ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
Freud’s Last Session สร้างมาจากบทละครเวทีชื่อเดียวกันโดยมาร์ค เซนต์เจอร์เมน ซึ่งดัดแปลงต่อมาอีกทีจากหนังสือชื่อ The Question of God โดยอาร์มันด์ นิโคลี
มาร์ค เซนต์เจอร์เมน เป็นคนเขียนบทภาพยนตร์จากบทละครเวทีของตัวเองด้วย โดยพยายามแทรกเหตุการณ์ที่เกิดนอกห้องในบ้านที่เป็นฉากของละครเวทีนี้ จะได้ไม่รู้สึกถูกบีบให้อยู่ในสถานที่เดียวตามธรรมเนียมของละครเวที
ทว่า ความรู้สึกที่ได้จากการชมก็ยังให้ความรู้สึกว่าหนังต้องทำมาจากละครเวที เนื่องจากความจำกัดของสถานที่และการเดินเรื่องหลักๆ ด้วยบทสนทนา
พล็อตเป็นเรื่องสมมุติของการพบปะและปะทะวาทกรรมระหว่างบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมยุคเดียวกันสองคน สองวันหลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิล แชมเบอร์เลน ประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อ ค.ศ.1939
เป็นการพบปะในจินตนาการระหว่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และนักจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดังผู้ก่อตั้งศาสตร์ด้านการบำบัดด้วยจิตวิเคราะห์ ซึ่งมีคุณูปการต่อจิตวิทยาสมัยใหม่
กับ ซี.เอส. ลูวิส นักเขียนและนักวิชาการด้านวรรณคดี ผู้เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ คนทั่วไปรู้จัก ซี.เอส. ลูวิส จากหนังสือชุด The Chronicles of Narnia ซึ่งเป็นหนังสือขายดีและได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ด้วย
การพบปะในจินตนาการแบบนี้ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงสมัยเรียนวิชาการละครในมหาวิทยาลัย ชื่อวิชาการเขียนบทละครหรือการเขียนแบบสร้างสรรค์ก็จำไม่ได้แน่
จำได้แต่ว่าหนึ่งในโจทย์ที่ผู้เรียนได้รับจากอาจารย์เพื่อนำมาเขียนบทละครคือ ให้เลือกตัวละครสองตัวจากนิยายหรือบทละครต่างเรื่องกัน แล้วสร้างสถานการณ์ให้ตัวละครทั้งสองมาเจอะเจอกัน และพัฒนาเรื่องต่อไปจากนั้น
ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ในโลกจินตนาการ
ดังนั้น แบบฝึกหัดสำหรับการใช้จินตนาการจึงพาเราเตลิดโลดไปไกลถึงขั้นที่ว่าเลือกตัวละครในวรรณคดีไทยมาเจอกับตัวละครของเชกสเปียร์ เป็นต้น
จับแพะมาชนแกะสนุกกันใหญ่ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวอะไรมากนักหรอกค่ะ
แต่ก็เผอิญมีเพื่อนในชั้นเรียนเขียนบทละครเรื่อง พระอภัยกับไชล็อก ออกมาได้สนุก แหลมคมและมีประเด็นน่าสนใจ จนได้รับคำชมจากครูมาก เสียแต่จำรายละเอียดอะไรมากไม่ได้เสียแล้วตอนนี้
นิยาย ละครและหนังเรื่องนี้น่าจะมาจากการตั้งโจทย์โดยใช้มันสมอง รวมทั้งจินตนาการ “ปั้นน้ำเป็นตัว” อีกหนึ่งตัวอย่าง
ทว่า ก็ดูเหมือนจะมีเงาเลือนรางของความจริงอยู่บ้างก็ตรงที่มีคนบอกว่าในช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของซิกมันด์ ฟรอยด์ เขาได้พบกับอาจารย์จากออกซ์ฟอร์ดที่ไม่ได้ระบุชื่อคนหนึ่ง
และหนังก็เล่าเรื่องการพบปะสมมุติครั้งนั้นในวันที่อังกฤษเพิ่งก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง และลอนดอนโดนเครื่องบินเยอรมันบินมาหย่อนระเบิดลง
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (แอนโทนี ฮอปกินส์) ย้ายจากออสเตรียมาลี้ภัยอยู่ในลอนดอนสักหนึ่งปีก่อนหน้า ในช่วงที่นาซีแผ่อำนาจและผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ซึ่งเป็นการคุกคามความปลอดภัยของชาวยิวทั้งเผ่าพันธุ์
แรกทีเดียวฟรอยด์ก็ไม่คิดว่าเขาตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากว่าเขามีชื่อเสียงและฐานะทางสังคมเป็นที่รู้จักไปทั่ว
ทว่า ยังไม่ทันไร เกสตาโปก็มาจับลูกสาวนักวิชาการของเขาชื่อ แอนนา (ลิฟ ลิซา ไฟรส์) ไปสอบสวนและคุมขัง ก่อนจะปล่อยออกมา
ครอบครัวฟรอยด์จึงจำต้องตัดสินอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาลี้ภัยในอังกฤษก่อนที่เหตุการณ์จะเลวร้ายลงจนสายเกินแก้
ในฐานะนักวิชาการ ฟรอยด์เชิญลูอิส (แมทธิว กู้ด) มาพบปะสนทนาหัวข้อที่มีความเห็นแตกต่างกันไปคนละขั้วที่บ้านในช่วงที่แอนนาซึ่งเป็นผู้ดูแลพ่ออย่างใกล้ชิด ออกจากบ้านมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย
ตอนนั้นฟรอยด์เป็นมะเร็งในช่องปากและต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดแสนสาหัส จนแม้แต่มอร์ฟีนก็เอาไม่อยู่ เขาอารมณ์เสีย เอาแต่ใจตัวเอง และโทรศัพท์หาแอนนาบ่อยครั้ง เรียกให้เธอกลับบ้านมาดูแลเขาจากชั้นเรียนที่เธอกำลังสอนอยู่ด้วยซ้ำ
แอนนายังมีความลับสำคัญที่เธอยังไม่ได้บอกให้พ่อรู้อีกเรื่อง เพราะเกรงพ่อจะรับไม่ได้ แต่คนรอบตัวเธอรู้กันหมดแล้ว
นั่นคือเธอเป็นเลสเบี้ยนและมีความสัมพันธ์กับเพื่อนสาวชื่อ โดโรธี (โจดี บัลโฟร์ ซึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับโทนี คอลเล็ตต์ อย่างน่าสะดุดใจ เพียงแต่ยังอยู่ในวัยสาวเกินกว่าจะเป็นคนเดียวกัน)
หัวข้ออภิปรายระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ซึ่งมีทัศนะแตกต่างกันคนละขั้วในเรื่องศาสนา กลายเป็นเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อที่แตกต่างกัน
แน่นอนว่าไม่มีใครเถียงชนะในเรื่องนี้ ที่สำคัญคือการนำเสนอแคแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและถกประเด็นความเชื่อของกันและกัน
ลูวิสมีทัศนะเทวนิยม คือเชื่อในพระเจ้า
ส่วนฟรอยด์แสดงทัศนะที่ไม่อาจทำใจให้เชื่อในพระเจ้าได้ ด้วยความคิดที่ว่าหากว่ามีพระเจ้าผู้แสนดีและมีเมตตา เหตุใดจึงมีความทุกข์ทรมานอยู่มากมายในโลกนี้
แน่นอนว่าความสงสัยนี้ต้องมาจากความเจ็บปวดแสนสาหัสจากโรคร้ายที่เขากำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้นด้วย
สําหรับคนที่ไม่มีภูมิหลังของซิกมันด์ ฟรอยด์ และ ซี.เอส. ลูวิส มาบ้างพอควร อาจรู้สึกว่าติดตามเรื่องราวได้ลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นการโต้คารมกันในเชิงจิตวิทยาและปรัชญาเป็นส่วนใหญ่ และการเดินเรื่องตามขนบของละครเวทีนั้นใช้บทสนทนาเป็นหลัก
ที่น่าสนใจคือ ตัวหนังสือที่ปรากฏขึ้นจอเมื่อการพบปะครั้งนั้นสิ้นสุดลง เป็นความว่า แอนนาพาเพื่อนสาวมาอยู่ร่วมบ้านด้วยและบอกพ่อว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน
…เรื่องนี้คงส่งผลต่อฟรอยด์พอควร เพราะทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขาเชื่อว่าเหตุการณ์ในวัยเด็กส่งอิทธิพลต่อบุคลิกนิสัยและการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่อย่างมาก…
ข้อความบอกอีกว่า แอนนาจะกลายเป็นผู้ก่อตั้งจิตวิทยาเด็กในเวลาต่อมา
และเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการพบปะกันครั้งนั้น ฟรอยด์ก็ฆ่าตัวตาย เพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดแสนสาหัสของมะเร็งในช่องปากที่เขากำลังเผชิญอยู่
หาดูได้ทางช่องไพรม์วิดีโอค่ะ •
FREUD’S LAST SESSION
กำกับการแสดง
Matt Brown
นำแสดง
Anthony Hopkins
Matthew Goode
Liv Lisa Fries
Jeremy Northam
Jodi Balfour
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022