ขอแสดงความนับถือ

เป็นไปตามที่บุตรชายของ “ไพบูลย์ วงษ์เทศ”

แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นายไพบูลย์ วงษ์เทศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567

ถึงการที่ไพบูลย์ วงษ์เทศ “…จากพวกเราไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 16.40 น. ของวันนี้”

ทั้งนี้ ก่อนจากไป

“พ่อได้ทิ้งกลอนบทนี้ ไว้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของพ่อครับ”

 

“นอนอยู่บนเตียงคนไข้ศิริราช

ปฏิเสธเด็ดขาดไม่รักษา

ถึงคราวตายก็ต้องตายในเวลา

ไม่อาจหลีกเลี่ยงฟ้าพญายม

มีชีวิตยาวนานพอสมควร

แม้จะม้วยมรณ์ประมวลก็เหมาะสม

ไม่ห่วงหน้าพะวงหลังรั้งอารมณ์

เหมือนสายลมพัดผ่านกาลเวลา”

 

นั่นคือ กลอน “สุดท้าย” ที่ไพบูลย์ วงษ์เทศ เขียนไว้

อย่างไรก็ตาม อย่าแปลกใจ หากพลิกไปที่หน้า 55 ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ยังมีกลอนอีกชิ้นงานหนึ่งของไพบูลย์ วงษ์เทศ ปรากฏอยู่

เป็นผลงานที่ไพบูลย์ วงษ์เทศ “เขียน” ส่งมาให้มติชนสุดสัปดาห์ “ล่วงหน้า” เนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่

จะถือว่า นี่คือผลงานชิ้นสุดท้าย ของไพบูลย์ วงษ์เทศ

ที่ “เขียน” และปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือ “มติชนสุดสัปดาห์” ก็คงได้

กลอนบทสุดท้ายแห่งชีวิตของ ไพบูลย์ วงษ์เทศ จากเตียงคนไข้ โรงพยาบาลศิริราช

 

ตั้งใจ ขับเน้นคำว่า “เขียน”

ก็เนื่องจากต้นฉบับของไพบูลย์ วงษ์เทศ ที่ส่งมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

แม้ว่าจะถูกส่งผ่าน “จดหมายอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “อีเมล”

แต่ก็เป็นอีเมลที่ถ่ายลายมือของไพบูลย์ วงษ์เทศ มาอีกทอดหนึ่ง

ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมต้อง “ลายมือ”

แต่เชื่อว่า ไพบูลย์ วงษ์เทศ คง “มี” เหตุผลส่วนตัวอยู่

–หรือว่า “ไม่มี”

 

นี่คือ ความซ่อนนัย ที่ชวนให้ขบคิด

อันเป็น “จุดเด่น” สำคัญ ของกลอนไพบูลย์ วงษ์เทศ

กลอนที่ต้อง “ตีความ”

ในทุกคำ ทุกวรรค ทุกบท

อนึ่ง ต้องขออนุญาตชี้แจง และขออภัยอย่างสูง ต่อ “ไพบูลย์ วงษ์เทศ” และผู้อ่าน

ที่กลอนสุดท้ายที่หน้า 55 ที่ชื่อบทกลอนที่ว่า “กาลามสูตร” นั้น ดูจะสื่อตรงๆ มิใช่ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะตามจริงแล้ว “ไพบูลย์ วงษ์เทศ” ตั้งใจให้เป็น “กาลามศูทร” มิใช่ “กาลามสูตร”

ทำไมต้องเป็น “กาลามศูทร”

แน่นอนย่อมเป็นสิ่งที่ไพบูลย์ วงษ์เทศ ต้องการให้ขบคิดตีความ

“กาลามศูทร” บทกลอนจากลายมือ ไพบูลย์ วงษ์เทศ ต้นฉบับชิ้นสุดท้ายในชีวิตที่ส่งให้มติชนสุดสัปดาห์

ไพบูลย์ วงษ์เทศ เป็นกวี

เป็น นักหนังสือพิมพ์

เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เดินทางออกนอกประเทศ ไปหลายประเทศ

สุดท้ายขอลี้ภัยทางการเมือง ที่ประเทศสวีเดน นานหลายปี ก่อนกลับไทย

วาระสุดท้ายไพบูลย์ วงษ์เทศ อุทิศร่างให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษา ณ โรงพยาบาลศิริราช •