ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ไม่ว่าจะพิจารณาไปที่การออกเดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทย ตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่างๆ อย่างเข้มแข็ง กระตือรือร้น เร่าร้อน และดุดันยิ่งขึ้นตามลำดับ
ไม่ว่าจะมองไปยังกระบวนการ “ขจัดก้อนกรวดในรองเท้า” หรือ “กำจัดคู่ต่อสู้คู่แข่งขันทางการเมือง” นับตั้งแต่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มาจนถึง “พรรคประชาชน” และอาจขยายไปสู่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” โดยเฉพาะ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”
ไม่ว่าจะมองไปที่กลยุทธ์ “ควบรวม” หุ้นส่วนทางการเมือง จากกรณี “ธรรมนัส พรหมเผ่า-พรรคกล้าธรรม” ไปถึง “เครือข่ายแป้งมัน” แห่งภาคอีสาน ตลอดจนปรากฏการณ์บางอย่างแถบภาคตะวันออก
ไม่ว่าจะพิจารณาถึงท่าที “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ผู้นำพรรคภูมิใจไทยอย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” ผ่านคำสัมภาษณ์ “หล่อให้ช้าๆ หน่อย” ซึ่งลงเอยด้วยบรรยากาศชื่นมื่นคืนดีในสนามกอล์ฟ
พวกเราต่างตระหนักได้ถึงการโลดแล่นที่ไร้ขีดจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ของตัวละครทางการเมืองชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
เป็นการโลดโผนโจนทะยานไปบน “ความเป็นจริงทางการเมืองแบบหนึ่ง” อันข้องเกี่ยวกับเกมชิงไหวชิงพริบสีเทา ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาดโหดร้ายพอสมควร ผสมผสานไปกับการเดินหน้าแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอไอเดีย-นโยบายใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน
โดยมีจุดหมายปลายทาง คือ การได้ “คะแนนเสียงเลือกตั้ง” เป็นกอบเป็นกำจริงๆ การเข้าถึง “อำนาจรัฐ” จริงๆ
เมื่อประมวลความเคลื่อนไหวทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ ทักษิณจึงถือเป็น “บุคคลแห่งปี” ที่เข้ามาเปลี่ยนเกมการเมืองไทยช่วงปี 2567 ต่อ 2568 อย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่ทันใดนั้น ตรง “ความเป็นจริงทางการเมืองอีกฟากหนึ่ง” ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวที่อาจจะทำให้ใครหลายคนพิศวงงงงวยแปลกใจ
เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” เปิดโอกาสให้แฟนเพจได้ร่วมเสนอชื่อ “บุคคลแห่งปี 2567”
แล้วมีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปเสนอชื่อ “อานนท์ นำภา” ซึ่งยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ให้มีสถานะเป็น “บุคคลแห่งปี” อย่างถล่มทลาย
ทั้งๆ ที่เป้าประสงค์ของผู้เปิดรับความเห็น อาจต้องการตัวเลือกที่เฮฮากว่านี้ ขำขันกว่านี้ เบาสมองกว่านี้ เป็นมนุษย์น้อยกว่านี้ (เช่น “หมูเด้ง”) และล่อแหลมน้อยกว่านี้
ไม่ว่าการเสนอชื่ออานนท์ในเพจกรรมกรข่าว จะเกิดจากกระแสธารความคิดที่เป็น “ออร์แกนิกแท้ๆ” หรือดำเนินผ่าน “การจัดตั้ง-ระดมสรรพกำลัง” กัน (ทั้งโดยนัดหมายและมิได้นัดหมาย) ของเครือข่ายทางการเมืองบางกลุ่ม หรืออาจเกิดจากมายากล “อัลกอริธึ่ม” ของเฟซบุ๊ก
ทว่า ปรากฏการณ์นี้ก็บ่งชี้ว่านักโทษการเมืองชื่อ “อานนท์ นำภา” ยังมีตัวตนดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทย
ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกว่ายังมีพลเมืองอีกหลายคนที่ไม่ลืมทนายอานนท์ ไม่ลืมนักโทษการเมืองหลายรายที่มีชะตากรรมดุจเดียวกับอานนท์ ไม่ลืมนักโทษการเมืองบางคนที่เสียชีวิตไปแล้ว และไม่ลืมคนหนุ่มสาวมากมาย ซึ่งตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ
การเมืองไทยในปี 2568 จึงย่างกรายเข้าสู่สภาวะ “ทวิภพ” ในอีกลักษณะหนึ่ง
กล่าวคือ “การเมืองแห่งความเป็นจริง” บน “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” นั้นมีจุดโฟกัสอยู่ตรงการหวนคืนสู่อำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร”
แต่ตรง “ฐานรากของภูเขาน้ำแข็ง” ใต้มหาสมุทร กลับมี “รอยแตกร้าว” บังเกิดขึ้น
เป็นรอยร้าวจากปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและความอยุติธรรมทางการเมือง ที่ยืดเยื้อสืบเนื่องจากทศวรรษ 2540 มาสู่ทศวรรษ 2550 และ 2560 โดยยังไม่ได้รับการแก้ไขชำระล้างหรือปฏิรูปฟื้นฟูอย่างจริงจังจริงใจ
นี่คือรอยร้าวที่แตกแขนงออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งสะท้อนผ่าน “อาการป่วยไข้รวมหมู่” ที่พวกเราทุกคนต่างต้องแสร้งโกหกตัวเองและคนอื่นๆ ในสังคมว่า “2 + 2 = 5” ดังที่ “ธงชัย วินิจจะกูล” เพิ่งอุปมาเปรียบเทียบเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้
หลายคนเริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วว่า วิถีทางแห่งอำนาจบริเวณ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” นั้นมีแนวโน้มจะคลี่คลายตัวไปอย่างไร หรืออาจจะไปติดขัดกับอุปสรรคใดบ้าง
อย่างไรก็ดี เราทุกคนล้วนมองไม่ออกว่า “รอยร้าวที่ฐานรากภูเขาน้ำแข็ง” จะแผ่ขยายไปถึงจุดไหน และจะนำไปสู่สภาวะพังทลายแหลกสลายลงเมื่อใด ในรูปแบบใด •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022