ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
เจมส์ ชิน (James Chin) นักวิชาการชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาแห่งสถาบันเอเชีย (Asia Institute) มหาวิทยาลัยทาสมาเนีย (University of Tasmania) เมืองโฮบาร์ต ประเทศออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซียและสิงคโปร์
ได้เขียนบทความเรื่อง Anwar’s pick of Thaksin as adviser could be good not just for Malaysia, but ASEAN as a whole เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าว Channel News Asia หรือ CNA ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางลิงก์ https://www.channelnewsasia.com/commentary/thaksin-anwar-asean-malaysia-thailand-adviser-politics-4815991
โดยวิเคราะห์ถึงกรณีที่อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้แต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับตำแหน่งประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี พ.ศ.2568
เจมส์ ชิน คิดว่านี่เป็นการตัดสินใจของอันวาร์ที่ชาญฉลาดและสร้างความประหลาดใจไปทั่วภูมิภาค โดยคาดว่าจังหวะก้าวนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ในอาเซียน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.วิกฤตการณ์ในเมียนมา และ 2.การรุกคืบของจีนสู่ทะเลจีนใต้
ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายที่ยากจะหาทางออกได้ และอาเซียนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยตลอดขวบปีที่ผ่านมาในระหว่างที่ลาวเป็นประธานอาเซียนอยู่
ทั้งนี้ก็เพราะเงื่อนไขเรื่องชัยภูมิของลาวซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกไปสู่ทะเล ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศอื่นโดยรอบ อันนำมาสู่ข้อจำกัดทางการทูต จนต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนของประชาคมอาเซียนทั้งภูมิภาคไปโดยปริยาย
ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการผลัดใบที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนคนใหม่จะสร้างบทบาทที่แตกต่างให้กับอาเซียนในเวทีนานาชาติได้
และด้วยบุคลิกแบบอันวาร์ อิบราฮิม ที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ดังที่เคยแสดงท่าทีอย่างเด่นชัดต่อกรณีพิพาทระหว่างชาติมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตในพม่าหรือว่าปัญหาปาเลสไตน์ ก็ทำให้มีแนวโน้มว่าอาเซียนจะขยับไปสู่การคลี่คลายปมต่างๆ ที่ค้างอยู่อย่างจริงจังและมีพลังกว่าเดิม
คำถามที่ตามมาก็คือแล้วอันวาร์จะได้อะไรจากทักษิณ?
เจมส์ ชิน คิดว่าสิ่งที่ได้คือคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ตรงมาอย่างยาวนาน เครือข่ายความสัมพันธ์ซึ่งหาไม่ได้ทั่วไป ข้อมูลความรู้จากวงใน ตลอดจนมุมมองที่แตกต่างจากปกติ โดยไม่มีข้อผูกมัดว่าจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำเหล่านั้นหรือไม่
และแม้ว่าการแต่งตั้งลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อาเซียนก็ตาม แต่ก็เคยมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วในระดับโลก
สำหรับเหตุผลสำคัญของการเลือกบรรดาที่ปรึกษาอาวุโสทั้งหลายนั้น ก็เพราะว่าพวกเขาไม่ได้มาเพียงตัวเปล่าๆ หากแต่ยังนำเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัวมาด้วย
ซึ่งจะช่วยให้อันวาร์ก้าวพ้นจากข้อจำกัดในเรื่องกฎระเบียบทางราชการและระเบียบพิธีการต่างๆ อันเป็นอุปสรรคไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา ทว่าคนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนัก
เมื่อพิจารณาอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละพื้นที่ ก็จะเห็นว่าทักษิณมีคุณค่าที่อันวาร์พึ่งพาได้ อย่างเช่นเมียนมาซึ่งทักษิณมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหาร และการที่ไทยกับเมียนมามีพรมแดนยาวติดกันก็ยิ่งทำให้เขามีราคาต่อรองอันเอื้อต่อการเจรจาให้ลุล่วง
นอกจากมีสายป่านกับทางเมียนมาแล้ว ทักษิณยังมีความสัมพันธ์แนบชิดกับประเทศอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นบรูไน สิงคโปร์
และกัมพูชาที่เขามีความสนิทชิดเชื้อกับสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในอาเซียนว่ากัมพูชามีสัมพันธไมตรีที่ดีกับจีนเป็นพิเศษ
อีกเรื่องหนึ่งที่เจมส์ ชิน มองว่าอันวาร์จะได้จากการขยับครั้งนี้ก็คือ ทักษิณสามารถผลักดันนโยบาย “6 ประเทศ 1 เป้าหมาย” ที่เจริญรอยตามวีซ่าเชงเก้นของยุโรป ด้วยการออกวีซ่าเพียงครั้งเดียวแต่สามารถเที่ยวครอบคลุมได้ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย
ซึ่งจะช่วยทำให้การขจัดปัญหาที่รอยตะเข็บชายแดนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการลักลอบข้ามแดน การขนส่งยาเสพติด การสร้างเส้นทางคมนาคมต่างๆ ทั้งถนนและรถไฟ อันนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามมา
ยกตัวอย่างเช่น แผนการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างสุไหงโก-ลกของไทยกับกลันตันของมาเลเซียให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
ดังนั้น ทักษิณจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของอันวาร์สำหรับสนับสนุนงานในพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม เจมส์ ชิน คิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลสัมฤทธิ์ในเรื่องนี้ จึงไม่ควรด่วนตัดสินว่าการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาจะช่วยให้อันวาร์บรรลุภารกิจได้สำเร็จหรือไม่ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาต่อไปในอนาคตด้วย
เช่น ข้อครหาเรื่องคอรัปชั่นของทักษิณซึ่งสร้างความกังวลมาให้แก่หลายฝ่าย
แต่เจมส์ ชิน เห็นว่าข้อกล่าวหานี้หาได้มีแค่เรื่องการทุจริตแท้ๆ อย่างที่คิดกัน ทว่าเกี่ยวพันกับความอลหม่านของการเมืองไทยซึ่งแกว่งไกวไปตามอำนาจที่อยู่ข้างหลัง
อันที่จริงหากพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่าทักษิณยังคงมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนมหาศาลและมีพลังอำนาจในการเจรจาต่อรองสูง
ดังที่เห็นได้จากการดีลตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ตกอยู่ในมือของ “แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวคนสุดท้องของตนได้สำเร็จ
นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตแล้ว ปัจจัยอีกข้อหนึ่งก็คือรายชื่อของคณะที่ปรึกษาซึ่งยังไม่ได้ประกาศออกมาว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีใครอยู่ในนั้นบ้าง
แต่คาดหมายว่าชื่อที่น่าจะอยู่ในโผมาจากหลากหลายประเทศ เช่น จอร์จ เยียว (George Yeo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์
รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย และผู้อาวุโสจากฟิลิปปินส์ เป็นต้น
แม้การเดินหมากของอันวาร์จะยังไม่สามารถสรุปผลลัพธ์ได้ก็ตาม
แต่เจมส์ ชิน คาดว่าถ้าอันวาร์คิดถูก ปัญหาที่หมักหมมไว้ย่อมถูกแก้และคลี่คลายลงได้
ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่มาเลเซียเท่านั้น หากแต่ยังตกไปถึงทุกชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดทั้งมวลด้วย
ยิ่งในสถานการณ์โลกอันผันผวนเช่นนี้ ท่าทีต่อการรับมือกับสถานการณ์ก็ยิ่งสำคัญและเป็นโจทย์ที่ยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเรื่องจีน ซึ่งทำให้การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวีความซับซ้อนกว่าเดิม
ความพยายามรวบรวมอดีตผู้นำที่มีชื่อเสียงและเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว จึงเป็นก้าวย่างสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอันยุ่งเหยิง ที่กำลังคืบคลานเข้ามาท้าทายต่ออนาคตของประชาคมอาเซียนในปีนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022