ชุมชนจีนในไทยที่ไร้ความคุ้มกัน : สารวัตรทหารจับสายลับก๊กหมิ๋นตั๋ง (1)

ณัฐพล ใจจริง

หลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว ในช่วงแรกชุมชนชาวจีนในไทยยังไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านชัดเจนมากนัก

เห็นได้จากสารวัตรทหารญี่ปุ่นจับกุมคนจีนจำนวนไม่มากนัก

และเมื่อไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปยังดินแดนอาณานิคมของอังกฤษทางตะวันตกและทางใต้แล้ว ติดตามด้วยไทยลงนามในกติกาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น (21 ธันวาคม 2484) ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา (25 มกราคม 2485) แล้ว จากนั้น ความร่วมมือในการจัดตั้งสารวัตรทหารไทย-ญี่ปุ่นก็เริ่มต้นขึ้น

เมื่อ 17 มกราคม 2485 สารวัตรทหารญี่ปุ่น สารวัตรทหารไทยและตำรวจไทยลงนามใน “ข้อตกลงเกี่ยวกับการประชุมประสานงานตำรวจไทย-ญี่ปุ่น” อันมีสาระสำคัญให้ทั้งฝ่ายญี่ปุ่น ไทยมีการปรึกษาหารือและปฏิบัติงานร่วมกัน ต่อมา 7 ตุลาคม 2485 ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่กองอำนวยการคณะกรรมการผสมกับ พ.อ.ฮายาชิ หัวหน้าสารวัตรทหารญี่ปุ่น ในข้อที่ 3 ระบุว่า

ใน “ข้อตกลงเกี่ยวกับการประชุมประสานงานตำรวจไทย-ญี่ปุ่น” ระบุว่า “การจับกุมบุคคลที่กระทำความผิดต่อกองทัพญี่ปุ่นนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นจะไม่กระทำการโดยพลการ แต่หากจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย อาทิ สารวัตรทหารไทย ตำรวจไทย หรือเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นทุกครั้ง แม้จะเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้ขัดขวางขึ้น”

แม้นตามข้อตกลง การดำเนินการของสารวัตรทหารญี่ปุ่นจะต้องร่วมมือกับฝ่ายไทยทุกครั้ง แต่ก็มีบางครั้งที่สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับกุมชาวจีนฝ่ายจุงกิง หรือแขกอินเดียที่ต่อต้านญี่ปุ่นโดยพลการ ไม่บอกฝ่ายไทยทราบ โดยฝ่ายไทยก็ทำการประท้วงการดำเนินการโดยพลการของสารวัตรทหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน (เออิจิ มูราซิมา, 2541, 133)

ต่อมา เมื่อทหารญี่ปุ่นเพิ่มกำลังอยู่ในไทยมากขึ้นอันเป็นเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างคนไทยและทหารญี่ปุ่นมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสื่อสารกันไม่เข้าใจและมีประเพณีแตกต่างกันจึงมีเรื่องวิวาทกันอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ทางไทยจึงได้ตั้งกองสารวัตรผสมไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นอีก 3 หน่วย

1. หน่วยทหารสารวัตรผสม ไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ ณ ศาลาแดง

2. หน่วยทหารสารวัตรผสม ไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ ณ สโมสรไทผิง (ข้างโรงพยาบาลกลาง)

3. หน่วยทหารสารวัตรผสม ไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ ณ ข้างวงเวียนเล็ก ธนบุรี (กองวิชาสนับสนุนการช่วยรบ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, 2566, 205-206)

การสอบสวนผู้ต้องหาชาวจีนของเคมเปไทในจีน

“เคมเปไท” สารวัตรทหารญี่ปุ่น

ในระยะแรกที่ทหารญี่ปุ่นเข้าไทยแล้ว สารวัตรทหารได้จับกุมชาวตะวันตกและบุกเข้าค้นสถานทูตเพื่อค้นสิ่งต้องสงสัยว่าจะมีการครอบครองหรือไม่ เช่น เครื่องรหัสส่งโทรเลขเพื่อป้องกันการรายงานและติดต่อสื่อสารกลับไปยังเมืองแม่ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 63)

พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์ ตำรวจที่ปฏิบัติงานร่วมกับสารวัตรทหารญี่ปุ่นบันทึกว่า ระยะแรกที่ญี่ปุ่นบุกนั้น เมื่อญี่ปุ่นกระทำความผิดต่อคนไทย ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องรายงานต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด ติดตามผู้กระทำความผิดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งหน่วยทหารที่มีผู้กระทำผิดนั้นย้ายหน่วยออกไปแล้ว ต่อมา กองบัญชาการทหารญี่ปุ่นจัดตั้งหน่วยทหารสารวัตรขึ้นจึงมีหน่วยงานที่ประสานงานกันได้

ต่อมา บก.ทหารสูงสุดจัดตั้งกรมประสานงานไทย-พันธมิตรขึ้นที่สนามเสือป่า จึงมีการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องทำร่วมกัน ปกติเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ เช่น คดีต่างๆ มีการประชุมร่วมกันทุกวันเสาร์ตอนเช้า มักเป็นเรื่องทหารญี่ปุ่นกระทำต่อคนไทยบ้าง คนไทยกระทำกับทหารญี่ปุ่นบ้าง ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็มีการตั้งกรรมการออกไปสอบสวนร่วมกัน

พล.ต.อ.จำรัสบันทึกอีกว่า “มีอยู่ไม่น้อยที่สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับคนไทยหรือคนจีน บางทีก็ฝรั่ง ที่มิใช่ชนชาติศัตรูไปสอบสวนควบคุมไว้ ข้าพเจ้ามีหน้าที่ไปติดต่อขอตัวคืนมาให้เราจัดการสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไทย เพราะเหตุเกิดในดินแดนไทย ให้เขามอบหลักฐานมา ส่วนใหญ่มักจะไม่มีหลักฐาน เช่น กรณีคนไทยคนจีนบางรายที่ขโมยน้ำมันเบนซินทหารญี่ปุ่นหรือรับซื้อน้ำมัน เมื่อจับขโมยได้โดยไม่มีของกลาง แต่ฝ่ายญี่ปุ่นสืบสวนได้ความมาค่อนข้างแน่ชัด ทางทหารญี่ปุ่นก็ใช้วิธีทรมาน เอาน้ำสบู่กรอกปากบ้าง เอาเบนซินกรอกปากบ้าง ทั้งนี้ จากปากคำที่ผู้ต้องหาเล่าให้ฟังและมีการทรมานอยู่ไม่น้อยรายจึงพอเชื่อถือความนี้ได้ ส่วนพวกขโมยที่ไม่มีหลักฐานพอสืบสวนขาดพยานหลักฐาน ญี่ปุ่นก็ไม่มีอะไรนำมาให้เราประกอบสำนวนอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ตำรวจไทยก็ต้องปล่อยไป แจ้งให้ทหารญี่ปุ่นทราบผล” (พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์, 2521, 72)

ในช่วงเวลานั้น ที่สารวัตรทหารญี่ปุ่นแบ่งเขตรับผิดชอบออกเป็นหน่วยเหนือและหน่วยใต้

ที่ทำการของหน่วยใต้ตั้งที่บ้านศาลาแดง ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานี

ส่วนหน่วยเหนือตั้งที่ตึกใกล้โรงพยาบาลกลาง ส่วนกองบัญชาการสารวัตรทหารตั้งที่สมาคมพาณิชย์จีน สาทรใต้ อีกหน่วยตั้งที่สวนลุมพินี

ส่วนทหารหน่วยอื่นๆ กระจายตัวอยู่ทั่วพระนคร เช่น ตั้งแถวกรมทหารม้า สนามเป้า โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย บริเวณสนามของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลย่านสามเสน เป็นต้น (พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์, 2521, 72-73)

ภาพบนหน้าหนังสือพิมพ์ของทั้ง 2 ผู้นำ

การขยายเครือข่ายสายลับจุงกิงมายังไทย

ในช่วง 2481-2488 ก๊กมินตั๋งมีสายลับในสังกัดราว 13,500 คน ทั้งสายลับสืบข่าว สายลับทหาร สายลับปฏิบัติการ สายลับสื่อสารและสายลับแบบกองโจร สายลับทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของนายพลไต๋ลี่ ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับของก๊กมินตั๋ง (Dai Li; 1897-1946 ) (Frederic Wakeman Jr.,2003,268)

จากความทรงจำของเสิ่นจุ้ย อดีตสายลับทหารก๊กมินตั๋ง ต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับหัวหน้าในหน่วยสืบราชการลับของไต๋ลี่ ผู้เล่าปฏิบัติการของหน่วยสายลับของก๊กมินตั๋งภายหลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งเมื่อ 2492 ไว้ว่า ภายหลังที่ญี่ปุ่นบุกจีนแล้ว หน่วยได้ขยายสายลับจากราว 2,000 คนเป็น 50,000 คนในชั่วเวลาอันสั้น

เครือข่ายสายลับมีความโยงใยกันเหมือนใยแมงมุมขนาดใหญ่ ทุกแห่งทุกหนในจุงกิง ในช่วงนั้น หน่วยมีสายลับถึง 20,000 คน มีทั้งในโรงพยาบาล โรงแรม ร้านค้า โรงเรียน (เสิ่นจุ้ย, 2540, 133)

ภารกิจของหน่วยสายลับของไต๋ลี่ มีขอบเขตกว้างขวางมาก โดยเน้นหนักในการรวบรวมข้อมูลและสอดส่องความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน องค์กรก้าวหน้าต่างๆ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเจียงไคเช็กต่างๆ (เสิ่นจุ้ย, 2540, 19)

แม้ว่าญี่ปุ่นจะบุกจีน (2481) และต่อมา ก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว แต่ภารกิจของหน่วยสืบราชการลับแม้นจะเปลี่ยนจากการต่อต้านการดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนไปสู่การจัดขวางการต่อต้านญี่ปุ่นของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างลับๆ ด้วย ตามนโยบายของเจียงไคเช็กที่ว่า “รบนอกต้องปราบในก่อน” (เสิ่นจุ้ย, 2540, 77-78)

ในช่วงเวลานั้น ภารกิจของสายลับจีนในการต่อต้านญี่ปุ่นและต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนและขยายเครือข่ายสายลับออกในภูมิภาคอันเป็นแนวหลังของการรบในจีน คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเขตยึดครองของญี่ปุ่นจึงเป็นภารกิจที่มีความจำเป็นต่อจีนอย่างมาก ก๊กมินตั๋งได้ส่งสายลับแทรกซึมเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ของไทยที่เป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นด้วย

ด้วยเหตุนี้ นับแต่สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระเบิดขึ้น รัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็กจึงก่อตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับกิจการในไทย (2485) มีสำนักงานตั้งที่จุงกิง สังกัดกรมวิเทศสัมพันธ์ของก๊กมินตั๋ง และมีการจัดตั้งหน่วยทหารรับผิดชอบการทหารต่อไทย (2486) ตั้งที่เมืองเชียงรุ้ง เป็นหน่วยที่รับผิดชอบการส่งหน่วยใต้ดินเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในไทย รวมทั้งช่วยเหลือเสรีไทยเข้ามาในไทยในช่วงปลายสงครามด้วย (เออิจิ มูราซิมา, 2541, 135)

ส่วนการดำเนินการต่อต้านการข่าวและการจับสายลับของก๊กมินตั๋งในช่วงสงครามของหน่วยสารวัตรผสม ไทย-ญี่ปุ่น จะจับกุมอย่างน่าตื่นเต้นอย่างไร โปรดติดตามต่อในตอนหน้า

ตึกกรมประสานงานพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น ในบริเวณสนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา
ทหารญี่ปุ่น
ทหารญี่ปุ่น ติดปลอกแขนสารวัตรทหาร
สภาพถนนเยาวราช ช่วง 2480 เครดิตภาพ : Akkarachai Angsupokai