ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
26 ธันวาคม 2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.1 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่มีใครคาดคิดว่า แผ่นดินไหวรุนแรงดังกล่าว จะกลายเป็นที่มามหันตภัยครั้งใหญ่ของโลก
เพราะแผ่นดินไหวดังกล่าว ได้ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ถาโถมเข้าใส่หลายประเทศที่อยู่ติดกับทะเลอันดามัน และคลื่นยังไปไกลถึงแอฟริกาตะวันออก
สึนามิครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 230,000 ราย ในสิบกว่าประเทศ ในจำนวนนั้น เป็นผู้เสียชีวิตที่จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย ถึง 160,000 ราย
ผ่านไป 20 ปี ตอนนี้ อาเจะห์ที่เสียหายอย่างหนักจากสึนามิ กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง และมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่แข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสึนามิ มีระบบเตือนภัยติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับชายฝั่ง เพื่อไว้เตือนภัยชาวบ้านกรณีมีความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้น
โรงเรียนมัธยมที่ลกงา ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเพียง 1 กิโลเมตร และเคยราบเป็นหน้ากลองไปเพราะสึนามิครั้งใหญ่ ถูกปลูกสร้างอาคารขึ้นมาใหม่
ตอนนี้ ก็จะมีการจำลองภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียน ให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้น นักเรียนจะต้องหลบเข้าใต้โต๊ะ และรอจังหวะที่จะมีการเรียกไปรวมตัวที่จุดรวมพลที่กำหนดเอาไว้บริเวณสนามหน้าโรงเรียน
ตอนนี้ ครูที่โรงเรียนแห่งนี้บางคนก็เป็นผู้รอดชีวิตจากสึนามิครั้งใหญ่ และเป็นผู้ที่มาถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าสะพรึงของภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ คลื่นยักษ์ที่สูงใหญ่ถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง
เอกา ซารี เทวี ผู้อำนวยการของโรงเรียนบอกว่า อยากจะให้นักเรียนได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสึนามิ ไม่อยากให้พวกเขาไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่ามีโศกนาฏกรรมที่อาจจะทำให้ใครบางคนรู้สึกหดหู่ และวันนี้ คนรุ่นใหม่จะต้องรู้ว่า จะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดสึนามิขึ้น
นั่นคือเหตุผลที่เทวี ทำตามนโยบายของรัฐบาลในการให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิ สอนพวกเขาเมื่อมีการแจ้งเตือน และให้เตรียมพร้อมสำหรับการอพยพไปยังที่ที่ปลอดภัย
โดยทุกๆ วันที่ 26 ของเดือน จะมีการจำลองภัยพิบัติขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ตื่นตัวและพร้อมเมื่อมีเสียงกริ่งแจ้งเตือนดังขึ้น
นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า การจำลองเหตุการณ์นี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะหากเกิดภัยพิบัติขึ้น พวกเขาก็จะรู้ว่าจะต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างไร
ฟาซิล หัวหน้าฝ่ายเตรียมความพร้อม แห่งสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งอาเจะห์ บอกว่า การจำลองภัยพิบัติมีขึ้นเพื่อสร้างศักยภาพของชุมชนโรงเรียน สร้างความตระหนักรู้ และเตรียมนักเรียนให้พร้อมเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิให้แก่นักเรียน เพื่อให้แน่ใจว่า พวกนักเรียนจะเตรียมพร้อมตลอดเวลาและทุกๆ ที่
“ความหวังใหญ่สุดคือการทำให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุดหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในอนาคต” ฟาซิลกล่าว
คูร์ราตา อายูนิ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากสึนามิใหญ่ ที่ตอนนี้อายุ 28 ปีแล้ว และหันมาเปิดร้านคาเฟ่ขึ้นในชุมชน ขณะที่ตอนนั้นเธออายุเพียง 8 ปี และรอดมาได้ เพราะเธอไปอยู่ที่บ้านของอา ที่บันดาอาเจะห์ ไม่ได้อยู่ที่บ้านของเธอที่ลัมพุก แต่ชีวิตวัยเด็กของอายูนิต้องพังทลายลงไปจากคลื่นยักษ์ ที่พลัดพรากชีวิตของพ่อแม่ และน้องสาวของเธอไปอย่างไม่มีวันกลับ
โดยอายูนิบอกว่า เธอหวังว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่งอาเจะห์เคยโดนคลื่นยักษ์สึนามิถล่มอย่างรุนแรง และตอนนี้ แม้ว่าอาคารบ้านเรือนต่างๆ จะปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ และมีความแข็งแกร่งอย่างมาก เศรษฐกิจก็ฟื้นกลับมาอีกครั้ง
แต่อายูนิก็ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ลืมเหตุการณ์ในอดีตอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนไปนับแสน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022