หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “พระเจ้า”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“พระเจ้า”

ต้นฤดูฝน

อุทยานแห่งชาติ คาซิลังก้า รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

แสงแดดอ่อนนุ่มของเวลา 7 โมงเช้า ครอบคลุมทุ่งหญ้ากว้าง สายลมเย็นพัดผ่าน

ผมอยู่สูงจากพื้นดินราวสองเมตร โยกเยกไปตามจังหวะการเดินของช้าง

จากจุดที่ผมนั่งอยู่บนหลังช้าง จนถึงตอนนี้ ผมใช้เวลาไปแล้วร่วมชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เส้นทางด่านแคบๆ ข้ามหนองน้ำตื้นๆ ระดับน้ำท่วมหัวเข่าช้าง ขึ้นเนินเล็กๆ ทะลุออกทุ่งหญ้า ที่หยดน้ำเกาะปลายใบกระทบแสงยามเช้าเป็นประกาย

ช้างหยุดเดิน ชูงวง สูดกลิ่น เมื่อผ่านหนองน้ำเล็กๆ อีกแห่ง หนองถูกล้อมรอบด้วยดงหญ้าเขียวๆ หนาทึบ ความสูงหญ้าอยู่ระดับท้องช้าง

ผมขยับกล้องเมื่อเห็นหญ้าไหวยวบยาบ ลักษณะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กำลังเดินตรงเข้ามา

ช้างหันหน้าไปทางทิศที่หญ้าไหว ท่ามกลางหยดน้ำปลายยอดหญ้ากระทบแสงแดดเป็นประกายระยิบระยับ

ร่างใหญ่ทะมึนโผล่พ้นดงหญ้า ห่างออกไปไม่ถึง 5 เมตร ผมยกกล้องขึ้น ตาแนบช่องมองเลนส์ 200 มิลลิเมตร ปรับระยะชัด แรดนอเดียวปรากฏอยู่เต็มเฟรม ร่างทะมึน ยืนเงยหน้าสบสายตา

นาทีนั้น ดูคล้ายเวลาจะหยุดนิ่ง

เสียงชัตเตอร์ดังแผ่วเบา

นี่ไม่เพียงเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้พบกับแรดในธรรมชาติ

แต่เป็นความรู้สึกคล้ายกับว่า “พระเจ้า” อยู่ใกล้แค่เอื้อม

แรด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นอีกสายพันธุ์ซึ่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จากโลก

โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคอินโดจีน

ในประเทศไทย เคยมีแรดอาศัยอยู่คือ แรดชวา และแรดสุมาตรา

แรดสุมาตรา หรือกระซู่ ซึ่งเป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด มีนอสั้นๆ สองนอ ตัวสีเทา ขนดก ผิวหนังมีรอยพับ 1รอย ริมฝีปากด้านบนแหลม ไว้ใช้เหนี่ยวใบไม้ได้

แรดชวา มีขนาดใหญ่กว่า มีนอเดียว ผิวหนังมีรอยพับ 3 รอย รอยแรกอยู่บริเวณด้านหน้าไหล่ รอยที่สองอยู่ด้านหลัง ส่วนรอยที่สามอยู่เหนือสะโพก ลำตัวสีเทาดำ

มีบันทึกถึงแรดชวาไว้ว่า ในเวลาปกติจะอยู่ลำพังอย่างเงียบเชียบ มักไม่ส่งเสียงร้อง ใช้เวลานอนแช่ปลักนานๆ

บริเวณที่อาศัยคือป่าดิบชื้น ที่ราบต่ำใกล้แหล่งน้ำ

ทุกวันนี้ มีพวกมันอาศัยอยู่ในป่าด้านตะวันตกของอินโดนีเชีย และทางตอนใต้ประเทศเวียดนาม

ในประเทศไทย หายสาบสูญไปแล้ว

กระซู่ ที่มีขนาดเล็กกว่า ใช้ป่าดงดิบชื้นเป็นที่อาศัยเช่นกัน

ขณะตัวเมียมักอยู่ในอาณาเขตที่ตัวเองครอบครอง กระซู่ตัวผู้จะชอบเที่ยวร่อนเร่ไปทั่ว

ในป่าภูเขียว รวมทั้งป่าเขตรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเชีย คือแหล่งที่คาดว่ายังมีพวกมันอยู่

สถานภาพกระซู่ คือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2548 ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในป่าแถบเมือกเขาบูโด อันเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งป่ารอยต่อชายแดนไทย-มาเลย์ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

นอกจากร่วมอยู่ในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้)

ข่าวคราวและร่องรอยกระซู่ที่พบในป่าฮาลา-บาลา คือ “เป้าหมาย” ในการตามหาด้วย

ไม่ใช่เพราะสถานภาพของกระซู่ใกล้เคียงกับคำว่าสูญสิ้นชาติพันธุ์

แต่มันคือความหมายของการกระทำในสิ่งที่ตั้งใจ

เฝ้าฝันถึงจุดหมายโดยไม่เริ่มออกเดินทาง ดูคล้ายจะเป็นการผ่านวันเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

ในป่ารกทึบ สูงชัน กับเพื่อนร่วมทางที่สื่อสารกันคนละภาษา วันใดวันหนึ่ง จะพบกระซู่ หรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้

แต่ผมบอกได้ว่า วันเวลาระหว่างที่ตามหา

สำคัญและมีความหมาย

ในสมัยเด็ก แม่พาผมไปโบสถ์คาทอลิกเพื่อล้างบาป

“พระเจ้า” ในช่วงนั้นของผมเป็นแบบหนึ่ง

โตขึ้น พระเจ้าของผมคือ “ธรรมชาติ”

และธรรมชาติ คือผู้กำหนดทุกสิ่ง

ที่สำคัญ “พระเจ้า” จะส่ง “ตัวแทน” มาพบกับผู้เชื่อมั่น ในรูปแบบต่างๆ

ผมเชื่ออย่างนี้

ในฐานะของคนถ่ายรูปสัตว์ป่า แรดนอเดียว สำหรับผม คือตัวแทนที่พระเจ้าส่งมาให้ผมได้ใกล้ชิด

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมได้สบสายตากับร่างทะมึนนั้น

ผมรู้สึกคล้ายๆ กันทุกครั้งที่ตามหาสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

คือ เห็นเพียงภาพเลือนราง

กำลังตามหาสิ่งที่เคยมีแล้วเลือนหาย

ความรกทึบ สูงชัน คล้ายจะลดน้อยลง

ก้าวเท้าไปได้อย่างมั่นคง เมื่อในใจเชื่อว่า แม้ยังมองไม่เห็น แต่สิ่งที่ตามหาก็ยังคงมีอยู่

หรืออาจไม่มีวันได้พบ

หากความรู้สึกว่า การได้ใกล้ชิดกับ “พระเจ้า ” คือความปลื้มปีติ นั่นคือ ความรู้สึกของผม ในวันที่มีโอกาสประสานสายตากับแรดนอเดียว กลางทุ่งหญ้ากว้าง ผมไม่รู้หรอกว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ชีวิตในร่างของสัตว์ดึกดำบรรพ์เอาตัวรอดมาได้อย่างไร

จากสายตาที่เห็นภายนอก ผมเห็นเพียงร่างทะมึนหนา ท่วงท่าองอาจ

เมื่อเห็นอย่างใกล้ชิด ดูเหมือนว่า ร่างกายอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง

สิ่งสำคัญในอันจะพาร่างกายยืนหยัดพบกับความเปลี่ยนแปลง

นั่นคือ สิ่งที่มองไม่เห็น มันอยู่ข้างใน

จากบนหลังช้างที่ยืนนิ่ง

ผมลดกล้องลง นั่งมองแรดนอเดียวเงียบๆ ในความรู้สึกปลื้มปีติ จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้พบกับ “พระเจ้า” แน่นอนว่า พระเจ้ามักปรากฏใกล้ชิดเพียงแค่เวลาสั้นๆ บางคนปลื้มปีติ บางคนเฉยๆ หลายคนทุกข์ระทมเมื่อพระเจ้าจากไป

มีไม่น้อยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พระเจ้าในแบบที่ตนเชื่อ เคยมาปรากฏให้เห็นอย่างใกล้ชิดแล้ว

บนภูเขารกทึบ สูงชัน จุดหมายพร่าเลือน

หลายครั้งต้องหยุดพัก

ดูคล้ายใจที่มุ่งมั่นจะไม่หยุดรอกายที่เมื่อยล้า

กับแรดนอเดียวตัวนี้

ผมจำความรู้สึกที่พบมันได้เสมอ

คนคนหนึ่งจะมีโอกาสสักกี่ครั้งที่จะได้พบกับ “พระเจ้า”

พบทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจ