ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
2025 ปีชี้ชะตา
สงครามในยูเครน
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเอาไว้ชนิดที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากทั่วโลกว่า จะยุติสงครามในยูเครนลงในวันแรกหลังจากที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
และแม้ว่า ทรัมป์ยังคงเป็นทรัมป์ ที่ขึงขัง อหังการด้วยวาทกรรม แต่กลับไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะทำได้อย่างไร
เหมือนเช่นที่ผ่านมา ชัยชนะในการเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ก็ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนต้องเริ่มต้นสำรวจหาลู่ทางว่า ศึกในยูเครนจะยุติลงได้จริงหรือ
สงคราม ไม่ว่าจะที่ไหน เริ่มต้นได้ไม่ยาก หากแต่จะยุติลงไม่ได้โดยง่ายอย่างที่คิด
กรณีของสงครามในยูเครนในยามนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้
แต่ความตกลงดังกล่าวจะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าหากยูเครน และสหภาพยุโรป ไม่เอาด้วย
กระทั่งยังไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือยุติสงครามได้ด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ทรัมป์ทำความตกลงกับปูติน เพื่อยุติสงครามในยูเครนแบบ “ข้ามหัว” ยุโรปและยูเครน ก็คือ ปูตินอาจใช้ความอยากยุติสงครามของทรัมป์ บีบให้สหรัฐอเมริกายอมตามความต้องการของตนเอง แบ่งแยกฝ่ายตะวันตก บ่อนทำลายการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้รัสเซียสามารถกดดันให้ยูเครนต้องตกเป็นเบี้ยล่างและถูกควบคุมจากรัสเซียได้โดยง่าย
เปิดโอกาสให้กองทัพรัสเซียสั่งสมกำลังพลและอาวุธระลอกใหม่ เตรียมการเพื่อโจมตีประเทศในยุโรปประเทศต่อไปในอนาคต ในยามที่การรวมตัวเป็นพันธมิตรตะวันตกและระเบียบความมั่นคงในยุโรปถูกทำลายจนหายสูญไปเพราะการนี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากทรัมป์ต้องการให้ปูตินทำความตกลงด้วย สาระสำคัญหลักในความตกลงที่ว่านี้ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสำคัญอย่าง ยุติการสนับสนุนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต, กำหนดให้ยูเครนเป็นกลาง, ยอมรับการผนวกดินแดนของรัสเซียในยูเครน, ยุติการแซงก์ชั่น และจำกัดหรือยุติความช่วยเหลือทางทหารและอื่นๆ ต่อยูเครน เพื่อแลกกับการยุติสงคราม เลิกการถล่มด้วยขีปนาวุธ
กำหนดเขตปลอดทหารขึ้นระหว่างแนวรบของทั้งสองฝ่ายตามแนวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ไม่มีใครแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ปูตินจะยอมรับข้อตกลงตามแนวทางดังกล่าวนี้ ในเมื่อตระหนักดีว่า สิ่งที่ปูตินต้องการก็คือ ยูเครนที่ยอมศิโรราบ เป็นดินแดนใต้อาณัติของตน
บางคนเชื่อว่า ปูตินไม่จำเป็นต้องอาศัยความตกลงเพื่อซื้อเวลา เพราะเห็นได้ชัดว่า ปูตินเตรียมพร้อมกับการสั่งสมอาวุธระลอกใหม่อยู่แล้ว เห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณทางทหารในปีใหม่นี้สูงถึง 32 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด
บางส่วนเชื่อว่า ปูตินมีนิสัยไม่ยอมอ่อนข้อในการเจรจา มักแสดงท่าทีแข็งกร้าว บีบคั้นฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าในที่สุดแล้ว จะไม่สามารถตกลงกันได้ก็ตามที
ในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายเชื่อว่า ทรัมป์เองก็ไม่ต้องการให้โลกมองว่า เป็นผู้นำที่อ่อนแอ ยอมตามเงื่อนไขบีบคั้นของอีกฝ่ายทุกอย่าง ทุกประการ
ยิ่งไปกว่านั้น ว่ากันว่า ปูตินเองเชื่อว่ารัสเซียกำลังเป็นผู้ชนะในการทำสงครามครั้งนี้ ที่แม้จะยืดเยื้อและต้นทุนแพงระยับก็จริง แต่สุดท้ายก็จะได้รับชัยชนะในที่สุด เพราะยูเครนอ่อนแอลงเรื่อยๆ แรงสนับสนุนจากตะวันตกลดลง
แล้วทำไมต้องมาทำความตกลงยุติสงคราม ในเมื่อตนเองกำลังได้ชัยชนะ การทำความตกลงจะนำไปสู่การหยุดยิง ที่จะเปิดโอกาสให้ยูเครนได้พักหายใจ และระดมความช่วยเหลือใหม่ได้อีก
ในกรณีที่ปูตินปฏิเสธข้อเสนอยุติสงคราม ทรัมป์อาจเลือกที่จะหาหนทางบีบให้ปูตินเปลี่ยนใจ แทนที่จะยอมรับเงื่อนไขของปูตินซึ่งจะทำให้ตนเองถูกมองว่าอ่อนแอ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า หลายคนที่มีบทบาทนำในพรรครีพับลิกันเองไม่ต้องการให้ปูตินได้ชัยชนะแบบไร้เงื่อนไข
ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ชัยชนะแบบหมดจดของปูติน จะกลายเป็นแบบอย่างให้การโจมตีเพื่อยึดไต้หวันของจีน เป็นไปได้สูงมากขึ้น
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไมค์ วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทรัมป์แต่งตั้งมาหมาดๆ เสนอให้ใช้แนวทางกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียให้มากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ทุบราคาน้ำมันโลก เพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเป็นอัมพาต บีบให้ยอมรับความตกลง
กระนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับทรัมป์ ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า การทำความตกลงกับปูติน โดยข้ามหัวยูเครนกับยุโรปไปนั้น ไม่มีผลใดๆ ต่อสงคราม ยุโรป โดยเฉพาะชาติสมาชิกนาโต ไม่สามารถยอมรับเงื่อนไข ห้ามไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้
ด้วยเหตุที่ว่าสนธิสัญญานาโต เปิดกว้างรับทุกชาติเป็นสมาชิก
และการแก้ไขเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบเป็น “เอกฉันท์” จากชาติสมาชิกทั้งหมด
ในส่วนของยูเครนเอง การยอมรับเงื่อนไขว่าด้วยการผนวกดินแดนของรัสเซีย เปรียบเสมือนเป็นการ “ฆ่าตัวตาย” ทางการเมือง ไม่สามารถกระทำได้ ถ้าหากทรัมป์กับปูตินตกลงกันและมีเงื่อนไขนี้อยู่ โดยที่ยูเครนและยุโรปไม่ยอมรับ ไม่เพียงจะเกิดปัญหาข้อกฎหมายวุ่นวายตามมาเท่านั้น ยูเครนก็จะยังคงจับอาวุธเข้าสู่กับรัสเซียต่อไป และสงครามก็จะไม่มีวันสิ้นสุด
บรรดาชาติในยุโรปเอง ยกเว้นเพียงไม่กี่ประเทศ ก็ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับการผนวกดินแดนยูเครนของรัสเซีย เพราะจะกลายเป็นแบบอย่างให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันขึ้นอีกในอนาคต และทำให้ระเบียบว่าด้วยความมั่นคงในยุโรปล่มสลาย
นอกจากนั้น หลายชาติ โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่อยู่ในยุโรปตะวันออก ประชิดกับรัสเซีย ยังไม่เห็นด้วยกับการใช้ความตกลง บังคับให้ยูเครนกลายเป็นชาติเป็นกลางอีกด้วย
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า เป็นไปได้ที่ทรัมป์อาจใช้ท่าทีแข็งกร้าว บีบให้ยุโรปและยูเครนยอมรับความตกลงยุติสงคราม อาทิ ขู่ว่าจะถอนทหารจากยุโรปและไม่ยอมรับพันธะที่มีต่อนาโตต่อไป อย่างไรก็ตาม การบีบบังคับเช่นนี้ ยังคงไม่เพียงพอที่จะกดดันให้ยุโรปและยูเครน ยอมรับความตกลงยุติสงครามของทรัมป์ได้
รังแต่จะทำให้ยุโรปและยูเดรน ตัดสินใจได้ง่ายดายขึ้น เดินหน้าเอาชนะสงครามครั้งนี้ด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป
และจะทำให้ 2025 ไม่ใช่ปีแห่งการยุติสงครามในยูเครนอย่างที่ทรัมป์อวดอ้างเอาไว้ในที่สุด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022