กองทัพประชาชนจีน พัฒนาก้าวกระโดดรับศกใหม่

เมื่อปี 2000 รัฐสภาสหรัฐอเมริกามีมติกำหนดภารกิจให้กระทรวงกลาโหมต้องจัดทำรายงานตรวจสอบพัฒนาการด้านการทหารของกองทัพประชาชนจีน (พีแอลเอ) นำเสนอต่อคองเกรสเป็นประจำทุกปี

เป็นที่มาของรายงานประจำปีว่าด้วยสถานะล่าสุดของพีแอลเอ เท่าที่สามารถเปิดเผยได้ ที่ได้รับการจับตามอง เฝ้าติดตามกันอย่างมากในฐานะเอกสารเผยแพร่ที่แสดงให้เห็นสถานะที่แท้จริงของพีแอลเอ ที่ดีที่สุด และรอคอยกันมากที่สุดในแต่ละปี

รายงานดังกล่าวฉบับล่าสุด หนา 182 หน้า เผยแพร่ออกมาเมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงให้รายละเอียดถึงสถานะปัจจุบันของพีแอลเอไว้เท่านั้น

ยังมีตารางเปรียบเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพีแอลเอได้แจ่มชัดอีกด้วย

 

รายงานฉบับนี้ประเมินไว้ว่า งบประมาณทางด้านการทหารของจีนนั้น จริงๆ แล้วสูงกว่างบฯ กลาโหมที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 1.5 ถึง 2 เท่าตัว คิดเป็นเม็ดเงินราว 330,000 ล้าน ถึง 450,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นงบฯ ทหารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา

โดยมีเป้าหมายกำหนดไว้ชัดเจนอย่างยิ่ง คือการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยและมีขีดความสามารถสูง เพื่อรองรับการคุกคามจากสหรัฐ และพันธมิตรได้นั่นเอง

หัวข้อสำคัญที่รายงานนี้เน้นไว้เป็นพิเศษก็คือ การพัฒนากองกำลังทางนิวเคลียร์ของพีแอลเอ ที่ยังคงมุ่งเป้าขยายใหญ่ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

ในขณะเดียวกันก็ต้องทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง

โดยประเมินไว้ว่า ณ เวลานี้ จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้ปฏิบัติการได้อยู่มากกว่า 600 หัวรบ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ไม่เกิน 500 หัวรบ

ทั้งยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ภายในปี 2030 จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 หัวรบ

ขณะที่จะยังคงรักษาแนวทางการขยายทั้งสมรรถนะและขนาดของกองกำลังนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

 

กองทัพประชาชนจีน สร้างฐานขีปนาวุธใหม่แล้วเสร็จได้อีก 3 ฐานในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

เป็นฐานสำหรับขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) พร้อมคลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์หรือไซโล 320 ไซโล

ในขณะเดียวกันก็กำลังเร่งพัฒนาไอซีบีเอ็ม รุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูง มีความเสถียรสูง อยู่อย่างต่อเนื่อง เพิ่มการติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีปไว้กับเรือดำน้ำ ที่ลาดตระเวนอยู่ในพิกัดซึ่งอยู่ในพิสัยโจมตีต่อดินแดนสหรัฐอเมริกาได้

ทั้งยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พีแอลเอกำลังพิจารณาพัฒนาระบบยิงขีปนาวุธแบบเคลื่อนที่ด้วยราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีอีกด้วย

รายงานที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกานี้ยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้จีนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของคลังแสงขีปนาวุธเหนือเสียงระดับแถวหน้าของโลกแล้ว

แต่ยังไม่ยอมหยุดยั้งอยู่แค่นั้น เพราะกำลังหันมาพัฒนา “ระบบเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ผ่านบางส่วนของวงโคจรในอวกาศ” และระบบอากาศยานร่อนที่มีความเร็วเหนือเสียงขึ้นอีกด้วย

 

ที่น่าสนใจก็คือ รายงานชิ้นนี้ระบุว่า “พีแอลเอกำลังดำเนินการเพื่อติดตั้งระบบ ‘ยิงโจมตีเมื่อได้รับคำเตือน’ (launch on warning หรือ LOW) ซึ่งเป็นระบบการโจมตีโต้ตอบต่อข้าศึกในทันทีที่มีคำเตือนว่าตนตกเป็นเป้าของขีปนาวุธศัตรู โดยต้องตอบโต้ก่อนที่ขีปนาวุธศัตรูลูกแรกจะถูกจุดระเบิด โดยมีเป้าหมายติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในทศวรรษนี้”

รายงานตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “พัฒนาการไปสู่ความทันสมัยของพีแอลเอนั้น เห็นได้ชัดว่าต้องการก่อให้เกิดความเสียหายให้เกิดขึ้นกับข้าศึกให้มหาศาลกว่า ในกรณีที่ต้องตอบโต้กันในสงครามนิวเคลียร์”

ประเด็นถัดมาที่ถูกเน้นไว้ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ก็คือ จีนยังคงการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ และความพร้อมในการทำสงครามให้กับทหารของตนเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของกองทัพเรือของกองทัพประชาชนจีน (พีแอลเอ-เอ็น) ที่ได้รับคำสั่งให้ “กองเรือผิวน้ำ” คงความพร้อมเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ในระดับที่สามารถระดมสมรรถนะในระยะสั้นๆ ให้สามารถรองรับและตอบสนองต่อ “เหตุที่อาจเกิดขึ้นได้” ใดๆ ในระดับภูมิภาคได้

ในขณะที่ “กองเรือดำน้ำ” ก็อยู่ในฐานะที่มีความพร้อมในระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกเพื่อสร้างความพร้อมในระยะปฏิบัติการในจุดที่ “ห่างไกลออกไปจากแผ่นดิน และกินระยะเวลายาวนานกว่าเดิม”

 

ในส่วนของกองทัพอากาศ (พีแอลเอ-เอเอฟ) นั้น รายงานระบุว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ผ่าน “การปฏิรูปครั้งใหญ่” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้าง “กองบินรบระดับมืออาชีพ” โดยองค์ประกอบหลักของการปฏิรูปดังกล่าวก็คือ การซ้อมรบและการฝึกภายใต้ “สถานการณ์การสู้รบจริง” ซึ่งรวมถึงการฝึกและการซ้อมรบในฉากทัศน์ “ที่จำลองมาจากสถานการณ์สู้รบในความเป็นจริง”

สำหรับ กองทัพบกของกองทัพประชาชน (พีแอลเอ-เอ) นั้น “ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงกลยุทธ์และการยกระดับมาตรฐานของการซ้อมรบขึ้นสู่ระดับสูง” อย่างต่อเนื่อง

ส่วนหน่วยรบพิเศษที่พีแอลเอเรียกว่า “ร็อกเก็ต ฟอร์ซ” นั้น ก็ “ฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงอยู่เป็นกิจวัตร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโจมตี “สนามบิน บังเกอร์ อากาศยานและเรือรบจำลอง”

แสดงให้เห็นว่าพีแอลเอต้องการความพร้อมสูงในการโจมตีตอบโต้การโจมตีของฝ่ายตรงกันข้าม

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจในรายงานชิ้นนี้อีกประเด็นก็คือ จีนกำลังสร้างและลงทุนในการพัฒนากองทัพ ที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการ “ระดับโลก” ไม่ได้จำกัดอยู่ในระยะประชิดกับดินแดนของตนอีกต่อไปแล้ว โดยอาศัยทั้งกองเรือผิวน้ำ และกองเรือดำน้ำ ที่สามารถใช้แม้กระทั่งการโจมตีต่อดินแดนข้าศึกไกลออกไปด้วยจรวดครูส

ในขณะที่กองทัพอากาศก็สามารถขยายพิสัยของเป้าหมายออกไป จากระยะประชิดแต่เดิมเป็นแนวรบชั้นที่สองที่มีอาณาเขตครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นมาก แม้จะปฏิบัติการจากฐานในจีนก็ตามที ในขณะที่กำลังพิจารณาถึงการจัดตั้งฐานและจุดส่งกำลังบำรุงภายนอกประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และแอฟริกา อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ประเด็นสุดท้ายที่ขมวดเอาไว้ในรายงานชิ้นนี้ก็คือ การพัฒนากองทัพให้ทันสมัยและขยายให้มีขนาดใหญ่โตนี้ เป็นไปได้เพราะจีนมีฐานอุตสาหกรรมทหาร “ในระดับเวิลด์คลาส”

ที่ส่งผลให้กองทัพเรือจีนกลายเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ หากยึดถือจำนวนเรือรบและเรือดำน้ำเป็นสำคัญ เป็นต้น