สุจิตต์ วงษ์เทศ / ประวัติศาสตร์ไทย หลักฐานไม่เหมือนเดิม

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประวัติศาสตร์ไทย หลักฐานไม่เหมือนเดิม

ไทย เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเชื้อชาติ ตามที่มีบอกในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ดังนั้นประวัติศาสตร์ไทยต้องเปลี่ยนไปเพราะหลักฐานไม่เหมือนเดิม

ความเป็นมาของคนไทยเกี่ยวข้องกับการค้าโลก ราวหลัง พ.ศ.1000 ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวอพยพโยกย้ายไปๆ มาๆ ของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (ซึ่งเป็นต้นทางของไทย) ตลอดจนผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์จากดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ลงสู่คาบสมุทร บริเวณที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้

ยกมานี้เป็นนิยามล่าสุด ได้จากการประมวลให้กระชับโดยเก็บความรวบรวมข้อเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ (1.) ความไม่ไทย ของคนไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 (2.) ประวัติศาสตร์แห่งชาติ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549

ทั้งหมดทักท้วงถกเถียงได้ไม่อั้น ถ้ายังมีความเห็นต่างไป

ประวัติศาสตร์ไทยไม่เหมือนเดิม

คนไทย พบหลักฐานเก่าสุดขณะนี้มีในรัฐอยุธยา บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง หลังการค้าโลกขยายตัวกว้างขวาง ราวเรือน พ.ศ.1900

และหลังเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ (พูดไทย สำเนียงลาว ที่สุพรรณบุรี) เสวยราชย์มีอำนาจเหนือรัฐอยุธยา แล้วกำจัดกษัตริย์เชื้อสายรัฐละโว้ (พูดเขมร สำเนียงขอม ที่ลพบุรี)

ก่อนหน้านี้ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีคนเรียกตัวเองว่าคนไทย ไม่ว่าในประเทศ หรือนอกประเทศไทย

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไทยน่าจะแบ่งได้กว้างๆ เป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ก่อนไทย และหลังไทย

1. ก่อนไทย

ก่อนไทย หมายถึง ก่อนคนไทยไม่ไทยกลายตนเองเป็นคนไทย

คนไม่ไทย หมายถึง คนหลายเผ่าพันธุ์ที่มีหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านในดินแดนไทย (ต่อเนื่องถึงดินแดนเพื่อนบ้าน) ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (แต่ในอีสานอาจเก่าแก่ถึง 5,000 ปีมาแล้ว) ต่อมาหมู่บ้านบางแห่งเติบโตเป็นชุมชนเมือง ราว 2,000 ปีมาแล้ว

คนเหล่านี้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่สืบทอดไม่ขาดสายถึงปัจจุบัน ได้แก่ ปลูกเรือนเสาสูง มีใต้ถุนใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน, ทำนาทดน้ำ ปลูกข้าวเมล็ดป้อมและข้าวเมล็ดเรียว,กินข้าวเหนียว คือ ข้าวเมล็ดป้อม เป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน, กินปลาแดกปลาร้า ด้วยการทำให้เน่าแล้วอร่อย, เชื่อเรื่องขวัญ สิงอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่สำคัญ, เชื่อว่าคนตาย แต่ขวัญไม่ตาย จึงมีพิธีศพครั้งที่สองโดยเก็บกระดูกใส่ภาชนะ,ชำนาญทำเทคโนโลยี หล่อโลหะผสมทองสำริดเป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ เช่น กลองทอง หรือฆ้อง ฯลฯ

ต่อมามีการค้าโลกตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 ผลักดันให้ชุมชนบ้านเมืองเติบโตขึ้นเป็นรัฐ แล้วเลือกรับจากอินเดียทางศาสนาพุทธ-พราหมณ์

มีรัฐต่างๆ กระจายบนเส้นทางการค้าตามลุ่มน้ำใหญ่ๆ เป็นที่รู้จักสมัยหลังในชื่อต่างๆ ได้แก่

รัฐหริภุญชัย (ลำพูน) ลุ่มน้ำปิง-วัง, รัฐพิมาย (นครราชสีมา) ลุ่มน้ำมูล-ชี, รัฐอู่ทอง-สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน, รัฐละโว้ (ลพบุรี) ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, รัฐตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ลุ่มน้ำตาปี, รัฐปตานีมลายู (ปัตตานี) ลุ่มน้ำปัตตานี

การค้าโลกผลักดันให้เมืองใหญ่ใกล้ทะเล มีกิจกรรมการค้าทางบกกับดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำโขงและเหนือขึ้นไป ซึ่งมีทรัพยาการแน่นนับคับคั่ง

คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ในตระกูลภาษาต่างๆ ได้แก่ ชวา-มลายู, มอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต ฯลฯ สื่อสารกันด้วยภาษากลางทางการค้า คือภาษาตระกูลไต-ไท (มีศูนย์กลางเก่าแก่สุดอยู่มณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน)

2. หลังไทย

หลังไทย หมายถึง หลังคนไม่ไทยกลายตนเองเป็นคนไทย พบบริเวณบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในภาคกลางของไทย โดยเฉพาะรัฐอยุธยา เฉลี่ยราว พ.ศ.1900

การกลายตนเองเป็นคนไทย หมายถึงคนไม่ไทยหลายเผ่าพันธุ์สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองและรัฐก่อนๆ ต่างพูดภาษาแม่ของตน (เช่น มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ฯลฯ) แต่ใช้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางจนคุ้นเคยอย่างดี เมื่ออยู่ในที่สาธารณะเช่นในตลาด ต้องสื่อสารกับคนอื่นที่พูดภาษาต่างๆ (ปัจจุบันก็ยังมีในวิถีประจำวันของคนหลายกลุ่มในไทย โดยเฉพาะตามพรมแดนเพื่อนบ้าน เช่น ย่านปัตตานี, นราธิวาส, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ ฯลฯ)

ต่อมาภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจทางการเมือง บรรดาคนไม่ไทยพากันเปลี่ยนตนเองกลายเป็นไต-ไท เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและการค้า กระทั่งเรียกตนเองเป็นไทย

แรกๆ คนเรียกตนเองว่าไทย มีในพื้นที่จำกัดบริเวณพระนครศรีอยุธยา นานเข้าก็ขยายออกไปปริมณฑลโดยรอบ แล้วกว้างถึงบ้านเมืองในราชอาณาจักร ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะภาคกลาง

ส่วนคนในบ้านเมืองห่างไกลออกไปถูกเรียกยังไม่ไทย ได่แก่ ภาคเหนือ เป็นลาว, มอญ ภาคอีสาน เป็นลาว, เขมร ภาคใต้ เป็นมลายู

ประวัติศาสตร์ไทย ในประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผมเคยถูกสอนให้จำ ถูกทำให้เชื่ออย่างไม่สงสัย แล้วใช้งานตามที่จำอย่างเซื่องๆ ว่าประวัติศาสตร์ไทยแบ่งช่วงเวลาเป็นยุคสมัยตามการแบ่งรูปแบบงานช่างทางประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย

ได้แก่ สมัยทวารวดี, สมัยศรีวิชัย, สมัยลพบุรี, สมัยกรุงสุโขทัย, สมัยกรุงศรีอยุธยา, สมัยกรุงธนบุรี, สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากนั้นอีกนาน ครั้นตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ไม่เคยพบว่ามีหลักฐานยุคสมัยจริงตามชื่อนั้นๆ ซึ่งเท่ากับชื่อยุคสมัยทั้งหมดล้วนสร้างใหม่ที่ไม่เคยมีจริง จึงไม่ควรใช้อย่างเชื่องๆ ต่อไป

ผมยังค้นไม่พบเหตุผลว่าการศึกษาไทยจะหลอกตัวเองไปทำไม? เพื่ออะไร? ใครรู้ช่วยบอกเป็นทาน