” คือเกาะไหนกันแน่

 

ชื่อและลักษณะของเกาะต่อไปนี้ดูจะเป็นที่ขบขันของนายแววไม่น้อย ลองนึกถึงทุ่นลอยเท้งเต้งตามบุญตามกรรมในน้ำ สภาพเกาะนี้ก็ครือๆ กัน นอกจากเกาะจะแห้งแล้งไร้ต้นไม้แล้ว ยังมีสีหม่นคล้ำของปูนแดงแห้งๆ แลดูทั้งเก่าทั้งโทรม แม้ชื่อเกาะจะแปลกหู ไม่เข้าหมู่เข้าพวกกับบรรดาเกาะทั้งหลายที่เอ่ยมาก่อนหน้านี้ แต่ก็เป็นชื่อที่เรียกกันติดปากเลยทีเดียว

“๏ ครั้นมาถึงที่เขาเกาะเจ้าจุ่น ดูเหมือนทุ่นอยู่ในน้ำจำมะหรี

ทั้งต้นหมากรากไม้ก็ไม่มี สัณฐานสีปูนแห้งแดงมอซอ

ชั่งเกิดอยู่ในน้ำเหมือนทำเล่น ได้มาเห็นอัศจรรย์ขันจริงหนอ

ไฉนจึ่งชื่อเขาเปนเหล่ากอ เรียกกันจ้อไม่ว่าใครในชลา”

‘เกาะเจ้าจุ่น’ จะใช่ ‘เกาะจุ่น’ ที่ตำบลเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง หรือไม่ก็ยังสงสัย เพราะอยู่ไกลออกไปจากบริเวณนี้

 

น่าสังเกตว่าเกาะที่อยู่บริเวณเดียวกันหรือใกล้ๆ กันนั้น ชื่อซ้ำกันก็มาก หรืออยู่ต่างที่แต่ชื่อซ้ำกันก็มี ดังกรณีของ ‘เกาะหลัก’ เอ่ยชื่อนี้ปั๊บ คนส่วนใหญ่มักจะนึกไปถึงเกาะหลัก ที่ตำบลเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่จังหวัดชลบุรีก็มีเกาะหลักเช่นกัน อยู่ใกล้ๆ หมู่เกาะแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบนี่เอง

นายแววบรรยายถึง ‘เกาะหลัก’ จังหวัดชลบุรีว่าช่างแห้งแล้งกันดาร รูปพรรณสัณฐานคล้ายๆ พ้อมมีฝา พ้อม คืออะไร “พจนานุกรมสถาปัตยกรรมไทยและศิลปะเกี่ยวเนื่อง” ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร ให้รายละเอียดที่มองเห็นภาพชัดเจนว่า พ้อม คือ ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยดิน ขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอก ใช้บรรจุข้าวเปลือก พ้อมนี้ในบางท้องที่เรียกกันว่า ‘กระพ้อม’ มีขนาดส่วนสัดวัดโดยประมาณ 1.20 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ตั้งไว้ในเพิงยกแคร่ติดกับตัวเรือน หรือปลูกเป็นยุ้งแยกจากตัวเรือนไว้ในบริเวณบ้าน

ภาพของเกาะหลัก เป็นดังนี้

“๏ เห็นเกาะหลักปักอยู่ดูเปนหย่อม รูปเหมือนพ้อมอย่างดีที่มีฝา

ดูด้านแดงแห้งผึงถลึงตา ไม่มีหญ้าสักเส้นเห็นวิกล

แลแต่ไกลเห็นดอกบัวฤๅหัวเต่า มันน่าเอาไปไว้ปลูกไผ่สน

ได้ชมเล่นเปนสง่าในสาชล เหมือนกับคนกลั่นแกล้งมาแส้งทำ”

ฉบับหน้าพาไปชมหมู่เกาะแสมสาร อย่าพลาดเชียว

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร