จรัญ มะลูลีม : การต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย (จบ)

จรัญ มะลูลีม

การสนับสนุนของอิหร่านต่อกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ของเลบานอนนั้นเป็นที่รู้จักกันดี จนถึงเวลานี้กองกำลังฮิสบุลลอฮ์ของเลบานอนได้กลายมาเป็นเสาหลักในการต่อต้านอิสราเอลไปเรียบร้อยแล้ว

กองกำลังฮิสบุลลอฮ์ยังได้เข้าช่วยรัฐบาลอะสัดด้วยการส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปร่วมรบกับไอเอสในซีเรีย

นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่าอิหร่านมีบทบาทสำคัญในการช่วยประธานาธิบดีอะสัดเอาชนะการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในช่วงปี 2011 โดยกองกำลังเหล่านี้ส่วนหนึ่งสนับสนุนโดยซาอุดีอาระเบีย

การเข้ามาสนับสนุนโดยอิหร่านทั้งในซีเรียและอิรักเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การยุติการขยายพื้นที่ของกองกำลังไอเอส

และยังทำให้อิหร่านขยายอำนาจลงไปในหลายพื้นที่ของตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกเริ่มจากกรุงเตหะราน ผ่านมาทางกรุงแบกแดดของอิรัก กรุงเบรุตของเลบานอน จนถึงกรุงดามัสกัสของซีเรีย

 

ในอิรักกองกำลังของอิหร่านได้เข้าช่วยกองกำลังของอิรักต่อสู้กับกองกำลังไอเอสทั้งในทางอากาศและการใช้อุปกรณ์การทำสงคราม

กองกำลังบัดร์ (Badr) ซึ่งเป็นกองกำลังหลักของชาวชีอะฮ์ที่ยู่ภายใต้การวางระเบียบการรบของอิหร่านในเวลานี้ได้กลายเป็นกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของอิรักที่มีความสำคัญและถูกตั้งขึ้นมาให้มีความคล้ายคลึงกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC)

ท่ามกลางความประหลาดใจของประเทศทั้งหลาย ซาอุดีอาระเบียได้เข้ามาร่วมกับอิสราเอลเพื่อหยุดยั้งการมีอำนาจเพิ่มขึ้นของอิหร่านซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็มีความหวาดเกรงอิหร่านอยู่ในเวลานี้

7 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีพลังงานของอิสราเอลได้ออกมายืนยันในสิ่งที่เขาเรียกว่าการติดต่อแบบ “ปกปิด” ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลท่ามกลางความสนใจของอิหร่าน แต่ก็แนะนำว่าซาอุดีอาระเบียต้องการให้ความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างลับๆ

อิสราเอลมองว่าซาอุดีอาระเบียเป็นพันธมิตรตามธรรมชาติเนื่องจากมีศัตรูร่วมกันเป็นอิหร่าน โดยอิสราเอลมองว่าอิหร่านเป็นสิ่งคุกคามที่ดำรงอยู่

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาในพื้นที่ในเวลานี้จึงเป็นการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐ อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย

 

ทั้งซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลต่างก็เคยอยู่ในเส้นทางของความไม่ลงรอยกับโอบามามาก่อนว่าด้วยข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 แต่ทั้งสองประเทศก็ได้กลายมาเป็นคู่หูของทรัมป์ที่พยายามจะรื้อฟื้นการแซงก์ชั่นอิหร่านว่าด้วยข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์กับประเทศสมาชิกสภาความมั่นคงของสหประชาชาติห้าประเทศ บวกเยอรมนีอีกหนึ่งประเทศขึ้นมาใหม่

อิหร่านประสบความสำเร็จในการสร้างกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ของเลบานอนขึ้นมาสู้กับอิสราเอล โดยกองกำลังชีอะฮ์มุสลิมกองกำลังนี้สามารถหยุดยั้งกองทัพอิสราเอลที่เข้ามาในเลบานอนเอาไว้ได้ถึงสองครั้งสองคราในปี 2000 และ 2006

โดยในเวลานั้นหนังสือพิมพ์ The Economist ถึงกับกล่าวว่า Nasrallah wins the War หรือนัศรัลลอฮ์ (นัศรุลลอฮ์) ผู้เป็นผู้นำของกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ชนะสงคราม

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ ฝ่ายอิสราเอลมักจะผูกขาดชัยชนะกับประเทศอาหรับมาโดยตลอด

 

ในเวลาเดียวกันความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียก็ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพเมื่อสหรัฐและรัสเซียได้เข้ามาสนับสนุนแต่ละฝ่าย

ในซีเรีย อิหร่านและรัสเซียต่างก็ได้สนับสนุนรัฐบาลซีเรียภายใต้อะสัดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียสนับสนุนฝ่ายกบฏ

ในขณะที่สหรัฐต่อต้านกองกำลังไอเอส แต่ก็มิได้ต่อต้านรัฐบาลอะสัดอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงกับมีคำพูดว่าสหรัฐอยากอยู่ในสงครามมากกว่าชนะสงคราม เพราะความขัดแย้งในซีเรียทำให้สหรัฐได้กำไรจากการขายอาวุธให้กับฝ่ายต่างๆ จำนวนมหาศาล ในเยเมน ซาอุดีอาระเบียทำสงครามต่อต้านกบฏฮูษี และปิดล้อมประเทศเยเมนด้วยการถล่มทางอากาศ

นอกจากนี้ สหรัฐยังได้ช่วยให้ซาอุดีอาระเบียเข้าแทรกแซงในเยเมน และเป็นเหตุให้ชาวเยเมนต้องจบชีวิตลงไม่น้อยกว่าหมื่นคน ส่วนในอิรัก ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านก็กำลังแข่งอำนาจกันหลังจากการล่มสลายของกองกำลังไอเอส

ในเลบานอน ซาอุดีอาระเบียต่อต้านกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่านและมีอิทธิพลกว้างขวางในประเทศ อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียก็ล้มเหลวที่จะหยุดยั้งอิทธิพลของอิหร่านในประเทศนี้ แม้ว่าจะเข้าแทรกแซงด้วยการบีบให้นายกรัฐมนตรีอย่างฮารีรีซึ่งมีเชื่อสายซาอุดีอาระเบียลาออกก็ตาม

 

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าความขัดแย้งซาอุฯ-อิหร่านได้กลายมาเป็นแกนกลางในเรื่องของการเลือกข้างพันธมิตรในตะวันออกกลาง โดยซาอุดีอาระเบียได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐและอิหร่านได้รับการหนุนช่วยจากรัสเซีย ส่วนที่เหลือก็เลือกสนับสนุนแต่ละฝ่ายตามความใกล้ชิดของประเทศเหล่านั้น

การขยายตัวของอิหร่านจึงเป็นการขยายการเผชิญหน้ากับซาอุดีอาระเบีย ความขัดแย้งในเยเมนระหว่างกองกำลังที่มีความภักดีต่อประธานาธิบดีมันซูร ฮาดี (Abdrabbuh Mansour Hadi) กับกองกำลังของฝ่ายกบฏฮูษีเป็นสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

ต้นปี 2009 ซาอุดีอาระเบียใช้การรณรงค์ทางทหารต่อต้านกบฏฮูษีในเยเมนแต่ประสบความล้มเหลว

ความล้มเหลวดังกล่าวทำให้ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เข้ามาสนับสนุนซาอุดีอาระเบียเพื่อต่อต้านกองกำลังฮูษีในเยเมน

มีความเห็นกันโดยทั่วไปว่าความขัดแย้งในเยเมน ซีเรีย บาห์เรนและปากีสถานจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต โดยรูปแบบของสงครามตัวแทนระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะทวีความเข้มข้นขึ้น ความเป็นไปได้ของการปะทะกันโดยตรงยังคงมีอยู่ ซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ และหากเกิดขึ้นจริง ตะวันออกกลางก็คงจะต้องตกอยู่ในความมืดของสงครามแย่งชิงอำนาจต่อไปอีกยาวนาน

ความเป็นศัตรูระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละในอนาคต และจะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านหากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ไม่สามารถนำเอาความสมานฉันท์ของสองประเทศสมาชิกกลับคืนมาได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้