ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
เก้าอี้ ทบ.1 หรือเก้าอี้ ผบ.ทบ. ยังคงเป็นเก้าอี้ที่นายทหารบก ที่จบจากรั้ว จปร. ต่างหมายปอง ใฝ่ฝัน
เพราะใน 1 รุ่นเตรียมทหาร หรือนายร้อย จปร. อาจมีได้แค่คนเดียว หรือบางรุ่นอาจไม่ได้รับโอกาสนั้น เพราะอายุไล่เลี่ยกับรุ่นพี่ และรุ่นน้องอาจถูกข้ามรุ่นไปเลย
แต่หากบางรุ่นบริหารจัดการเกมแห่งอำนาจดี และมีเพื่อนในรุ่นที่มีอายุน้อย ก็อาจทำให้รุ่นนั้นมี ผบ.ทบ.ได้ถึง 2 คน
โดยสายอำนาจที่จะขึ้น ผบ.ทบ. ในอดีต ก็มักจะมาจากสายวงศ์เทวัญ พล.1 รอ. ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้น 5 เสือ ทบ. ตามเส้นทางเหล็ก
ก่อนที่ในยุคเรืองอำนาจของ 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” หลังรัฐประหารล้มอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยศในขณะนั้น เตรียมทหาร 10 เมื่อ 19 กันยายน 2549
สายบูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี จาก ร.21 รอ. และ พล.ร.2 รอ. ก็เข้ามาแชร์อำนาจ ด้วยการผสม ย้ายทหาร พล.ร.2 รอ. มาอยู่ พล.1 รอ. มาคุมทหารวงศ์เทวัญ จนเกิดลูกผสม บูรพาเทวัญ
ทำให้ พล.1 รอ. กองพลปฏิวัติกลางกรุง ไม่ได้เป็นของทหารกรุงเท่านั้น แต่ทหารปราจีนฯ ทหารชายแดนไทย-เขมร ก็ได้มาครองอำนาจด้วย
จนนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/พลเอก-สุรยุทธ์-จุลานนท์.jpg)
ก่อนที่ต่อมา ในปี 2560 ที่เริ่มมีการก่อตั้ง ฉก.ทม.รอ.904 หรือทหารคอแดง ซ้อนขึ้นมาใน ทบ. ก็เกิดเหล่าพิเศษ คือทหารคอแดง ขึ้นมา
ส่งให้เกิดขั้วอำนาจทหารคอแดง ที่ผสมทั้งวงศ์เทวัญคอแดง จากสาย พล.1 รอ. และทหารเสือฯ คอแดง จากสาย ร.21 รอ. และบูรพาพยัคฆ์คอแดง จากสาย พล.ร.2 รอ. ที่คุมอำนาจในกองทัพ ผลัดกันเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.
และมีวงรอบของการสลับกับทหารหมวกแดงสายรบพิเศษ ที่นานๆ จะได้ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.สักครั้ง เพราะแม้ตำแหน่งสูงสุดของทหารหมวกแดงรบพิเศษ คือ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) เทียบเท่าแม่ทัพภาคที่ 5 แต่ทว่า กว่าที่จะมีอายุราชการเหลืออีกสัก 3 ปี เพื่อชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. ก็มีน้อยมาก เพราะกว่าจะฝ่าขึ้นดงมาถึงตรงนี้ได้ ก็ใกล้จะเกษียณแล้ว
เพราะธรรมเนียมประการหนึ่งของ ทบ. คือ แม่ทัพภาคที่ 1 นายทหารในกองทัพภาคที่ 1 จะโตเร็วที่สุด และรุ่นเด็กที่สุด เมื่อเทียบกับแม่ทัพภาคที่ 2 อีสาน แม่ทัพภาคที่ 3 ภาคเหนือ และกองทัพภาคที่ 4 ภาคใต้ และ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) และ ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (ผบ.นปอ.) เทียบเท่าแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด) เทียบเท่าแม่ทัพภาคที่ 7
ที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่ 2 ที่เคยขึ้น ผบ.ทบ. ก็มีเพียง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น ก่อนที่ต่อมาอีกกว่าสิบปี จะมาเป็นบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/พลเอก-เฉลิมชัย-สิทธิสาท.jpg)
ในช่วงเกือบ 30 ปี ที่ผ่านมา มี ผบ.ทบ.มาแล้ว 13 คน ตั้งแต่ในยุคที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังคงเรืองอำนาจ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากสายรบพิเศษ แบบพลิกความคาดหมาย เพราะอยู่ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก นอก 5 เสือ ทบ. และมีอายุราชการเหลือถึง 5 ปี ตอนนั้น ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ระหว่างนั้น มีการเลือกตั้ง แล้วเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้ต่อมามีการย้าย พล.อ.สุรยุทธ์ ลูกป๋า ที่นั่งเป็น ผบ.ทบ. 4 ปี ข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ใน 1 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ จนเกิดรอยร้าวกับบ้านสี่เสาฯ จนตามมาด้วยการถูกรัฐประหาร
แม้ว่าในเวลานั้น นายทักษิณจะสนับสนุนให้บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผช.ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.มุสลิมคนแรก หวังส่งผลดีต่อการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ถือว่า ในเวลานั้น นายทักษิณก็เลือกทหารหมวกแดง รบพิเศษ อย่าง พล.อ.สนธิ ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.
แต่ก็มาถูกรัฐประหาร
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/พลเอก-ณัฐวุฒิ-นาคะนคร.jpg)
ในครั้งนั้น ผบ.ทบ.ที่มาจากป่าหวาย รบพิเศษ ถูกมองว่า มีพลังอำนาจบ้านสี่เสาฯ หนุน เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ ลูกป๋าคนโปรด เป็นแบเร่ต์แดงรบพิเศษ ที่ทำงานเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.เปรม มายาวนาน
พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ.ตั้งแต่ปี 2541-2545 แต่มาเกษียณเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด และได้เป็นองคมนตรี เดินตามรอยเท้าป๋า ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา มีส่วนร่วมในการรัฐประหารล้มนายทักษิณ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ภายใต้การนำของบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่นายทักษิณเลือกเอง จนขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.เมื่อ 1 ตุลาคม 2548 และทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเกษียณ 30 กันยายน 2550 ต่อด้วยบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สาย 3 ป. สายทหารเสือบูรพาพยัคฆ์ ขึ้น ผบ.ทบ. ส่งต่อด้วยบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ป.เป็น ผบ.ทบ.อีก 4 ปี และต่อด้วยบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร สายทหารเสือฯ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.อีก 1 ปี ต่อด้วยบิ๊กหมู พล.อ.ธีรชัย นาควานิช สายบูรพาพยัคฆ์ น้องรักบิ๊กป้อม ขึ้น ผบ.ทบ.อีก 1 ปี
เรียกได้ว่า ทิ้งระยะนานหลายปีก่อนที่จะมาเป็นบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท จากสายรบพิเศษ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในตุลาคม ปี 2559 และเกษียณกันยายน 2561 กลายเป็น ผบ.ทบ.รบพิเศษ หมวกแดงคนที่ 3 ที่อาจกล่าวได้ว่ามีพลังของ พล.อ.สุรยุทธ์ อดีตนายกฯ และองคมนตรี ที่ พล.อ.ประยุทธ์เคารพนับถือช่วยสนับสนุน
และจากนั้นมาจนเวลานี้นายทหารรบพิเศษก็ถูกหน่วงเวลาไม่ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เลย แม้ว่าหลายคนจะมีอายุราชการเหลือมากพอ ผบ.ทบ.ก็ตาม แต่ก็ต้องหลีกทางให้ทหารคอแดงจากสายทหารเสือฯ และบูรพาพยัคฆ์ และวงศ์เทวัญ ขึ้น ผบ.ทบ.ไปก่อน
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/พลตรี-เสด็จ-อาคะจักร-พลตรี-อินทนนท์-รัตนกาฬ.jpg)
ปัจจุบัน ใน 5 เสือ ทบ. มีบิ๊กต้น พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร เป็นรอง ผบ.ทบ. เป็นทหารรบพิเศษ หมวกแดง อีกคนในรอบ 10 ปี ที่เติบโตจนมาถึง 5 เสือ ทบ. แต่ถูกหยุดไว้ที่รอง ผบ.ทบ.
แม้จะเป็นทหารหมวกแดง แบเร่ต์แดง สัญลักษณ์ทหารรบพิเศษ จาก นสศ.ลพบุรี เป็นTop man ระดับครีมของ นสศ. ที่เติบโตมาจนเป็น ผบ.นสศ. เทียบเท่าแม่ทัพภาคที่ 5
แต่ทว่า เวลานั้น ธรรมเนียมใหม่ ทบ. ที่ ผบ.ทบ.ต้องเป็นทหารคอแดง ยังคงใช้อยู่ และมักมาจากแม่ทัพภาคที่ 1 เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2560
เพราะตั้งแต่ พล.อ.เฉลิมชัย จาก ผบ.นสศ. ขึ้น ผช.ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. จากรบพิเศษ คนล่าสุด เกษียณแล้ว ก็เข้าสู่ยุคทหารคอแดง มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก และควบ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904
ก่อกำเนิดทหารคอแดงของ ทบ.ขึ้นครั้งแรก ในช่วงเปลี่ยนรัชกาล
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/คนหมวกแดง-คือ-พลโท-ณรงค์ฤทธิ์-คัมภีระ2.jpg)
มาจนตอนนี้ ทหารรบพิเศษก็ยังไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. ซึ่งทหารรบพิเศษที่เป็นทหารอาชีพ ก็น้อมรับธรรมเนียมนี้มาโดยไม่มีปริปากบ่น
แม้ในระหว่างนั้น มีทหารรบพิเศษที่อายุราชการขึ้นมาถึง 5 เสือ ทบ.หลายคน แต่ก็ไม่อาจขึ้น ผบ.ทบ. ทั้งบิ๊กนัย พล.อ.สุนัย ประภูชะเนย์ ผช.ผบ.ทบ. และบิ๊กยอง พล.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ที่ขึ้นถึง ผช.ผบ.ทบ. แต่ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. และจบที่ประธานคณะที่ปรึกษา ทบ. อัตราพลเอกพิเศษ
จนมาถึง พล.อ.ณัฐวุฒิ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งสายหมวกแดง สมาร์ต เป๊ะ อายุราชการเกษียณ 2568 แต่ก็โดนขยับไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. และจบที่รอง ผบ.ทบ. อัตราพลเอกพิเศษ ไม่อาจขึ้นถึง ผบ.ทบ. เพราะ ผบ.ทบ.ยังต้องคอแดง และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904
อีกทั้งบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้น เสธ.ทบ. ถูกวางตัวให้เป็น ผบ.ทบ.คอแดงไว้แล้ว แถมเกษียณ 2570 และเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนสุดท้ายของ ทบ. เพราะเป็น ผบ.ทบ.คอแดงแค่ 1 เดือน จาก 1 ตุลาคม 2567 ถึง 1 พฤศจิกายน 2567 เมื่อมีการปรับโครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 ใน ทบ.ใหม่ ให้แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผบ.ฉก. แทน ผบ.ทบ.
พล.อ.พนา ก็กลับมาเป็น ผบ.ทบ.คอเขียวตามเดิม เหมือน พล.อ.ณัฐวุฒิ รอง ผบ.ทบ.คอเขียว จากสายหมวกแดง
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/บิ๊กเอก-พลโท-อานุภาพ-ศิริมณฑล.jpg)
แต่ทหารรบพิเศษ ก็ยังมีความหวัง เพราะแม้ พล.อ.พนาเกษียณ 2570 แต่ยังมี “ผบ.เต้” พล.ท.ณรงค์ฤทธิ์ คัมภีระ ผบ.นสศ. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 ที่เกษียณกันยายน 2571 สามารถที่จะเป็น ผบ.ทบ.ได้ เพราะตอนนี้ไม่มีข้อกำหนดว่า ผบ.ทบ.จะต้องเป็นทหารคอแดงอีกแล้ว แต่ทหารคอเขียวก็เป็น ผบ.ทบ.ได้ พล.ท.ณรงค์ฤทธิ์ ก็เป็นทหารหมวกแดงแต่คอเขียว และถือเป็นคนเก่งของรุ่นและเป็นที่ยอมรับในหมู่นายทหารรบพิเศษ
ที่สำคัญผ่านตำแหน่งต่างๆ ตามประเพณีของทหารรบพิเศษทั้งในระดับผู้บังคับกองพันและผู้บังคับการกรมจนเป็นผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 มาแล้ว
และต้องไม่ลืมว่า ขวัญกำลังใจของทหารรบพิเศษ ก็คือ พล.อ.สุรยุทธ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เฉลิมชัย องคมนตรี สายเลือดรบพิเศษสุดเข้มข้น
ไม่แค่นั้นเตรียมทหารรุ่น 26 ยังมี รอง เสธ.เอก พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล รอง เสธ.ทบ. เพื่อนรักของ พล.อ.พนาที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2571 อีกคนที่สามารถลุ้น ผบ.ทบ.ได้
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/คนหมวกแดง-คือ-พลโท-ณรงค์ฤทธิ์-คัมภีระ1.jpg)
นับเป็นอีก 2 แคนดิเดตจาก ตท.26 ที่จะชิงเก้าอี้ ทบ.1 ทั้งกับแม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ฉก ทม.รอ.904 เป็นตัวเต็งที่จะขึ้น 5 เสือ ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. ที่เกษียณกันยายน 2571 พร้อมกัน แต่ พล.ท.อมฤต เป็นทหารคอแดง และเป็นนายทหารเสือราชินีลูกรักของ พล.อ.ประยุทธ์
ไม่แค่นั้น ยังมี ตท.28 อีกทั้งแม่ทัพไก่ พล.ท.วรยส เหลืองสุวรรณ แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่เกษียณ 2571 อีกคน พร้อมชิงชัยด้วย
ในขณะที่ ตท.28 ยังมีรองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2573 รอได้ ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีสูตรอำนาจ 3 + 3 คือ พล.อ.พนา นั่ง 3 ปี และต่อด้วย พล.ต.สราวุธ นั่งต่ออีก 3 ปี ต่อเนื่อง มั่นคง
โดยมี รองลาภ พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ (ตท.30) รองแม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแคนดิเดตที่ไม่อาจมองข้าม เพราะแม้เติบโตจาก พล.ร.9 แต่เป็นคอมมานด์ ผ่านทั้งผู้พัน ผู้การกรม ที่สำคัญ ได้เคยมาเป็น ผบ.พล.1 รอ. กลายเป็นทหารคอแดง และเป็นสาย OV ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย เช่นเดียวกับคีย์แมนในคอแดงนอก ทบ. ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2572 และเป็นน้องรักของ พล.ท.อมฤต
ที่ต้องรอดูว่า จะมีการรอมชอม ด้วยการเป็น ผบ.ทบ.ต่อกันคนละ 1 ปี เพื่อลดความขัดแย้งใน ทบ. ได้หรือไม่ เพราะสัญญาสุภาพบุรุษ ไม่เคยมีจริงในการแต่งตั้งโยกย้าย และในสมการอำนาจ ในเกมเพาเวอร์เพลย์นี้
จึงเป็นที่จับตามองไปถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่อาจจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนสมาชิกบอร์ด 7 เสือกลาโหม เป็น 9 เสือกลาโหม โดยให้เพิ่มนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จากเดิมที่เคยมี รมว.กลาโหมเป็นประธาน ร่วมด้วย รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.
เพราะแม้เสียงฝ่ายผู้บัญชาการเหล่าทัพจะมีมากกว่าฝ่ายการเมือง ถึง 5 ต่อ 4 แต่หากผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใดคนหนึ่งงดออกเสียง หรือโหวตเข้ากับฝ่ายการเมืองก็จะสามารถทำลายเกราะกำบังที่เคยแข็งแกร่งของกองทัพ ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ลงได้ แก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจในกองทัพและลดความเสี่ยงในการปฏิวัติรัฐประหาร
ที่หากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สามารถเจรจาต่อรองกับผู้บัญชาการเหล่าทัพในการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับยุคนายสุทิน คลังแสง เพื่อเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการใช้เป็นร่างหลักของรัฐบาลไปสู้กับร่างของพรรคประชาชน ได้หรือไม่
หากสำเร็จก็มีลุ้นถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะตามมา
แต่อย่างไรก็ตาม หากการแต่งตั้งโยกย้ายในปี 2570 ผบ.ทบ.ไม่ใช่ทหารหมวกแดงรบพิเศษ พล.ท.ณรงค์ฤทธิ์ ไม่อาจฝ่าด่านทหารเสือฯ คอแดง และทหารวงศ์เทวัญคอแดงไปได้ ก็ยังมีรบพิเศษระลอกสอง ที่พร้อมเติบโตขึ้นมา
ทั้ง “เสธ.เด็จ” พล.ต.เสด็จ อาคะจักร (ตท.30) เสธ.นสศ. และ “ผบ.เอิร์ธ” พล.ต.อินทนนท์ รัตนกาฬ (ตท.31) ผบ.นสศ. ที่เป็นความหวังของทหารหมวกแดง ที่จะฝ่าดงทหารเสือฯ ทหารบูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ ขึ้น ผบ.ทบ.อีกสักคน ในทศวรรษหน้า
ที่หากดูนายทหารดาวเด่นในสายทหารเสือฯ บูรพาพยัคฆ์ และวงศ์เทวัญ ที่จ่อขึ้นมาแล้ว ก็ล้วนแต่ตัว Top ทั้งนั้น
ทั้ง ผบ.เบญ พล.ต.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผบ.พล.ร.2 รอ. จากสายทหารเสือฯ และ ผบ.ด้วง พล.ต.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผบ.มทบ.11 สายทหารวงศ์เทวัญคอแดง อีกด้วย
จึงไม่ง่ายนักที่ทหารหมวกแดง จะฝ่าดงขึ้นมาชิงธง “ทบ.1” ได้ง่ายๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022