จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 3-9 มกราคม 2568

 

• ขอความสุข ผ่านหนังสือ

ธันวาคม 2567

จากคลองเปรม

4 ปี 2 เดือน กับอีก 6 วัน (นับถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2567) แล้วครับ ที่ผมใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงแห่งนี้ ในฐานะนักโทษ

ตอนนี้มีอีกหน้าที่หนึ่งคือ บรรณารักษ์ห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำกลาง คลองเปรม

4 ปี ที่คนคนหนึ่ง ห่างหาย หรือเรียกให้ถูกคือ ถูกตัดขาดจากความเป็นพ่อ เป็นสามี เป็นบุตรหลาน

วันเวลาผ่านไป ความนับถือในตัว ยิ่งลดลง เพราะความรู้สึกที่ตนเองเป็นภาระของคนอื่น

แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่พอทำให้ผม (และอีกหลายคน) รู้สึกมีค่าอยู่บ้าง

คือ หนังสือ

 

หนังสือเปิดโลกให้เรา

บ้างพาเราให้คิดถึงบ้านหรือใครสักคน

บ้างพาเราฝันไปกับอนาคตใหม่นอกกำแพง

บ้างทำให้เราหวนมองตนเอง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

บ้างทำให้เราเจอเพื่อน ในบรรณพิภพอันอบอุ่น

ที่แน่ๆ หนังสือทำให้เรารู้ว่า เรายังคงสามารถเรียนรู้ เก็บเกี่ยว บ่มเพาะตนเอง

เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ก้าวออกไปผจญโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

และนั่นทำให้เรา ยังคงอยู่ เพื่อพิสูจน์ตนอีกครา

วันนี้ ผมอ่านหนังสือเล่มที่ 389 จบลง ไม่นานก่อนเขียนจดหมายนี้

ผมอ่านหนังสือทุกแนวที่ขวางหน้า

ไล่ไปจากหมวด 000-900 เพราะมันทำให้เวลาผ่านไป โดยเกิดประโยชน์ ที่สุดเท่าที่จะทำได้

คนอื่นๆ ก็คงเช่นกัน

ผมไม่รู้ว่าจะต้องอ่านไปถึงเล่มที่เท่าไหร่ กว่าที่ผมจะได้พบกับคำว่า อิสรภาพ

แต่ที่แน่นอนคือแม้ออกไปแล้ว ก็คงเลิกอ่านไม่ได้

คงดีหน่อย ถ้าได้ออกไปเร็วๆ

เพราะผมอยากอ่านหนังสือนิทานสองภาษากับลูก (6 ขวบ) มากๆ

ได้แต่ภาวนา

 

ผมเขียนจดหมายนี้มา เพื่อขอขอบคุณ ทุกๆ สำนักพิมพ์

ที่มีส่วนช่วยทำให้หนังสือดีๆ หลายๆ เล่มมาสู่เราผู้ที่คิดว่าตนเองถูกลืมไปแล้วจากสังคม

ขอความปีติสุขจงมีแด่ทุกๆ ท่าน

และขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ มาล่วงหน้า ณ ที่นี้ด้วย

 

“จงขอ แล้วท่านจะได้รับ”

คือข้อความจากไบเบิลที่ผมเคยเปิดอ่าน

ตลอดชีวิตผมไม่เคยขอใครเลย (ตอนเด็กๆ แม่ก็ให้เงินนั่นแหละครับ แต่ไม่เคยขอเพิ่มหากไม่จำเป็น) หามาและหยัดยืนด้วยตนเองตลอด

แต่วันนี้ผมจะลองขอดูสักครั้งหนึ่ง

ณ ปัจจุบันห้องสมุดที่ผมช่วยงานอยู่ มีหนังสือในระบบ 7,500 เล่ม

ให้บริการยืมคืนเฉลี่ย 1,000เล่ม/เดือน (1 คนยืมได้ 1 เล่ม / 7 วัน)

อีกทั้งยังส่งหนังสือออกไปบริการในแต่ละแดนกว่า 900 เล่ม/เดือน

ค่าเฉลี่ย อายุหนังสือที่เรามีส่วนใหญ่คือผลิต (ตีพิมพ์) ช่วงปี 2553

หนังสือส่วนใหญ่เนื้อหามีประโยชน์แต่อาจล้าสมัยไปบ้าง เมื่อเทียบกับยุคดิจิทัล

เช่นนี้ ผมเห็นว่า หากเรามีหนังสือใหม่ๆ ให้เข้าถึง

จะเป็นการติดอาวุธทางความคิดอันทรงพลังให้กับพวกเรา

ได้เตรียมความพร้อมที่จะออกไปลุยกับโลกภายนอกได้ทันท่วงที ซึ่งผมว่าท่านทั้งหลายเข้าใจส่วนนี้ดีอยู่แล้ว

นอกจากหนังสือแล้ว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งไม่แพ้กันคือ การยืดอายุหนังสือให้ใช้ได้นานขึ้น

เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้หนังสือได้ออกไปทำหน้าที่ได้นานขึ้น (ผ่านหลายมือ) ก็ควรจะมีอุปกรณ์ห่อหุ้มซึ่งทางเราขาดแคลนเป็นอย่างมาก

ในการนี้ ผมจึงเขียนจดหมายมา เพื่อแทนคำขอบคุณในสิ่งที่ท่านเคยทำให้เรา

และขอความอนุเคราะห์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

เพื่อให้เราได้พัฒนาตน ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า

และกลับออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ครับ

ตัวหนังสือเล็กๆ เปลี่ยนคนได้เสมอ

ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่

น.ช.อาชวะ พานิคม

โทษ 13 ปี 6 เดือน

จำมาแล้ว 4 ปีเศษ

 

ซองจดหมายที่มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

ประทับตรา “ตรวจแล้ว”

นั่นน่าจะหมายถึง

การผ่านขั้นตอน ถูกต้อง ตามระเบียบของที่คุมขัง

ขณะเดียวกัน เนื้อหา ก็เป็นเรื่องในเชิงบวก

บวก เกี่ยวกับ “หนังสือ”

ซึ่งหากใครอ่านแล้ว อยากเพิ่มพลังบวก

บวกที่หมายถึง การมอบหนังสือใหม่ให้ห้องสมุดเรือนจำ

บวกที่หมายถึง การมอบอุปกรณ์ถนอม-รักษาหนังสือ

ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

แต่ทั้งนี้ คงขึ้นอยู่กับระเบียบ และกฎของเรือนจำ

ว่าจะเปิดให้ทำได้มากน้อยเพียงใด

แต่ไม่ว่าน้อยหรือมาก “หนังสือ” ในเรือนจำ

เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม

ด้วยเพราะคงเป็นอย่างที่อาชวะ พานิคม ว่าไว้

“ตัวหนังสือเล็กๆ เปลี่ยนคนได้เสมอ” •