ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เส้นทางแห่งอำนาจและบารมีของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงหนึ่งเดียว ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พี่ใหญ่ของ “พี่น้อง 3 ป.” จัดอยู่ในช่วงขาลง
นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดย พล.อ.ประวิตร ยังคงนั่งหัวหน้าพรรค พปชร. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แยกวงไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.)
ซึ่งพรรคของพี่น้อง 2 ป. ไม่ประสบความสำเร็จ พ่ายให้กับพลพรรคสีส้ม อย่างอดีตพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เข้าป้ายได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 151 เสียง
ขณะที่พรรค พปชร.ได้ ส.ส.มา 40 ที่นั่ง ขณะที่พรรค รทสช.ได้ผู้แทนฯ มา 36 เสียง แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ ทำให้อดีตพรรค ก.ก. รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เกมการจัดตั้งรัฐบาลจึงไหล มาที่พรรคเพื่อไทย (พท.)
รวมเสียงของพรรคขั้วอำนาจเก่า ที่มีพรรค 2 ลุงร่วมอยู่ด้วย พร้อมกับโหวตเลือก “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
โดยพรรค พปชร.ได้โควต้า 2 รัฐมนตรีว่าการ กับ 2 รัฐมนตรีช่วย
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ยังคงนั่งเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.เพียงเก้าอี้เดียว โดยส่งน้องชาย อย่าง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของพรรค พท. ต่อการทำหน้าที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเศรษฐา ของพรรค พปชร.
จนนำมาสู่เกมล้มรัฐบาลเศรษฐา และการวิเคราะห์กันว่า เพราะคนใกล้ชิดป้อนข้อมูลจนเกิดความหวังว่า “บิ๊กป้อม” จะได้นั่งเป็นนายกฯ ได้ ก่อนที่ 250 ส.ว.ชุดเฉพาะกาลจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567
ผ่านปฏิบัติการของ 40 ส.ว.ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ
เป็นผลให้ “เศรษฐา” ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ทําให้ต้องเลือกผู้นำฝ่ายบริหารกันใหม่ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ด้วยคะแนนเสียง 319 ต่อ 145 เสียง
พร้อมกับเดินเกมฟอร์ม ครม.แพทองธาร 1 ผ่านปฏิบัติการตัดทิ้งพรรคของคนบ้านป่าฯ อย่างพรรค พปชร. พ้นจาก ครม.แพทองธาร 1
ผ่านสัญญาณชัดของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ออกมาเปิดเผยว่า คนในบ้านป่าฯ สร้างความวุ่นวายทางการเมือง พร้อมกับการเช็กบิลบิ๊กบราเธอร์แบบทบต้นทบดอก ผ่านการเขี่ยพรรค พปชร.พ้นจาก ครม.อุ๊งอิ๊ง
จากที่เคยเรืองอำนาจถึงขีดสุดในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงปี 2557-2566
โดยเฉพาะช่วงปี 2557 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังครองอำนาจ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “บิ๊กป้อม” ได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. ให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษา คสช., รองหัวหน้า คสช., กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง รวมทั้งนั่งเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลงานด้านความมั่นคง พร้อมได้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีอำนาจแบบเต็มมือ
ชนิดที่บ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ต้องแจกบัตรคิวให้กับคณะที่จะเข้าพบ “บิ๊กป้อม”
แต่วันนี้พรรค พปชร. ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” กลับมีเพียงบทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือ ส.ส.พรรค พปชร.ในมือเพียง 20 เสียง ด้วยเหตุไฟต์บังคับทางการเมืองให้ต้องยอมถอย จนต้องจัดประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) กับ ส.ส. เพื่อมีมติขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พร้อมกับ 19 ส.ส.ออกไปสังกัดพรรคกล้าธรรม ที่มี “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม
เพื่อหวังตัดจบการตรวจสอบ “ไร่ภูนับดาว” หลังจาก “ธนดล สุวัณณะฤทธิ์” ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เดินหน้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 ในเขตพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เนื่องจากมีเส้นทางการเงินของผู้บริหารไร่ภูนับดาว เชื่อมโยงมาถึงสาวคนใกล้ชิดของอดีตรองนายกฯ ไม่ให้บานปลายมาถึงพรรคการเมืองต้นสังกัด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีคนข้างกายของ “บิ๊กป้อม” อย่าง “สามารถ เจนชัยกิจวนิช” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะอดีตรองโฆษกพรรค พปชร. ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับข้อหาฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท และถูกนำตัวฝากขัง จนประกาศอดข้างประท้วง กรณีคลิปเสียงเรียกรับผลประโยชน์ “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้บริหารดิไอคอนกรุ๊ป
ทำให้ต้องชิงลาออกจากพรรค พปชร. และสิ้นสภาพในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆ ในสภาอีก 20 คณะ สกัดไม่ให้ลุกลามมาถึงตัวพรรค พปชร.
ซํ้าเติมด้วยฉายาประจำปี 2567 ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภามอบให้เป็น “ดาวดับ” ในการทำหน้าที่ ส.ส. เนื่องจากไม่เข้าประชุมถึง 84 ครั้ง จากจำนวนนัดประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง สะท้อนถึงการขาดความรับผิดชอบการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งการพิจารณากฎหมาย การยื่นกระทู้ถาม และการอภิปรายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
ไม่เพียงแค่ช่วงขาลงของอำนาจทางการเมือง แต่อำนาจของพี่ใหญ่กลุ่ม 3 ป. ยังถดถอยลามไปถึงวงการกีฬา จากการเสียเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย ให้ “พล.ท.บุญชัย เกษตรตระการ” รองจเร กอ.รมน. ด้วยคะแนนแบบขาดลอย 22-231 เสียง ทำให้ขาดคุณสมบัติในการลงชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมัยที่ 3 ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2568
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กป้อม” ครองเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มา 2 สมัยติดต่อกัน วางอำนาจทางการเมืองแฝงวงการกีฬาในระดับเวทีโอลิมปิกฯ มากว่า 8 ปี
การเมืองเริ่มต้นศักราชใหม่ในปี 2568 ด้วยสถานะของ “บิ๊กป้อม” และ “พรรค พปชร.” ยังคงอยู่ในสถานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่บทบาทในงานสภายังไร้ความโดดเด่น ไม่มี ส.ส.มืออภิปราย และเชี่ยวชาญการตรวจสอบรัฐบาลเช่นพรรคประชาชน
คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าบารมีและอำนาจของ “บิ๊กป้อม” ผ่านการขับเคลื่อนพรรค พปชร. ยังคงอยู่ในช่วงขาลงอีกเรื่อยๆ
ยากที่จะมีปัจจัยมาเปลี่ยนเกมการเมืองให้ “บิ๊กป้อม” และพรรค พปชร.กลับมามีบทบาทนำทางการเมืองได้อีกครั้ง มีโอกาสที่จะเก็บฉากและลงจากเวทีอย่างบอบช้ำสูงยิ่ง!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022