ส่องไทม์ไลน์ เงินดิจิทัล 10,000 คนไทยตั้งตารอเฟส 3!!

จากการทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรค “เพื่อไทย” ที่ตั้งนายกรัฐมนตรีแล้วถึง 2 คน ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน และปัจจุบันคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

สิ่งสำคัญของการมาเป็นรัฐบาล คือ การทำนโยบายตามสัญญาที่ให้ไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งถ้าย้อนกลับไป ไฮไลต์ด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย คือ การทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แจกทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 56 ล้านคน ทันทีหลังเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

แต่เมื่อเริ่มจัดตั้งรัฐบาล โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะรัฐบาลต้องหาเงินก้อนใหญ่ถึง 5.6 แสนล้านบาท มาแจกประชาชนตามสัญญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยจะไปทางใช้งบประมาณแผ่นดินก็ไม่พอ จะไปใช้เงินนอกงบประมาณ หรือจะกู้เงิน ก็ติดกฎหมายมากมาย ตลอดช่วงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” จึงยังไม่ได้แจกตามสัญญา

สุดท้ายในสมัยของ “เศรษฐา” มีการเปลี่ยนเงื่อนไข คือตัดคนมีรายได้สูง หรือคนรวยออก จากกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เหลือเป้าหมายที่ได้สิทธิเพียง 45-50 ล้านคน รัฐบาลเตรียมวงเงินไว้ที่ 4.5 แสนล้านคน แต่ก็ทำได้เพียงการเปิดลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นทางรัฐเท่านั้น “เศรษฐา” ก็ต้องลงจากเก้าอี้นายกฯ เสียก่อน

 

จนมาถึงการเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่ มาเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ต้องยอมรับว่าตามกฎหมายถือว่าเป็นรัฐบาลคนละคณะกัน ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ “เศรษฐา” ได้ ซึ่งโดยรวม รัฐบาล “แพทองธาร” ยังมีแนวคิดหลักคล้ายกันกับสมัย “เศรษฐา” อาจจะด้วยเลือดของเพื่อไทย และรัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังเป็นคนเดิม

อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ในมือของรัฐบาล “แพทองธาร” ก็ยังได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สิ่งแรกคือ การแจกเงิน 10,000 บาทเป็น “เงินสด” โอนผ่านพร้อมเพย์ หมายเลขบัตรประชาชน แต่ไม่ได้โอนให้ทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

โดยรัฐบาลได้แบ่งตะกร้าใหม่ กลุ่มแรกที่ได้รับเลือกคือ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มคนพิการ รวมประมาณ 14.5 ล้านคน และรัฐบาลก็ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้ทำการโอนเงินก้อนดังกล่าวครบแล้ว ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 โดยสรุปรวมมีจ่ายเงินสำเร็จแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 14.45 ล้านราย นับเป็นสัดส่วน 99.19% ของกลุ่มเป้าหมาย และคิดเป็นวงเงิน 1.44 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ต้องการรับสิทธิ

รวมทั้งกระทรวงการคลังยังได้นำเสนออีกว่า ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการ จำนวนตัวอย่าง 3.15 หมื่นราย พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีการแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท ไปกับการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นหลักกว่า 75%

โดยมีการใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 2.ซื้อของใช้ในครัวเรือน และ 3.ชำระค่าสาธารณูปโภค

ในขณะที่สถานที่ที่นำเงิน 10,000 บาทไปใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ร้านค้าในชุมชน หรือร้านขายของชำ 2.หาบเร่ แผงลอยทั่วไป หรือในตลาด และ 3.ร้านสะดวกซื้อทั่วไป

 

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำโพลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกในกลุ่มเปราะบาง พบว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงิน ประมาณ 60% ใช้เงิน 10,000 บาทหมดแล้ว ทำให้เงินในส่วนที่ใช้ทันทีน่าจะตกอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนประชาชนอีก 40% บอกยังใช้ไม่หมด แล้วยังเก็บเงินไว้

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงประเมินว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 มีเม็ดเงินออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 1.1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเชิงลบ ที่ทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจรุนแรง เนื่องจากว่ามีสถานการณ์น้ำท่วม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 8 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น เมื่อนำเงินดิจิทัล กับความเสียหายจากสภานการณ์น้ำท่วมมาหักล้างกัน เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

 

สําหรับกลุ่มเป้าหมายที่เหลือนั้น รัฐบาลประกาศการแจกเงินดิจิทัล เฟสที่ 2 แล้ว โดยเพิ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม หรือ ครม.นัดส่งท้ายปี 2567

ทั้งนี้ รายละเอียดคือ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 นับเป็นเฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่ได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการเฟสแรก รัฐบาลตั้งกรอบวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ตั้งกรอบไว้ที่จำนวนสิทธิ 4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินเบื้องต้นได้มีคัดกรองผู้ได้สิทธิจะมีประมาณ 3.2 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท

ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิผ่านทางแอพพ์ทางรัฐ จากนั้นกำหนดโอนเงินให้ผู้ได้สิทธิไปใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ในสิ้นเดือนมกราคม 2568

 

ส่วนโครงการเงินดิจิทัลเฟส 3 ต้องรอลุ้นข่าวดีกันต่อไปว่า รัฐบาลจะแจกเมื่อไหร่

แต่ทั้งนี้ จะนับว่าข่าวร้ายดีหรือไม่ เมื่อกระทรวงการคลังระบุว่า เม็ดเงินที่จะใช้ในรอบนี้ เหลือ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ถ้าคำนวณง่ายๆ ก็จะมีผู้ได้รับสิทธิเหลือเพียง 14-15 ล้านคนเท่านั้น!!

เพราะฉะนั้น หากนับดีๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จากถ้วนหน้า 56 ล้านคน เหลือ 45-50 ล้านคน และเมื่อวันที่โอนเงินจริง เฟสแรก จากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ มี 14.5 ล้านคน ซึ่งรับเงินโดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่หากหักลบกับกลุ่มที่ลงทะเบียนในแอพพ์ทางรัฐ ก็จะเหลือคนที่รออยู่อีกประมาณ 26 ล้านคน

ส่วนเฟสสอง กลุ่มผู้สูงอายุ ที่กำลังรอรับเงินอีก 4 ล้านคน หักลบจากคนที่รอในทางรัฐอีก ก็จะต้องเหลือ 22 ล้านคน ซึ่งหากทุกคนได้รับสิทธิทั้งหมด ก็ใช้มากกว่าวงเงินที่รัฐบาลยังมีอยู่ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

นับว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงปก บิดเบือนไปจากที่หาเสียงไว้มาก

 

กระแสของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ถือเป็นเครื่องมือชั้นดีของรัฐบาล ถ้าผลักดันโครงการนี้ได้สำเร็จ ก็อาจเป็นผลงานชิ้นโบแดง ประชาชนยิ้มรับเงิน แต้มต่อของพรรคเพื่อไทยสู่การชนะเลือกตั้งในครั้งหน้า

ขณะที่อีกด้าน ก็เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายค้านนำไปโจมตี หรือให้นักร้อง (เรียน) ทั้งหลาย ในการขู่/ฟ้อง รัฐบาล นำไปสู่รอยด่างของรัฐบาลเพื่อไทยอีกครั้งก็ได้

อีกส่วนที่ลืมไม่ได้คือ เงินที่ใช้ไปกับโครงการดิจิทัล ไม่ใช่เงินแจกฟรี เพราะของฟรีไม่มีในโลก แต่เป็นเงินจากงบประมาณ ที่มีต้นทุน ที่ประชาชนคนไทยต่างต้องใช้หนี้นี้ร่วมกัน จากรายได้ประเทศ ก็คือ ภาษีที่เราจ่ายออกไป

ปัจจุบัน หนี้สาธารณะไทย ณ เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 11.7 ล้านล้านบาท หรือ 63.99% ต่อจีดีพี ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งมาจากหนี้ในช่วงโควิด และการกู้ขาดดุลงบประมาณเรื่อยมาของรัฐบาล

ติดตามไปด้วยกันว่า “เงินดิจิทัล” จะเป็นผลงานชิ้นเอก หรือเครื่องมือทำร้ายเพื่อไทยซะเอง