ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
แม้นายกรัฐมนตรี และพ่อนายกฯ ยืนยันว่า จะยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงนี้ก็ตาม แต่กระแสข่าวการปรับ ครม.ก็ยังไม่เจือจาง ด้วยเพราะรู้กันดีว่า สไตล์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้พ่อ มักจะปรับ ครม.ทุกๆ 6 เดือน
จนคาดกันว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านราวเดือนมีนาคมนี้เสร็จสิ้น อาจจะได้จังหวะของการปรับ ครม.พอดี หลังมีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคได้ส่งสัญญาณมาแล้วว่า หากพรรคเพื่อไทยจะปรับ พรรคนี้ก็พร้อมปรับด้วย
แต่ที่ฮือฮา คือกระแสข่าวการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม หลังนายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาเปิดประเด็นว่า การเมืองอำมหิต จะปลดระวาง บิ๊กอ้วน นายภูมิธรรม เวชยชัย จากเก้าอี้สนามไชย 1
ให้เป็น รองนายกฯ เก้าอี้เดียว ไม่ต้องควบ รมว.กลาโหม
โดยจะมีทหารยศน้อย มาเป็น รมว.กลาโหม
ส่งผลให้กระแสข่าวลือชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯ สะพัดไปทั่ว แม้แต่ในกระทรวงกลาโหม
เดิมเป็นที่คาดหวังกันว่า หากนายภูมิธรรมต้องพ้นเก้าอี้กระทรวงปืนใหญ่ไป บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม จากพรรครวมไทยสร้างชาติ จ่อรออยู่ เพราะรอมาตั้งแต่สมัย นายสุทิน คลังแสง มาเป็น รมว.กลาโหมพลเรือนแล้ว
แต่ทว่า เก้าอี้ รมว.กลาโหมนี้จะยังต้องเป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทยอยู่ และคาดว่านายทักษิณ ซึ่งถูกรัฐประหารมาก่อน ย่อมยังต้องให้คนที่ไว้วางใจได้มาคุมกลาโหมอยู่ ยังไม่ยอมยกโควต้า ยกเก้าอี้ ให้พรรคขั้วอนุรักษนิยมแน่ๆ
เพราะ พล.อ.ณัฐพลก็ถูกมองว่า เป็นสายตรง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ และโควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่เป็นดีเอ็นเอของลุงตู่
ส่งผลให้กระแสข่าว ร.อ.ธรรมนัส อาจจะมาเป็น รมว.กลาโหม ถูกให้น้ำหนัก แม้ว่าจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ เพราะยังมีอุปสรรคในเรื่องคุณสมบัติ เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่มีความพยายามจะแก้กฎหมาย และการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจนก็ตาม
แต่ก็ใช่ว่า ร.อ.ธรรมนัสจะมาเป็น รมว.กลาโหมไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นทหารเก่าแล้ว ก็จบ รร.เตรียมทหาร รุ่น 25 รร.นายร้อย จปร.รุ่น 36 แต่ลาออกเสียก่อน จึงเป็นแค่ร้อยเอก
อีกทั้งในเวลานี้ เป็นเสมือนมือทำงานส่วนตัว เป็นอาวุธลับของนายทักษิณในทางการเมือง ทั้งการปรากฏตัวในงานศพ “ส.จ.โต้ง” และการติดตามนายทักษิณลงเรือยอชต์ ไปคุยกับนายกฯ มาเลเซีย จนเป็นที่รู้กันในสายพรรคเพื่อไทยว่า เป็นสายตรง V1 ซึ่งน่าจะหมายถึง Vip 1 ของพรรค
ท่ามกลางกระแสข่าว ปฏิบัติการดูด ส.ส.พรรคต่างๆ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยมีทางเลือกให้ว่า จะเข้าพรรคกล้าธรรม หรือพรรคเพื่อไทย
ตอนนี้มีการจับตาว่านายทักษิณเชื่อมือ ร.อ.ธรรมนัสมาก
เพราะถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ “พี่น้อง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์” แตกหักกัน หลัง ร.อ.ธรรมนัสไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ กับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนที่สุด พี่น้องต้องแยกพรรคกันอยู่ เพราะหวาดระแวงกันเอง ตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัสเดินเกมจะโหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในสภา แต่ พล.อ.ประยุทธ์แก้เกมทัน และปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พ้น ครม. แบบไม่ไว้หน้า จนทำให้ขัดแย้งกับ พล.อ.ประวิตร
ที่สำคัญ มั่นใจว่า ร.อ.ธรรมนัสจะทันเกมกองทัพ ป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารได้ เพราะมีเพื่อน ตท.25 และเครือข่ายในกองทัพ
อีกทั้ง ตท.25 เป็นรุ่นใกล้เคียงกัน รุ่น ผบ.เหล่าทัพ ที่ปัจจุบันเป็น ตท.23-ตท.24-ตท.26 ที่รู้จักมักคุ้น ตั้งแต่สมัยเรียน และมีเพื่อนพี่น้องมากมาย ตามสไตล์นายทหารผู้กว้างกวาง ตั้งแต่เป็นมือขวา เสธ.ไอซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต เสธ.คนดัง เพื่อนสนิท ตท.10 ที่เสียชีวิตไปแล้ว ของนายทักษิณ
ยิ่งเมื่อนายภูมิธรรมลงนามแต่งตั้ง 4 นายพล ที่ปรึกษาของ รมว.กลาโหม ที่พบว่า 3 ใน 4 นายพลนี้ เป็น ตท.25 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.25 ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ให้เพื่อนในรุ่นช่วยกันคัดเพื่อนที่เก่งๆ ทั้งสายบุ๋น และสายบู๊ คอมแมนด์ มาช่วยงาน ยิ่งทำให้ ร.อ.ธรรมนัสโดดเด่น
เพราะนอกจาก พลอ.นุชิต ศรีบุญส่ง ที่เป็น ตท.24 อดีตรองปลัดกลาโหม และ ผอ.สนผ.กลาโหม เพื่อน ตท.24 ของ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. แล้ว
อีก 3 นายพล ล้วนถูกส่งมาจาก ตท.25 ทั้ง พล.อ.อ.ธัชชัย อัจฉริยาการุณ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช พล.ท. ดร.เจษฏ์ จันทรสนาม ที่ปรึกษากองทัพบก และอดีตผู้บัญชาการ รร.เสนาธิการทหารบก และ เสธ.หวาน พล.ร.ท.ชัยยงค์ ขุนทา ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ที่เป็นทั้งสายบู๊และสายบุ๋น เพราะเคยเป็น ผบ.หน่วย ผู้บังคับการเรือหลวงตากสิน ผู้บังคับการเรือหลวงจักรีนฤเบศร ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ
จนมีเสียงหยอกกันในกลาโหมว่า ทั้ง 3 นายพล เป็นสายตรงผู้กอง ที่เตรียมมารอรับ รมว.กลาโหม ยศร้อยเอก ในอนาคตหรือไม่
หากมองไปที่แผงอำนาจ ผบ.เหล่าทัพปัจจุบัน ทั้ง พล.อ.สนิธชนก พล.อ.ทรงวิทย์ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี จะเกษียณ 30 กันยายน 2568 คงเหลือแต่ บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ที่เกษียณ 2570 คนเดียว
ซึ่งก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ร.อ.ธรรมนัส
อีกทั้งแคนดิเดตตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือที่มีโอกาสจะขึ้นมาเป็น ผบ.ทร. ก็เป็น ตท.25 ทั้ง บิ๊กเดี่ยว พล.ร.อ.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผบ. กองเรือยุทธการที่เป็นเต็งหนึ่ง และ พล.ร.อ.พิจิตต ศรีรุ่งเรือง ผช.ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวชรุ่น ที่ปรึกษาพิเศษทร. อดีตผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 หรือแม้แต่ บิ๊กเบิร์ด พล.ร.อ.พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. ก็เป็น ตท.25
ส่วน ทอ. แคนดิเดตผู้บัญชาการทหารอากาศ จาก ตท.25 คือ พล.อ.อ.ไวพจน์ เกิงฝาก ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (ผบ.คปอ.) ที่ต้องชิงกับ เสธ.คิม พล.อ.อ.เสกสรร คันธา ผช.ผบ.ทอ. จาก ตท.26 และ เสธ.แอน พล.อ.อ.วชิรพล เมืองน้อย เสนาธิการทหารอากาศ จาก ตท.27
ขณะที่นายทหาร ตท.25 ในทั้ง 3 เหล่าทัพ ก็กำลังทยอยเกษียณราชการ แต่ไม่มีใครขึ้นถึงเก้าอี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเลย จนถูกมองว่าเป็นรุ่นอาถรรพ์ เพราะก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข แกนนำรุ่น ก็ชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. มาต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ จนขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร. และรอง ผบ.ทร. แต่ก็โดนสกัด จนต้องถูกส่งมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณกันยายน 2568
ดังนั้น จึงคงมีความหวังอยู่ที่ พล.ร.อ.ณัฏฐพล ที่เกษียณกันยายน 2569
ที่ต้องจับตาคือจังหวะก้าวของ ร.อ.ธรรมนัส เพราะหากได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีโดยไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ก็อาจจะไม่กลับไปที่ รมว.เกษตรฯ เพราะต้องการให้อาจารย์แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ ต่อไป ให้สมดีกรีหัวหน้าพรรคกล้าธรรม ที่มี ส.ส. ถึง 24 เสียง ร.อ.ธรรมนัสจึงอาจต้องลงเก้าอี้ตัวอื่นแทน รมว.กลาโหม
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประวัติของ ร.อ.ธรรมนัส กับตำนานในอดีต อาจทำให้กองทัพไม่สบายใจ เพราะครั้งหนึ่ง ผบ.เหล่าทัพต่างพากันล้มเลิกการพิจารณาให้รางวัลเกียรติยศจักรดาว ศิษย์เก่าเตรียมทหารดีเด่น ที่มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสรวมอยู่ด้วย
โดยไม่ให้มีการมอบรางวัลในปีนั้น และมีการประชุมแก้ไขระเบียบปิดประตูไม่ให้มอบกับศิษย์เก่าเตรียมทหารที่อยู่ฝ่ายการเมือง
หากมองภาพกว้างถึงยุทธศาสตร์ของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการปิดประตูการปฏิวัติรัฐประหาร โดยนายทักษิณเคยประกาศยังมั่นใจว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแล้วก็ตาม
แต่อนาคตก็ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงยังคงพยายามในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 ใหม่ โดยเป็นภารกิจที่นายภูมิธรรมจะต้องมาทำให้สำเร็จ หลังจากที่นายสุทินได้ยกร่างขึ้นมาในยุคที่เป็นกลาโหมพลเรือน จนสามารถให้สภากลาโหมพิจารณาอนุมัติสำเร็จแล้ว ในการระบุให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งย้าย พักราชการ นายทหารที่คิดก่อการรัฐประหาร ได้สำเร็จแล้ว
แต่เมื่อเปลี่ยนยุคมาเป็นนายภูมิธรรม ได้มีการหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพอีกครั้ง ปรากฏว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นในร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฉบับยุคนายสุทิน รวมทั้งร่างฉบับของนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
พร้อมสั่งการให้ พล.อ.ณัฐพลเป็นหัวหน้าคณะทำงานในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับของกระทรวงกลาโหมใหม่
โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ต้องการให้เขียนเรื่องห้ามปฏิวัติไว้ใน พ.ร.บ.กลาโหม เพราะเห็นว่ามีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้อีก เพราะทหารไม่ได้ต้องการจะปฏิวัติ หากต้องทำ ก็เมื่อมันจำเป็นเท่านั้น
และประเด็นที่กองทัพรับไม่ได้เลยก็คือ การให้อำนาจในการย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้อง หรือสงสัยว่าจะก่อการรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหาร หากยังไม่ก่อการก็จะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ อาจกลายเป็นช่องโหว่ให้มีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง ทั้งในส่วนของรัฐบาลที่อาจอ้างเป็นเหตุในการย้าย ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือของทหารในกองทัพกันเอง ที่จะใส่ร้ายกันด้วยข้อหาคิดก่อการกบฏนี้ เพื่อกำจัด ผบ.เหล่าทัพที่อยู่ในอำนาจได้
รวมทั้งไม่ต้องการให้เขียนระบุเปิดช่องให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการปฏิวัติรัฐประหาร เนื่องจากผู้บัญชาการเหล่าทัพเห็นว่าเป็นการขัดต่อธรรมเนียมทหารที่หากผู้บังคับบัญชาสั่งการ ไม่ว่าใดๆ ก็ต้องปฏิบัติตาม
อีกทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพได้แจ้งนายภูมิธรรมให้รับทราบว่าการที่ร่าง พ.ร.บ.กลาโหมของกระทรวงกลาโหมในยุคนายสุทินผ่านที่ประชุมสภากลาโหมนั้น เป็นไปในสภาพจำยอม แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ได้เห็นด้วย
รวมทั้งตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่เคยร่วมประชุมด้วยตนเองเลย แต่มอบตัวแทนมาประชุมทุกครั้ง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบซอฟต์ๆ มาแล้วในยุคนายสุทิน แต่นายสุทินก็มีภารกิจที่พรรคมอบหมายมาจึงต้องทำให้สำเร็จ ก่อนที่นายสุทินจะต้องลุกจากเก้าอี้สนามไชย 1 ไป
และคัดค้านการนำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายในทหารชั้นนายพลเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องการให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล ของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม เช่นที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2551 ตามเดิม
การคัดค้านในทุกประเด็นสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมในลักษณะนี้ถูกมองเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนปฏิบัติการเงียบ ที่ฝ่ายกองทัพไม่ยอมรับ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ทั้งๆ ที่ผ่านสภากลาโหมมาแล้ว โดยไม่ต้องใช้การกดดันโดยใช้กำลัง แต่ใช้การเจรจาต่อรองกันแทน
โดยที่ท่าทีของนายภูมิธรรมก็ดูจะยินยอมในการแก้ไขและจะไม่เขียนในประเด็นต่างๆ ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพคัดค้านใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้
แต่พร้อมกันนั้นด้วยดีกรีความเป็นนายภูมิธรรมอดีตสหายใหญ่ที่เป็นทั้งมันสมองและมือขวาของนายทักษิณ ย่อมต้องมีชั้นเชิง เพราะมีรายงานข่าวว่าได้มีการเสนอแลกเปลี่ยนที่จะไม่เขียนสิ่งที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ต้องการใส่ไว้ แต่เสนอให้พิจารณาแก้ไขสัดส่วนในบอร์ด 7 เสือกลาโหมใหม่ โดยให้เป็นบอร์ด 9 เสือกลาโหมแทน
จากเดิมที่มี รมว.กลาโหมเป็นประธาน ร่วมด้วย รมช.กลาโหม และฝ่ายผู้บัญชาการเหล่าทัพอีก 5 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเป็นสัดส่วนของการเมือง 2 เสียง ฝ่ายกองทัพ 5 เสียง ซึ่งถือเป็นเกราะกำบังอำนาจฝ่ายการเมืองที่แข็งแกร่งให้กองทัพมายาวนานได้
แต่นายภูมิธรรมเสนอให้เพิ่มนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปอีก 2 คนหรือ 2 เสียง เพื่อให้คล้ายๆ การแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจที่มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกองทัพ หากมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่จำเป็นต้องเขียนระบุไว้ในกฎหมายกลาโหม
แต่ก็ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองมีถึง 3 เสียง และกองทัพมี 5 เสียง ซึ่งหมิ่นเหม่ หากผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใดคนหนึ่งเอนเอียงไปทางฝ่ายการเมือง หรืองดออกเสียงแค่หนึ่งคนก็จะทำให้เสียงของฝ่ายการเมืองและกองทัพเท่ากันคือ 4 ต่อ 4 และจะต้องให้คนเป็นประธานคือนายกรัฐมนตรีเป็นเสียงตัดสิน ที่เสี่ยงต่อการที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารโดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ
มีรายงานข่าวว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพก็ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนบอร์ดกลาโหมให้เป็น 9 คน แต่กองทัพก็ต้องหาหนทางในการลดกระแสกดดันจากสังคมที่จับจ้องในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจในกองทัพของผู้บัญชาการเหล่าทัพที่วางทายาทของตนเองจากรุ่นสู่รุ่น
เพราะในอีกมุมหนึ่งแม้จะเพิ่มเป็นเก้าเสือกลาโหมแต่หากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งห้าคนจับมือกันแน่นฝ่ายการเมืองก็ทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพสามารถยืนกรานได้ว่าจะไม่ใช้ระบบโหวตให้ยึดตามที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพเสนอขึ้นมา ก็จะทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถล้วงลูกได้ เหมือนที่ผ่านมา ที่แม้ฝ่ายการเมืองจะเจรจาให้แก้ไขปรับเปลี่ยน เลือกคนที่เหมาะสมกว่า แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็ยืนกรานในตัวเลือกของตนเอง
ดังนั้น ย่างก้าวนี้จึงน่าจับตามองยิ่งว่าในที่สุดแล้วผู้บัญชาการเหล่าทัพจะยินยอมหรือไม่ หรือจะจะใช้วิธียื้อเวลาการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมออกไปเรื่อยๆ
เพราะหากเป็นกองทัพในยุค 10 ถึง 20 ปีก่อน หากฝ่ายการเมืองจะแตะกล่องดวงใจคือ บอร์ด 7 เสือกลาโหมเช่นนี้ ก็อาจเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร โดยอ้างเหตุว่ากองทัพถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้เสมอ
แต่ด้วยเพราะยุคนี้ทหารรู้ดีว่าไม่สามารถก่อการปฏิวัติรัฐประหารได้เช่นในอดีตที่ผ่านมา จึงอาจต้องมีการต่อรองหรือยอมถอยในบางประเด็น
เพราะหากใช้สูตรบอร์ด 9 เสือกลาโหม นั่นหมายถึงว่าฝ่ายการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะต้องแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง 1 คนและ รมว.กลาโหม 1 คน พร้อม รมช.กลาโหมอีก 1 คน โดยที่รองนายกฯ ต้องไม่ควบ รมว.กลาโหม เพื่อที่จะได้มี 3 เสียง สมทบกับนายกรัฐมนตรีอีก 1 เสียง
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของกระแสข่าวการแต่งตั้ง รมว.กลาโหม แยกต่างหากมา 1 คน โดยอาจให้นายภูมิธรรมเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว เพราะปกติก็มีภารกิจมากมายอยู่แล้ว แล้วให้ ร.อ.ธรรมนัสมาเป็น รมว.กลาโหม
ที่สำคัญและมีการจับตาคือ การแต่งตั้งโยกย้ายทหารในเดือนกันยายน 2568 นี้ ซึ่งจะถือเป็นการโยกย้ายใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะจะมีการเปลี่ยนตัวทั้งปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ รวม 4 คนเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในยุคนี้แม้จะมีดีลผสมข้ามขั้วและมั่นใจว่าทหารไม่สามารถรัฐประหารได้ก็ตาม แต่การรุกไล่และหวังแทรกแซงอำนาจในกองทัพก็อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อม และถือเป็นเรื่องอ่อนไหวระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
เพราะแม้นายภูมิธรรมจะกระชับสัมพันธ์ผู้นำทหารด้วยการบุกไปรับประทานมื้อค่ำกินไข่พะโล้ และผัดกะเพราเนื้อวากิวฝีมือ ผบ.ทอ. กลางดงผู้บัญชาการเหล่าทัพ เปิดใจคุยกันอย่างไรก็ตาม แต่หากแตะกล่องดวงใจทหาร ก็อาจจะทำให้เสียบรรยากาศความสัมพันธ์ และอาจเป็นมื้อสุดท้ายที่ ผบ.เหล่าทัพ อยากจะรับประทานข้าวร่วมโต๊ะด้วยก็เป็นได้
นายภูมิธรรมเองก็ดูจะมั่นใจว่าเอากองทัพอยู่ คุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพรู้เรื่อง เพราะเปิดอกคุยกันตรงๆ และมีสายตรงถึงกัน เพราะมื้อพิเศษกับ ผบ.เหล่าทัพครั้งนี้นายภูมิธรรมก็ลุยเดี่ยวไม่ได้ชวน พล.อ.ณัฐพล หรือทีมกลาโหมมาด้วยแต่อย่างใด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022