ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ผลอันเนื่องมาจากความเป็นแกนนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีเสียง ส.ส.เพียง 142 เสียง
ทำให้อำนาจที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายใดๆ ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับความแข้งแข็งยุครัฐบาลไทยรักไทย
เรื่องนี้นายทักษิณ ชินวัตร พูดเองในหลายเวทีหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ จ.เชียงราย เพื่อขอให้ชาวบ้านเลือกพรรคเพื่อไทยให้เด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เพราะความที่เป็นพรรครัฐบาลแต่มีเสียง ส.ส.หลักหนึ่งร้อย ถูกต่อรองต้องเฉือนแบ่งอำนาจทรัพยากรไปให้พรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายขั้ว จะขยับทำอะไรในทางนโยบายก็ถูกขวางได้ง่าย
ซ้ำยังเป็นรัฐบาลในบริบทที่ถูกถล่มจาก “อริ” ทางการเมืองทั้งเก่า-ใหม่ พร้อมๆ กับการกลับมาของนักจัดม็อบทางการเมืองที่เริ่มส่งสัญญาณฮึ่มๆ ภายใต้บริบทการเมืองสภาวะ “นิติสงคราม”
ในฐานะ” ผู้ครอบครอง” จึงมีความจำเป็นที่ต้องพยุงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ให้ตลอดรอดฝั่ง
นั่นจึงเป็นที่มา การเปิดเกมรุก เดินหน้าเต็มกำลังสำหรับ “บ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า” ช่วงที่ผ่านมา เป้าหมายใหญ่คือการฟื้นฟูเรตติ้งการเมืองที่มีสภาพ “กราฟดิ่งลง” มาตั้งแต่การข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาล
นั่นคือที่มาของ “ท่าทีการปราศรัย” ที่ดุดัน แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้
เริ่มจากนายทักษิณออกหน้า เดินเกมสะสมเก้าอี้การเมืองท้องถิ่น ลงพื้นที่ปราศรัย หาเสียงกับประชาชนในหลายจังหวัด
คำปราศรัยบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งแต่ละเวที ต้องบอกว่า “แรงขึ้นเรื่อยๆ ระดับที่สำนักข่าวส่วนกลางหลายแห่ง ต้องวางแผนจัดนักข่าวทีมใหม่เข้าประกบในการตระเวนหาเสียงทั่วประเทศ เนื่องจากนายทักษิณกลายเป็นผู้กำหนดวาระทางการเมือง สร้างประเด็นข่าวต่อเนื่องระดับสำคัญ ช่วงที่ผ่านมา
ลีลาการหาเสียง กลยุทธ์ทางนโยบายที่นายทักษิณใช้ อันที่จริงก็ไม่ต่างกับทักษิณ ชินวัตร ในยุครัฐบาลไทยรักไทย
มีความประชานิยมทางนโยบาย คำพูดคำจาแบบภาษาชาวบ้าน ชี้ให้เห็นรูปธรรมทางนโยบายที่จับต้องได้
แต่ที่เกรี้ยวกราดมากขึ้นยกตัวอย่างเวทีล่าสุดที่ จ.เชียงราย เป้าหมายคือ ด่าคนที่วิจารณ์ แรงระดับอยากจะเอาเชือกให้ไปคนด่ารัฐบาลผูกคอตาย
“ช่วงปีใหม่ผมติดตามโซเชียล มีแต่คนด่านายกฯ ถ้าเปรียบให้เป็นผู้หญิงก็คือผัวไม่รัก ถ้าเป็นผู้ชายก็คือเมียไม่รัก เครียด ก็เลยเอามาลงกับผมและนายกฯ วันๆ เอาแต่เห่า จึงบอกไปว่าผมไม่คิดจะเอาเรื่อง แต่พอแก่แล้ว ขี้รำคาญจึงให้ทนายอาสาช่วยกัน ถ้าที่ไหนฟ้องได้ ก็ช่วยกันฟ้อง” นายทักษิณระบุ
และว่า “ไอ้พวกนี้นะ ชีวิตมันอีกนิดเดียว ก็จะผูกคอตาย เพราะมันมองโลกแย่ไปหมด ตื่นมาก็เห็นว่าโลกไม่ดีแล้ว อีกไม่กี่วัน จะส่งเชือกให้ ตื่นเช้ามาก็ด่ารัฐบาล บ่ายมาก็ด่ารัฐบาล ด่าอยู่นั่นมีอยู่ 4-5 ตัว ที่ด่า พวกนี้สงสัยคงอยากได้เชือก แต่มีอยู่ไม่กี่คนตื่นเช้ามาก็ด่ารัฐบาล เหลือแต่ด่าพ่อด่าแม่ตัวมัน รู้สึกสมเพชคนพวกนี้”
นั่นคือความแข็งกร้าวแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองว่าจะไม่ยอมใครอีกแล้ว
แต่ก็ยังมาพร้อมการส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายประชานิยมสไตล์ไทยรักไทย เช่น จู่ๆ นายทักษิณก็ประกาศบนเวทีหาเสียงจะทุบค่าไฟให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย
ซึ่งก็เกิดผลกระทบมหาศาล หุ้นร่วงกระจุย แต่ได้ใจประชาชน เพราะปัญหาค่าไฟแพงถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประเทศ ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมต่อเนื่องมานานตั้งแต่รัฐบาลก่อน
พร้อมๆ ไปกับการเดินเกมรุกฟื้นเรตติ้งจากประชาชน ทั้งการประกาศนโยบายเอาใจคน ทั้งการ “จัดหนัก” ปราศรัยแรงๆ ใส่ บรรดานักร้อง นักจัดม็อบทางการเมือง แบบคนไม่กลัวใคร
นั่นคือ การเดินเกมในพื้นที่ “นอก” ระบบการเมือง
แต่พื้นที่ “ใน” ระบบการเมือง นายทักษิณก็เดินเกมสยบคลื่นใต้น้ำพรรคร่วมรัฐบาล ลดประสิทธิภาพการต่อรองของคู่แข่งในพรรคร่วม
ท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้น ตั้งแต่การออกมาพูดเรื่อง “อีแอบ” หรือการขู่ว่าจะ “ปลด” ไล่พ้นพรรคร่วมรัฐบาล
นัยยะหนึ่งก็เป็นการออกกำลัง “ปราม” และ “ลดระดับ” ความพยายามที่จะต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องจบแบบคล้ายๆ “ตบหัวแล้วลูบหลัง”
ในทางการเมืองจะมองเห็นปัญหาความไม่ลงรอยกันหลายเรื่องในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล แต่ท้ายที่สุด ภาพใหญ่ก็คือต้องนำ “รัฐนาวาลำนี้ให้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง”
จึงได้เห็นภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แม่ทัพขั้วสีน้ำเงิน ออกมายอมรับ ว่าเดินทางไปพบนายทักษิณ พร้อมกับนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ภูมิใจไทย
โดยนายอนุทินยืนยันในความเหนียวแน่น จับมือเดินหน้าต่อร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
พร้อมๆ กับการที่นายทักษิณออกมาเปิดเผย ยืนยันไม่มีแนวคิดปรับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน พ้นจากตำแหน่ง
นายทักษิณยืนยันว่า พูดคุยกับนายพีระพันธุ์ตลอด วันก่อนก็มานั่งคุยกัน ร่วมกับทางไฟฟ้าให้หาทางช่วยกันให้ค่าไฟลด ยืนยันว่า นายพีระพันธุ์เป็นคนตั้งใจ รู้จักกันมานาน คุ้นเคยกัน เป็นคนคุยรู้เรื่อง
ขณะที่ น.ส.แพทองธารออกมายืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีปัญหา ไม่มีแนวคิดปรับนายพีระพันธุ์เลย ยังทำงานด้วยกันได้ดี
หรือจะเป็นนายพีระพันธุ์เองที่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตอบกระทู้วุฒิสภาเรื่องพลังงาน ปกป้อง น.ส.แพทองธาร ที่ยืนยันนายกฯ เป็นคนกำชับให้เดินหน้าแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างถูกต้อง และลดค่าใช้จ่ายประชาชน
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในระดับลึกๆ ของทั้ง 3 ขั้วอำนาจพรรคร่วมรัฐบาล ยังมี “บาดแผล” ระหว่างกันอยู่ ไม่รู้จะเปิดออกมาเมื่อไหร่?
ไม่ว่าจะเป็นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย อย่างกรณีเขากระโดง, การต่อรองเรื่องกฎหมายกาสิโน
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคเพื่อไทยก็เป็นปัญหาการต่อสู้การผูกขาดพลังงานสไตล์พีระพันธุ์
เป็นความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการของ 3 ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล
ทำให้การเมืองแบบบ้านจันทร์ส่องหล้า ต้องเดินเกม “ข่ม” ต่อไป เป้าหมายคือเพื่อรักษาดุลอำนาจ ทั้งการ “เขย่า” กองทัพสีน้ำเงิน ไม่ให้ต่อรองมากขึ้นกว่านี้
เริ่มจากการเดินสายการเมืองท้องถิ่น เก็บเก้าอี้ อบจ.ให้ได้มากที่สุด
ในการเลือกตั้งซ่อมนายกฯ อบจ.ที่ลาออกก่อนปลายปีที่ผ่านมา พรรคสีน้ำเงินกวาดเก้าอี้ได้หลายจังหวัดแบบเงียบๆ
ส่วนการเลือกตั้งทั่วประเทศ หลายจังหวัดเห็นชัดว่าเป็นการสู้ระหว่างเพื่อไทย และภูมิใจไทย โดยเฉพาะสมรภูมิภาคอีสาน
นั่นทำให้ทักษิณต้องขยับอย่างมากในช่วงนี้
ส่วนการเดินเกมเพื่อ “เขย่า” พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังคงมีอยู่
ที่ผ่านมาพีระพันธุ์เข้ามาแตะเบรกปมพลังงานแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการระงับการสรรหากรรมการ กกพ. / การระวังการจัดซื้อจัดจ้างการจ้างเหมาขุด-ขนถ่ายถ่านหินเหมืองแร่แม่เมาะ / การระงับประมูลรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน
ประเด็นคือ ถ้าคุม “พีระพันธุ์” ไม่ได้ หรือร้ายแรง ระดับ “คุยกันไม่รู้เรื่อง” ผลก็คือการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งผลต่อ “การเมืองแบบบ้านจันทร์ส่องหล้า” อย่างมาก
นั่นคือตัวอย่าง “บาดแผล” ที่พร้อมจะ “อักเสบ” ออกมาได้เสมอในอนาคต
แม้จะมีความไม่ลงรอยกัน แต่ภาพใหญ่ก็คือรัฐบาลต้องไปรอด
ขาหนึ่งจึงเดินเกมด้วยท่าทีแข็งกร้าวเข้าใส่ อีกขาหนึ่งก็ต้องกลับมาคุยกันในเรื่องที่พอจะทำงานร่วมกันได้ เพื่อประคองรัฐบาล
เพราะทั้ง 3 ขั้วอำนาจพรรคร่วมรัฐบาล แม้ความคิดทางนโยบายและการเมืองบางอย่างต่างกัน แต่มีจุดร่วมสำคัญที่สุดคือต้องอยู่รอดเป็นรัฐบาล นั่นหมายถึงยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน / ต้องการกันและกัน
แบ่งสรรอำนาจ ต่อรองกันไปบ้าง ก็ยังดีกว่าตกอยู่ในสภาวะแพแตก ไร้ซึ่งอำนาจในการจัดการทรัพยากรใดๆ
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องอยู่ร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับขบวนการการเมืองใหม่ในนาม “พรรคประชาชน”
ต้องอยู่ร่วมกันเป็น “ครม.” คงความสัมพันธ์-ร่วมเก้าอี้อำนาจ-มั่นคงในทางที่เลือก กันต่อไป
ทั้งหมดเพื่อให้หลังเลือกตั้งปี 2570
พรรคประชาชนจะยังคงเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ต่อไปนั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022