ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
เมื่อการออกแบบพื้นที่เมืองเอื้อให้ผู้สูงวัยมี “อิสรภาพ” ในการเดินทาง หัวใจที่สำคัญต่อมาคือ การสร้างพื้นที่สาธารณะสูงวัยที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวก” (Fostering positive social relationships)
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ พื้นที่ทางสังคมที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และส่งเสริมให้เกิดการพบปะพูดคุยตลอดจนทำกิจกรรมนอกบ้านในรูปแบบต่างๆ ของผู้สูงวัย
ในบทความ Public Spaces for Older People : A Review of the Relationship between Public Space to Quality of Life โดย Sadiq R. Younes และคณะ ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวแล้ว การนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน ออกไปเจอเพื่อนฝูง ทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกับผู้อื่น จะส่งผลดีต่อใจของผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก และแน่นอนจะส่งผลต่อเนื่องไปยังสุขภาพกายให้แข็งแรงตามไปด้วย
แต่ถ้าพวกเขาขาดพื้นที่ที่จะช่วยสร้างเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้ หรือมีแต่น้อยเกินไป อาจทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกเหงา แยกตัวออกจากสังคม นำมาซึ่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งโรคหัวใจ หลอดเลือด สมองเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล ไปจนถึงคิดสั้น
ในงานชิ้นนี้ยังบอกว่า เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ผู้สูงวัยจะใช้เวลาสร้างเครือข่ายทางสังคมในพื้นที่ละแวกบ้านมากกว่า โดยเฉพาะตามพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในบริเวณย่านที่พักอาศัย
สอดคล้องกับการศึกษาประเด็นใกล้เคียงกันในประเทศจีนเรื่อง Social Interaction in Public Spaces and Well-Being among Elderly Women : Towards Age-Friendly Urban Environments โดย Yingyi Zhang และคณะ ที่พบว่า พื้นที่หลักที่ผู้หญิงสูงวัยในย่านชุมชนกลางกรุงปักกิ่ง นิยมใช้พื้นที่โล่งและจัตุรัสขนาดเล็กใกล้กับอาคารที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
บนฐานข้อมูลนี้ พื้นที่สวนหรือลานขนาดเล็กใกล้กับชุมชนและย่านที่พักอาศัยคือสิ่งจำเป็นในสังคมสูงวัย
ย้อนมองมาที่กรุงเทพฯ ผมคิดว่ามีทิศทางบางอย่างที่ดูจะเอื้อให้เกิดสิ่งนี้อยู่นะครับ นั่นก็คือโครงการ “สวน 15 นาที” ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กกระจายอยู่ทุกพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 189 สวน (ดูรายละเอียดเพิ่มใน https://greener.bangkok.go.th/green-space/15-minute-garden/)
อย่างไรก็ตาม การมีสวนอย่างเดียวอาจไม่ดึงดูดให้คนสูงวัยเข้าใช้ ตำแหน่งและการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนกลุ่มนี้ด้วย คือสิ่งที่ต้องตระหนักถึง
พื้นที่ที่ไม่ลับสายตาคน มีแสงสว่างที่เหมาะสม ปริมาณที่นั่งมากเพียงพอและจัดวางในลักษณะที่เป็นการล้อมวงนั่งคุย มากกว่าม้านั่งยาวที่เน้นนั่งพักแบบตัวใครตัวมัน มีอุปกรณ์การออกกำลังกายที่เหมาะกับคนสูงวัย ผิวทางเดินที่เรียบไม่ขรุขระ
และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบสวนในบริบทสังคมไทยที่ร้อนเกือบทั้งปี ร่มเงาจากต้นไม้หรือโครงสร้างในรูปแบบต่างๆ คือสิ่งจำเป็น สวนประเภทที่เน้นหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ซึ่งจากการสำรวจสวนที่อยู่ในโครงการนี้โดยภาพรวม ผมเห็นว่า แม้ในเชิงปริมาณและการกระจายตัวถือว่ามีทิศทางเชิงบวก แต่ในแง่การออกแบบพื้นที่ใช้งานภายใน กลับมีเป็นจำนวนมากที่ไม่เอื้อให้กับคนสูงวัย
ร่มเงาที่น้อยเกินไป ที่นั่งไม่เพียงพอ บางแห่งไม่มีเลย และที่มีส่วนใหญ่ก็เน้นการนั่งในรูปแบบม้านั่งยาวตัวใครตัวมัน มิใช่การจัดวางที่นั่งในลักษณะที่เอื้อต่อการนั่งคุยยาวซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนสูงวัย และบางแห่งขาดการทำทางเดินที่เหมาะสม
ในขณะที่องค์ประกอบภายในสวน โดยรวมดูจะโน้มเอียงไปในทางกิจกรรมเด็กมากกว่าคนสูงวัย มีทั้งสนามเด็กเล่นและเครื่องออกกำลังกายที่เน้นใช้พลังกาย
ไม่ปฏิเสธกิจกรรมเด็กนะครับ เพียงแค่เท่าที่มี ดูจะยังไม่ได้คิดถึงกิจกรรมคนสูงวัยที่กำลังจะกลายเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี้เท่าที่ควร
แน่นอน โครงการสวน 15 นาที เป็นสิ่งน่าสนับสนุน อยากให้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากทำได้อย่างต่อเนื่องและจริงจังในเชิงคุณภาพมากกว่านี้ น่าเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหามากมายของเมืองกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากเสนอให้เสริมเข้าไปในโครงการ คือ การออกแบบในเชิงรายละเอียดที่ให้ความสำคัญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยให้มากขึ้น
นอกจากพื้นที่สวนระยะใกล้บ้านแล้ว พื้นที่กิจกรรมระยะไกลก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน
งานวิจัยพฤติกรรมผู้สูงวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายชิ้นพบว่า กิจกรรมหลักนอกบ้านระยะไกลออกมาหน่อยของคนกลุ่มนี้ คือ การไปโรงพยาบาล ช้อปปิ้งตามตลาดสดและห้างสรรพสินค้า กินอาหาร ร่วมงานอาสาสมัคร และกิจกรรมทางศาสนา (ดูเพิ่มในบทความ Aging society in Bangkok and the factors affecting mobility of elderly in urban public spaces and transportation facilities และบทความ Mobility, Activities, and happiness in old Age : Case of the elderly in Bangkok)
หากไม่นับโรงพยาบาลที่มีเป้าหมายเฉพาะคือการดูแลและตรวจสุขภาพ พื้นที่ทั้งหมดล้วนแต่เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้สภาพจิตใจของผู้สูงวัยผ่อนคลายและมีความสุขทางใจทั้งสิ้น
ดังนั้น ภาครัฐและนักลงทุนทั้งหลายควรเริ่มหันมามองพื้นที่เหล่านี้อย่างจริงจังมากขึ้นและเริ่มออกแบบโครงการดังกล่าวโดยมีกลุ่มผู้สูงวัยเป็นเป้าหมายหลักของโครงการได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสดสูงวัย ห้างสรรพสินค้าสูงวัย ร้านอาหารสูงวัย ซึ่งสินค้าและบริหารทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่คนสูงวัยโดยเฉพาะ
และจะดีมากยิ่งขึ้นหากเปิดโอกาสให้พนักงานส่วนใหญ่ของโครงการคือคนสูงวัย
หากทำได้จะทำให้พื้นที่ภายในโครงการเหล่านี้มีจังหวะเวลาของกิจกรรมภายที่ช้าลง สอดคล้องกับจังหวะชีวิตและสภาพร่างกายของพวกเขา ผู้สูงวัยจะมีความสบายใจมากขึ้นหากจังหวะเวลาของพื้นที่ชะลอช้าลง
ลองคิดดูนะครับ หากพนักงานขายเป็นวัยหนุ่มสาว แม้จะถูกอบรมอย่างดีให้ดูแลคนสูงวัย แต่จังหวะร่างกายและเวลาของวัยหนุ่มสาวนั้นเร็วกว่ามาก ซึ่งอาจจะสร้างความเกรงใจให้กับลูกค้าสูงวัยได้ แต่ถ้าพนักงานขายก็สูงวัยไล่เลี่ยกัน บรรยากาศจะดีขึ้นมาก ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จะมีมากขึ้น
แม้ส่วนตัวไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ผมเชื่อว่าโครงการที่เจาะกลุ่มลูกค้าสูงวัยจะทำกำไรได้อย่างแน่นอน และยังเป็นการหากำไรที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมด้วย
พื้นที่กิจกรรมบันเทิงนอกบ้านสำหรับคนสูงวัย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญ
ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์ งานสังสรรค์ ฯลฯ ที่เหมาะสม ล้วนส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของคนสูงวัยทั้งสิ้น
กิจกรรมบันเทิงเหล่านี้คือสิ่งที่ยันยันว่าชีวิตของผู้สูงวัยยังมีค่า ยังมีตัวตนในพื้นที่สาธารณะ มิใช่ต้องนอนจมอยู่ในบ้าน พูดให้ชัดก็คือ เป็นสัญลักษณ์ที่บอกพวกเขาว่ายังสามารถใช้ชีวิต “ปกติ” แบบวัยหนุ่มสาวได้ แม้จะไม่เต็มร้อยแบบเดิมก็ตาม
ผมเคยจัดกิจกรรมชื่อ “ลุมพินีสถาน” เมื่อปี พ.ศ.2566 โดยเป็นการเปิดพื้นที่ลานด้านหน้าอาคารลุมพินีสถาน ภายในสวนลุมพีนี ให้เป็นลานลีลาศขนาดใหญ่ที่คนสูงวัยสามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มสาว แต่งตัวสวยงามจัดเต็มออกมาเต้นรำในพื้นที่สาธารณะ อวดโชว์ลีลาเท้าไฟของตนเองให้ทั้งคนรุ่นเดียวกันและรุ่นลูกหลานได้เห็น
มีผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยภายหลังงานผมยังได้รับข้อความมากมายมาขอบคุณและกระตุ้นให้ผมจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หลายคนบอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้เจอเพื่อนเก่านำพาความทรงจำเก่าๆ ที่สวยงามกลับมา บางคนบอกว่าได้มีโอกาสหยิบชุดเต้นรำที่แขวนไว้นานแล้วกลับมาใช้อีกครั้ง ฯลฯ
จากกิจกรรมเชิงทดลองครั้งนั้น ทำให้ผมเห็นว่า มีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากที่โหยหาพื้นที่กิจกรรมบันเทิงในพื้นที่สาธารณะ
ต้องบอกก่อนนะครับว่า ไม่ใช่ว่าพื้นที่ทั้งหลายที่ผมพูดถึงในชุดบทความนี้จะไม่มีอยู่เลยในสังคมไทย แต่ประเด็นก็คือ ปริมาณพื้นที่เหล่านี้ยังมีไม่มากนัก ไม่เพียงพอที่จะรองรับ “สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์” ของไทย ณ ปัจจุบันอย่างแน่นอน
และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจต้องใช้คำว่าขาดแคลนขั้นรุนแรงเลยก็ว่าได้ หากสังคมไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยขั้นสุด” ในปี พ.ศ.2581 ตามรายงานการประเมินของ TDRI ซึ่งหมายความว่า เราจะมีอัตราส่วนผู้สูงวัยมากถึงร้อยละ 30 (คนไทย 3-4 คน จะมีคนสูงวัย 1 คน) ของประชากรทั้งหมด
หากเราปล่อยให้ถึงเวลานั้นจริงโดยมี “พื้นที่สาธารณะสูงวัย” ไม่มากเพียงพอ ปัญหาทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ไปแล้วก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022