ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
หนึ่งในซีรีส์/ละครโทรทัศน์ไทยที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง (ทั้งแง่มุมด้านบวกและลบ) ในปี 2567 ก็คือ “แม่หยัว”
คิดว่าคนที่ได้ชมซีรีส์/ละครเรื่องนี้ครบถ้วนทั้ง 10 ตอน คงสังเกตเห็นสิ่งที่อาจจะเป็นทั้ง “ลักษณะเด่น” “จุดแปลกประหลาด” และ “ปัญหาใหญ่” ของ “แม่หยัว”
นั่นก็คือ ทีมงานผู้สร้างได้ตัดสินใจที่จะไม่กล่าวถึงตัวละครร่วมยุคอย่าง “พระเทียรราชา” และ “สุริโยไท” เลย ราวกับตัวแสดงทางการเมืองกลุ่มนี้ไม่มีตัวตนอยู่ใน “ประวัติศาสตร์”
หากจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจัง แนวทางที่คนทำซีรีส์ “แม่หยัว” เลือก ก็คือการนำเอา “ส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์” มาขยายให้ใหญ่โต เหมือนกับมันเป็น “ภาพรวมทั้งหมด” ของประวัติศาสตร์หน้าดังกล่าว
แลกมากับการที่ซีรีส์ต้องสูญเสียศักยภาพในการอธิบายความสืบเนื่อง ตลอดจนภาวะแตกหักตัดขาด ที่บังเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หน้านั้น
รวมถึงเป็นการลดทอนมิติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในสมัยอยุธยา ให้กลายเป็นเพียงปัญหาเรื่องกิเลสตัณหาและความมัวเมาในอำนาจของมนุษย์ไม่กี่คน
พูดสั้นๆ อีกแบบได้ว่า “ประวัติศาสตร์ในแม่หยัว” เป็นประวัติศาสตร์ที่มองไม่เห็นยุคสมัยทั้งยุค
แต่ถ้าจะพยายามทำความเข้าใจผู้สร้างมากขึ้น ทางเลือกเช่นนี้ก็เป็นการนำเอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบันได้น่าสนใจไม่น้อย
ไม่ว่าเหตุผลหลักจะเป็นเพราะคนสร้างต้องการให้ซีรีส์โฟกัสไปที่ตัวละครนำเด่นชัดขึ้น ด้วยโครงสร้างเรื่องราวที่กระชับขึ้นและซับซ้อนน้อยลง หรืออาจจะเป็นเพราะความต้องการที่ไม่อยากให้ “แม่หยัว 2567” มีลักษณะซ้ำรอยกับ “สุริโยไท 2544” ของ “ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” มากเกินไป
กระนั้นก็ดี เรื่องเล่าของ “ยุคสมัยที่ขาดพร่อง” ใน “แม่หยัว” กำลังบ่งบอกเราว่า ประวัติศาสตร์สามารถถูก “ตัดตอน” ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดกับ “แม่หยัว” นั้น เป็นการมองย้อนกลับไปยัง “ประวัติศาสตร์อันไกลโพ้น” เพื่อเลือกหยิบ “อดีตบางส่วน” มาใช้สอยในปัจจุบัน
ทว่า เรื่องที่อยากชวนคุยชวนคิดในอีกมุมหนึ่ง ก็คือ เวลาพวกเรา ณ ยุคปัจจุบัน ทำการวิเคราะห์สถานการณ์-ภาพรวมต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง เพื่อประเมินความเป็นไปได้ใน “อนาคตทั้งไกลและใกล้”
เราได้ลงมือ “ตัดตอน-มองข้ามประวัติศาสตร์ระยะใกล้” หน้าไหนไปบ้าง? หรือเลือก “ตัดทอนส่วนเสี้ยวองค์ประกอบของยุคสมัยปัจจุบัน” ชิ้นใดทิ้งไป?
คิดว่าแต่ละคน (ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์และไม่โกหกหลอกลวงตัวเองจนเป็นนิสัย) ก็คงมีคำตอบอยู่ในใจว่า เราตัด “เหตุ-ปัจจัย-ข้อเท็จจริง” อะไรออกไปจากวิสัยทัศน์ของตนบ้าง
แน่นอน ปลายทางที่เราพบเจอก็ไม่คงไม่แตกต่างจาก “ยุคสมัยอันกะพร่องกะแพร่ง” ซึ่งปรากฏในซีรีส์เรื่อง “แม่หยัว”
โดยราคาที่พวกเราต้องจ่าย ก็คือ อาการไม่เข้าใจ “ภาพรวมของยุคสมัย” อย่างที่มันเป็นจริงๆ
บางคนอาจ “หลงทาง-ออกนอกลู่นอกทาง” หรือบางคนอาจพเนจรร่อนเร่ไป “ผิดทิศผิดทาง” หรือมองเห็นอะไรแบบ “ผิดฝาผิดตัว” ไปไกลสุดกู่
นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ลงมือ “ตัดทอน” อะไรออกไปจากการมองโลกของตนเอง
คงมีคนอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจถูก ด้วยการเลือกขจัด “รายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ค่อยมีสาระ” ทิ้งไปเสียบ้าง จนสามารถเดินมุ่งหน้าไปบนหนทางอันราบรื่นและกระจ่างแจ้งชัดเจน
แต่โชคร้าย ที่เราส่วนใหญ่มักเผอเรอตัด “สาระสำคัญ” ทิ้งไป จนพบเจอเพียงปัจจุบันและอนาคตอัน “ขาดพร่อง” •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022