วิกฤติศตวรรษที่21 : รัสเซียใหม่กับปูติน

(FILES) This file photo taken on December 1, 2016 shows Russian President Vladimir Putin addressing the Federal Assembly of both houses of parliament at the Kremlin in Moscow. Vladimir Putin was the world's most powerful person for a fourth straight year in 2016, with US president-elect Donald Trump in second place, Forbes magazine said December 14, 2016 in its annual rankings. "Russia's president has exerted his country's influence in nearly every corner of the globe," the US business magazine wrote. "From the motherland to Syria to the US presidential elections, Putin continues to get what he wants." / AFP PHOTO / Natalia KOLESNIKOVA

อนุช อาภาภิรม – โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (7)

รัสเซียใหม่คลอดจาก “สังคมคอมมิวนิสต์” ที่เสื่อมถอยคือสหภาพโซเวียต

ปูตินกล่าวว่าเป็น “โศกนาฏกรรมใหญ่หลวงที่สุดของชาวรัสเซีย”

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีลักษณะเฉพาะของมัน อย่างหนึ่งคือมันเกิดขึ้นอย่างสันติและรวดเร็วมาก เหมือนกับว่าจู่ๆ วันหนึ่งบรรดาผู้นำและผู้คนทั้งหลายที่รวมตัวกันเป็นประเทศนี้

ประกาศว่าจะแยกตัวออกจากกัน เอาสมบัติของรัฐมาแบ่งสันปันส่วนกัน แยกตัวเป็นสาธารณรัฐกว่าสิบประเทศ

Russian President Vladimir Putin (R) shakes hands with his Syrian counterpart Bashar al-Assad (L) during a meeting at the Kremlin in Moscow on October 21, 2015. Assad, on his first foreign visit since Syria’s war broke out, told his main backer and counterpart Putin in Moscow that Russia’s campaign in Syria has helped contain “terrorism”. AFP PHOTO / RIA NOVOSTI / KREMLIN POOL / ALEXEY DRUZHININ

การแบ่งสมบัติในรัสเซีย พบว่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจได้รับส่วนแบ่งมาก กลายเป็นมหาเศรษฐีที่เข้ามามีอำนาจทางการเมือง (Oligarch ใช้เฉพาะกรณีรัสเซีย ทั่วไปหมายถึงสมาชิกในคณาธิปไตย)

ประชาชนทั่วไปที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ที่เป็นของรัฐก็ได้อพาร์ตเมนต์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นต้น

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงสามปี

เริ่มต้นจากการหลุดไปของประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก ในปี 1989

ที่โด่งดังเป็นที่จดจำก็คือการทลายกำแพงเบอร์ลิน ในปี 1990 บรรดาสาธารณรัฐที่รวมตัวกันเป็นสหภาพโซเวียตต่างแยกตัวเป็นอิสระ

ปี 1991 การรัฐประหารที่ล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในเดือนสิงหาคม เพื่อกอบกู้สหภาพโซเวียตเป็นครั้งสุดท้าย

กลายเป็นจุดจบของสหภาพโซเวียต บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin 1931-2007) ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ขึ้นสู่อำนาจแทน มิคาอิล กอร์บาชอฟ (เกิด 1931 ถึงปัจจุบัน) ที่ถูกบีบให้ลาออกไป

ที่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นไปอย่างสันติ

ในด้านในประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดความเสื่อมถอยของระบบเศรษฐกิจและระบบปกครองต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนกระทั่งประชาชนเกิดหมดความหวัง ปล่อยให้ระบบนี้ล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่คัดค้าน (แม้ว่าภายหลังมีชาวรัสเซียจำนวนมากยังระลึกถึงระบบสหภาพโซเวียตอยู่) ในอีกด้านหนึ่งเกิดจากการสมคบคิดกันในหมู่ชนชั้นนำที่ตกลงแบ่งแยกกันไป โดยบางประเทศรักษาการรวมตัวอย่างหลวมๆ ไว้กับรัสเซีย

ในด้านต่างประเทศ สหรัฐผู้นำโลกเสรี ก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ส่วนหนึ่งเกิดจากการโซเวียตเป็นสังคมปิดสำหรับตะวันตก เปิดช่องให้สหรัฐเข้ามาแทรกแซงไม่ได้มาก

อีกส่วนหนึ่งเกิดจากว่าหากเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงของโซเวียตอาจตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีต่อสหรัฐ

สหรัฐเดินนโยบายสำคัญสองประการได้แก่

(ก) สนับสนุนบอริส เยลต์ซิน ที่มีแนวคิดที่จะพัฒนารัสเซียแบบทุนนิยมเสรีขึ้นมามีอำนาจดำเนินการแยกสลายโซเวียตอย่างสันติ

(ข) การผลักดันให้บรรดาประเทศที่แยกจากสหภาพโซเวียต ยึดหลักการปกครองตนเองแบบเสรีประชาธิปไตย การปกครองของกฎหมาย ยึดมั่นสิทธิมนุษยชน และสิทธิของชนชาติส่วนน้อย ยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงการผูกพันที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านั้น

หลักการดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าเป็นเพียงข้ออ้าง

เพราะสหรัฐก็ไม่ได้ยึดปฏิบัติหลักเหล่านี้อย่างจริงจัง นิยมการปฏิบัติตามลำพังมากกว่าความผูกมัดของกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงผูกพันที่ได้กระทำไว้ เช่น การปฏิบัติตามลำพังในกรณีสงครามโคโซโวสมัยประธานาธิบดีคลินตัน การทำสงครามยึดครองอิรักสมัยบุชผู้ลูก ที่มีการประกาศว่า “จะไม่ยอมให้ใครมาสวมกุญแจมือสหรัฐ”

มาถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยึดนโยบาย “อเมริกาเหนือชาติใด” ก็ยิ่งมีพฤติกรรมโจ่งแจ้ง ไม่ได้อำพรางเหมือนในครั้งนั้น

นโยบายของสหรัฐดังกล่าว สรุปทางปฏิบัติก็คือ ให้ประเทศทั้งหลายเหล่านี้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นฐาน มีนโยบายต่างประเทศสอดคล้องกับของสหรัฐ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

และที่ประสบความสำเร็จสูงในยุโรปตะวันออก ได้แก่ เยอรมนีตะวันออกที่ได้รวมตัวกับเยอรมนีตะวันตกทันทีที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย แต่ในปี 1999 ได้ใช้เงินยูโรแทน

ประเทศในยุโรปตะวันออกที่สหรัฐประสบความสำเร็จในการดึงเป็นพวก เช่น โปแลนด์ และโรมาเนีย ที่ยอมรับเป็นสถานที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ

ประเทศที่เคยร่วมกับโซเวียตและหันไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเต็มตัวได้แก่สามประเทศบอลติก

ที่เหลือต้องลงแรงหนัก เช่น ก่อปฏิวัติสีหลายครั้ง บางประเทศได้มาแล้วต้องแย่งยื้อกันเช่นที่ยูเครน

ที่ไม่ประสบความสำเร็จได้แก่ประเทศเบลารุส ที่เห็นว่าสหรัฐเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และหันไปสนิทกับรัสเซีย

สำหรับประเทศที่ถือมุสลิมที่เคยร่วมกับสหภาพโซเวียตนั้น สหรัฐยากที่จะครองใจได้ ตราบเท่าที่ยังมีลัทธิ “กลัวอิสลาม” และการต่อต้านอิสลามในทางปฏิบัติ

เหตุผลของความไม่สำเร็จตามคาดดังกล่าว ในสายตาของผู้วางนโยบายยุทธศาสตร์ชาติสหรัฐแล้วเห็นว่า เกิดจากบุคคลคนเดียวคือ วลาร์ดิมีร์ ปูติน (เกิด 1965)

ประสบการณ์ชีวิตของเขา กล่าวอย่างสังเขปได้ว่า ในช่วงสหภาพโซเวียตปฏิบัติหน้าที่ทางด้านความมั่นคง ในยุครัสเซียใหม่ปูตินเริ่มงานการเมืองที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บ้านเกิดของเขา ดูแลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการลงทุนจากต่างชาติ จนก้าวสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงของนคร และมีประสบการณ์ในการบริหารพรรคการเมืองด้วย

ต่อมาระหว่างปี 1996-2000 เขาทำงานการเมืองที่มอสโกภายใต้เยลต์ซิน ดูแลงานด้านทรัพย์สินของชาติ จัดการรวบรวมทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ต่างแดน รวมทั้งทรัพย์สินที่เคยเป็นของสหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นของสหพันธรัฐรัสเซีย

ปูตินได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1999 และรักษาการประธานาธิบดี (31 ธันวาคม 1999-พฤษภาคม 2000) หลังจากที่เยลต์ซินประกาศลาออกและยกให้ปูตินเป็นทายาทผู้สืบทอดอำนาจ และปูตินประกาศนิรโทษกรรมทั้งหมดของเยลต์ซินเมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งนี้

จากที่กล่าวมาปูตินเป็นผู้มีประสบการณ์กว้างทั้งด้านความมั่นคง การเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจ-การเงิน รู้ตื้นลึกหนาบางของกลุ่มมหาเศรษฐีรัสเซียเป็นอย่างดี มีความสามารถทางการบริหาร และกล้าเสี่ยง เป็นบุคคลเหมาะเจาะสำหรับการนำรัสเซียใหม่

AFP PHOTO / DON EMMERT AND Natalia KOLESNIKOVA

ย้อนกลับมาที่เยลต์ซินอีกครั้ง คล้อยหลังจากขึ้นสู่อำนาจได้ไม่นาน เขาก็เดินทางไปพบประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ ที่แคมป์เดวิด ในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ใหม่ของรัสเซีย

เป็นการประกาศตัวของรัสเซียใหม่บนเวทีโลก และสหรัฐก็ให้การรับรอง

ซึ่งเป็นการย้ำว่าสหรัฐจะสนับสนุนรัฐบาลเยลต์ซินในการรักษาเสถียรภาพของรัสเซีย

การได้รับการรับรองนี้มีส่วนให้เยลต์ซินส่งกองทหารเข้าปราบการก่อกบฏแยกดินแดนในสาธารณรัฐเชชเนียที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถืออิสลามในปี 1994 เป็นสงครามยืดเยื้อกว่าจะยุติลงได้ แต่ก็ยังเผชิญกับการก่อการร้ายจนถึงทุกวันนี้

แถลงการณ์ร่วมการพบปะกันดังกล่าวยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง ในด้านที่เป็นการยุติสงครามเย็นอย่างเป็นทางการ

และเปิดยุคแห่งการร่วมมือทางเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างรัสเซียใหม่กับสหรัฐ

แต่เป็นฝ่ายรัสเซียที่ดูเหมือนจะผิดหวังกับความสัมพันธ์นี้

ปูตินเช่นเดียวกับผู้นำรัสเซียจำนวนไม่น้อยมีความผิดหวังหลายประการ

ประการแรก มันเป็นความสัมพันธ์ที่รัสเซียตกเป็นเบี้ยล่างไม่ว่ารัสเซียจะปฏิบัติอะไรก็ต้องชำเลืองหรือสดับฟังความคิดเห็นจากสหรัฐว่าเห็นด้วยหรือไม่ ความชอบธรรมของรัฐบาลรัสเซียขึ้นอยู่กับการรับรองของสหรัฐและตะวันตก

หากรัสเซียปฏิบัติตัวดีก็รับเป็นพวก เช่น รับรัสเซียเข้าร่วมกลุ่ม 7 หรือกลุ่มมหาอำนาจโลก 7 ประเทศ ขยายกลุ่มนี้เป็น “กลุ่ม 8” ในสมัยเยลต์ซิน

แต่หากทำขัดใจเช่นในกรณียูเครนก็ขับออกในปี 2014 สมัยปูติน

ในประการต่อมา ก็คือความคาดหวังที่จะมีการลงทุนจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้มา ขณะที่เงินทุนกลับหลั่งไหลไปยังจีน ที่มีค่าแรงถูกกว่า มีท่าเรือหลายแห่งที่เข้าถึงได้ทุกฤดูกาล ทั้งยังเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต้อนรับการลงทุนอย่างดีและหลากหลาย ดังนั้น รัสเซียต้องพึ่งตนเองอยู่ดี

ที่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายได้แก่ การที่สหรัฐเข้าไปหนุนหลังโคโซโวในสงครามแยกตัวจากเซอร์เบียในปี 1999 เป็นการปฏิบัติตามอำเภอใจ ไม่ได้ยึดถือองค์การสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

รัสเซียนั้นเป็นมิตรกับเซอร์เบีย แต่ก็ไม่สามารถป้องกันหรือทำอะไรได้มากนัก

การทิ้งระเบิดเซอร์เบียของสหรัฐ-นาโต้เป็นไปอย่างรุนแรง แม้แต่จีนที่เป็นมิตรเก่าของยูโกสลาเวีย (เซอร์เบียเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่แยกตัวจากยูโกสลาเวียเก่า) ยังโดนลูกหลง ถูกสหรัฐทิ้งระเบิดใส่สถานทูตจีน โดยอ้างว่าใช้แผนที่เก่า การเข้ายึดครองโคโซโวของสหรัฐ-นาโต้

และต่อมาหนุนการทำประชามติในโคโซโว ตั้งขึ้นเป็นประเทศอิสระในปี 2008 เป็นแผลเก่าที่ปูตินไม่เคยลืม ดังนั้น รัสเซียใหม่ในยุคของปูตินจะต้องต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากรัสเซียใหม่สมัยเยลต์ซิน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียใหม่กับปูตินนั้นเป็นไปอย่างล้ำลึก

ปูตินได้นำพารัสเซียจากประเทศที่อ่อนแอ ระส่ำระสาย ไม่มีความหวังในอนาคต เป็นเพียง “ประเทศปั๊มน้ำมัน” ขึ้นมาเป็นรัสเซียใหม่ที่เข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น มีความหวังและภูมิใจในตนเอง

กล่าวอย่างสั้นคือทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ในด้านนี้เหมือนจะพูดได้ว่า “รัสเซียใหม่ของปูติน”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปูตินก็ไม่ได้มีทฤษฎีหรือหลักการสำเร็จรูปในการนำพาประเทศ “ลัทธิปูติน” เกิดขึ้นและพัฒนาไปท่ามกลางการปฏิบัติ การขัดแย้งต่อสู้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่คดเคี้ยวแบบลองผิดลองถูก ในแง่นี้ ก็เหมือนกับว่ารัสเซียใหม่เป็นผู้หล่อหลอมตัวปูตินขึ้นมาเอง และควรกล่าวว่า “ปูตินของรัสเซียใหม่”

ลัทธิปูตินที่ได้ปฏิบัติจนถึงขณะนี้ มีองค์ประกอบสำคัญหลายประการได้แก่ ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ รัสเซียออร์ธอด็อกซ์ ลัทธิยูเรเซียใหม่ รัสเซียกับอุตสาหกรรม 4.0 และการยูโดทางการเมือง-การทหาร

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ของรัสเซีย