2568 ปีแห่ง ‘ความเสี่ยง’ เศรษฐกิจไทยบน ‘โลกสองใบ’

แม้ว่าการเข้ามาของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จนทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 ขยายตัวถึงระดับ 4%

แต่ดูเหมือนว่านักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยเศรษฐกิจทั้งหลายไม่ได้มองว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง หากจะอยู่ในภาพของการทรงๆ ทรุดๆ ด้วยสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่

เริ่มจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2567 ที่ประเมินว่าจะขยายตัว 2.7% และระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงต่ำสุดในภูมิภาค

และต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่เคยเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0%

 

ttb analytics มองว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น 3 ประเด็นหลักคือ

1. การบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง แม้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 89.6% ของจีดีพี ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นเพราะความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอลงต่อเนื่อง

และสินเชื่อรายย่อยไตรมาส 3/ 2567 หดตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เก็บข้อมูลในปี 2540 โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถที่หดตัวสูงถึง 9.1% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยก็มีแนวโน้มเป็น “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้น

ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคเกิดผลบวก (ชั่วคราว) ได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตัวทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท (ดิจิทัล) ในปี 2568 มีค่อนข้างน้อยเพียง 0.7-1.0% ของจีดีพี

2. แรงส่งการเติบโตที่มาจากภาคท่องเที่ยวและบริการลดลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับปกติ โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคนในปี 2567 เป็น 37.8 ล้านคนในปี 2568 หรือเติบโตเพียง 6.5%

โดยเฉพาะการฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยที่ยังต่ำกว่าก่อนโควิด-19 หรือเพียง 8 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่มิติของรายได้หรือการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวก็เริ่มมีข้อจำกัดเช่นกัน

3. การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัว ตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับอานิสงส์จากที่ผู้ผลิตจีนใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปสหรัฐฯจะเริ่มลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากเวียดนาม)

นอกจากนี้ ผลพวงจากอุปทานส่วนเกินของสินค้าจากจีนที่จะระบายมายังไทยเพิ่มเติม จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตไทยให้ทวีความรุนแรงขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

 

ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.4%

ปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.6% โดยเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “ขาลง” และ “ชะลอตัวลง” ชัดเจนจากปี 2567 ที่ขยายตัว 2.7%

โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2567 ยังคงเห็นการขยายตัวระดับ 4% แต่ในปี 2568 อัตราการเติบโตเฉลี่ยแต่ละไตรมาสจะลดลงจาก 4% ในไตรมาส 1/2568 ลดลงเหลือ 3% ในไตรมาสที่ 2 และลดลงเหลือ 2% และ 1% ในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งเป็นการเติบโตถดถอยสวนทางกับในปี 2567

ดร.สมประวิณวิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกที่เร่งตัว และการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นตัวสนับสนุนการเติบโต แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เศรษฐกิจเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะภาคการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 และภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ชะลอตัวลง ทำให้นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 38 ล้านคน

ขณะที่การลงทุน แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศเติบโตขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบปีก่อน แต่ยังติดตามต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังขยายตัวได้

 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากความเสี่ยงของนโยบาย Trump 2.0 จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก

ขณะที่ปัญหา “สินค้าจีนล้นทะลัก” จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว แม้ในปี 2568 การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ก็ฟื้นไม่แรง เพราะความเปราะบางของอุตสาหกรรมการผลิตของไทย

สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 โดยผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 “แย่ลง” โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

 

SCB EIC สรุปว่าจากความท้าทายภายนอกและความอ่อนแอภายในของประเทศไทยที่เกิดขึ้น กำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงในระยะสั้น และมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว

ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คน สามารถเคลื่อนตัวในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บน “โลกสองใบ” ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ

มิติ 1 “อ่อน-แข็ง” โลกสองใบของครัวเรือน “ฐานะการเงินอ่อนแอ” กับครัวเรือนการเงินเข้มแข็ง สะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก

มิติ 2 “เก่า-ใหม่” โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าที่ไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี ทำให้ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงมากกว่า ภาคการผลิตในโลกใหม่

มิติ 3 “ใหญ่-เล็ก” โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังวิกฤตสิ้นสุดลง ขณะที่รายได้ธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วง COVID-19 และยังไม่ฟื้นตัว

นับเป็นความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยบน “โลกสองใบ” ที่สะท้อนความแตกต่างและเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น แม้ว่าทุกรัฐบาลจะพยายามขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผลลัพธ์ก็ยังคงออกมาตรงกันข้ามเช่นเดิม