สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน…เยือน ร.ร. I see U (7) ศูนย์การเรียน-ห้องเรียนสาขา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ภาพสะท้อนความพยายามดิ้นรนท่ามกลางความขาดแคลน ยังปรากฏให้เห็นตามรอยทางที่คณะ กพฐ.สัญจรเดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนทั้ง 5 สาย

การแก้ปัญหานักเรียนบ้านห่างไกลตามภูดอยด้วยการจัดให้มีเรือนพักนอนในโรงเรียน จึงเป็นแนวทางหลักเพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก เฉพาะในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีโรงเรียนพักนอนถึง 94 แห่ง

สามารถผ่อนคลายความรุนแรงของปัญหาได้ระดับหนึ่ง

แต่ยังคงพบความแออัด ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนพักนอน ที่โรงเรียน ครู ผู้บริหารต้องดูแล ดังความจริงที่พบห็น ที่โรงเรียนบ้านสบเมย

ไม่ใช่แค่เรือนพักนอน โรงอาหาร บ้านพักครูยังเป็นเรือนไม้เก่าแก่ หลังคาสังกะสีเก่าคร่ำ ทำให้นึกถึงหน้าฝน ยิ่งถ้าลมพัดแรง พาฝนเทลงมา มุ้ง หมอน ที่นอน เสื่อ ของครูที่มัดรวมกองไว้จะเปียกปอนขนาดไหน

ผมแวบเข้าไปเดินดูห้องสมุด ปรากฏว่าห้องติดกัน ฝาไม้เก่าไม่มีประตูกั้นทำเป็นห้องนอนครู ปูเสื่อนอน เช้ามาก็ม้วนพับเก็บตั้งไว้ เพราะบ้านพักไม่พอ ที่ปลอดภัยเพียงหลังสองหลังก็ไว้สำหรับครูผู้หญิง

น่าดีใจ ห้องสมุดมีหนังสือใหม่ๆ ทันสมัยไม่น้อย เนื้อหาแนะนำให้รู้จักกลุ่มประเทศอาเซียน ฯ ผู้คน องค์กรต่างๆ คงส่งมาให้พอสมควร ความต้องการเพิ่มเติมจึงน่าจะเป็นกิจกรรมกระตุ้น โน้มน้าวจูงใจ คิดกลวิธีให้นักเรียนอ่านมากขึ้น

 

ผ่านข้างบ้านพักครูไป โรงอาหาร เห็นถังเก็บน้ำใบใหญ่ “น้ำคือชีวิต มติชน-เครือซิเมนต์ไทย โครงการโรงเรียน I see U มอบ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา” จำได้ว่า ครั้งนั้นปูนซิเมนต์ไทยมอบให้หลายร้อยโรงเรียนทั่วประเทศ

เลยชวนคุณบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ในโอกาสเพิ่งปิดโครงการโรงเรียนไอซียู ปี 2559 ลงด้วยความเสียดาย เพราะยังมีโรงเรียนขาดแคลนบนยอดเขาภูดอย ริมชายตะเข็บ อีกมากมีความต้องการ

เฉพาะโรงเรียนพักนอน รายงานการวิจัยการศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการโรงเรียนพักนอนของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์กับโรงเรียนพักนอน สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 34 เชียงใหม่ แม่ฮองสอน สะท้อนปัญหาตรงกับภาพจริงที่เห็นในโรงเรียนระดับประถมศึกษาเช่นกัน

โรงเรียนพักนอนยังมีสภาพขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูที่อยู่ประจำเพื่อดูแลนักเรียนพักนอน เนื่องจากครูเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระงานจากปกติ อาคารพักนอนไม่ได้มาตรฐานเป็นส่วนมาก เพราะเป็นอาคารสร้างเอง หรือปรับปรุงจากอาคารอื่นที่โรงเรียนไม่ใช้ หรือสร้างจากเงินบริจาค การระดมทรัพยากรทำได้น้อยเพราะความยากจน

ทำให้มีข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการสนองดำรงอยู่ ได้แก่ กำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนพักนอนให้ชัดเจนเพื่อที่โรงเรียนจะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม

จัดสรรค่าสาธารณูปโภคให้แยกจากงบฯ อุดหนุนรายหัว รายการค่าจัดการเรียนการสอน กำหนดเกณฑ์อัตรากำลังให้โรงเรียนที่จัดที่พักนอนเป็นกรณีพิเศษจากโรงเรียนปกติทั่วไป

อำนวยความสะดวก ผลตอบแทนครูที่ต้องดูแลนักเรียนพักนอนต่างไปจากเกณฑ์ปกติ เพียงพอกับการบริหารจัดการ ค่าอาหารนักเรียนโรงเรียนพักนอนที่สอดคล้องกับระยะเวลาที่จำเป็น

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ยังรอคอยคำตอบอยู่จนถึงวันนี้ โรงเรียนหลายต่อหลายแห่ง ต่างดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองกันต่อไป

 

การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กตามชายขอบ นอกจากจัดการด้วยรูปแบบต่างๆ มีโมเดลโรงเรียนพักนอนเป็นหลัก ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร 22 จังหวัด 68 เขตแล้ว

ก่อนหน้านั้นจนถึงปัจจุบัน โรงเรียน นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอย่างสูง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมตลอดมา ทำให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปด้วยความหวังว่าเด็กๆ จะมีอนาคตที่ดีและมั่นคงขึ้น

ทำให้นักเรียนที่ย้ายถิ่นตามครอบครัว ตกหล่นไม่ได้เข้าเรียนหลายร้อยคน อาศัยอยู่เป็นหย่อมบ้าน พ่อแม่ยังไม่ยอมปล่อยให้มาโรงเรียนที่ห่างไกลมีโอกาสได้รับการศึกษา เกิดความคิด แนวทางช่วยเหลือด้วยรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ โดยให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียนต่างๆ

ทรงพระราชทานชื่อว่า ศูนย์การเรียนสานฝันสมเด็จพระเทพฯ ขณะนี้มีจำนวน 14 ศูนย์การเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ศูนย์การเรียนรู้บ้านปูคำ ศูนย์การเรียนรู้บ้านบุญเลอน้อย อยู่ในความดูแลของโรงเรียนบ้านบุญเลอ

อีกทั้งโครงการห้องเรียนในโครงการพัฒนาการศึกษาบนพื้นที่สูงตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 5 ห้องเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแม่หลุยน้อย โรงเรียนบ้านผาเยอน้อย โรงเรียนบ้านจอซิเดอใต้ โรงเรียนบ้านแม่แคะน้อย โรงเรียนบ้านอูหลู่

 

แนวทางจัดการศึกษารูปแบบต่างๆ ไม่ว่า ห้องเรียนสาขา เรียนรวมโรงเรียนหลัก โรงเรียนเครือข่าย เรียนรวมแบบสองทาง เรียนรวมแบบพึ่งพา กลุ่มโรงเรียนพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในเครือข่าย ล้วนสะท้อนความพยายามหาวิธีที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการ เกิดโมเดลทางการศึกษาใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ กลุ่มซอลอคีโมเดล กลุ่มเละโคะโมเดล

จนกระทั่งพัฒนาเป็นการเรียนการสอนแบบคละชั้น การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV 125 โรง ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT โดยเฉพาะโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมเรื่องไฟฟ้าและสัญญาณอินเตอร์เน็ต จะใช้สื่อวิดีทัศน์จากก้อนฮาร์ดดิสก์ DLIT ที่ทาง สพฐ. จัดทำให้ และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ 60 พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีโรงเรียนขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ 73 โรง

กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา โรงเรียนพัฒนามาไกลพอสมควร แต่หลายต่อหลายโรงยังคงเผชิญปัญหาพื้นฐานที่ยังดำรงอยู่ แม้กระนั้นก็สามารถจัดการศึกษาให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว

เช่น โรงเรียน 3 แห่ง ที่คาราวาน กพฐ. กำลังจะเดินทางกันต่อไป ใช้เวลา 5 ชั่วโมง บ่ายยันค่ำ