ศึกชิง อบจ.เดือด แดง vs ส้ม สู้ยิบตา ทักษิณ กลับมาทวงคืน เปิดวิวาทะ ‘พูดเก่ง ทำไม่ได้’

บทความในประเทศ

 

ศึกชิง อบจ.เดือด

แดง vs ส้ม สู้ยิบตา

ทักษิณ กลับมาทวงคืน

เปิดวิวาทะ ‘พูดเก่ง ทำไม่ได้’

 

ศึกเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นเพิ่มดีกรีความดุเดือดและเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการต่อสู้ฟาดฟันแบบยอมกันไม่ได้ระหว่าง “แดง VS ส้ม” พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

มวยคู่เอกในครั้งนี้ทั้ง 2 พรรคต่างงัดกลยุทธ์ใช้หมัดเด็ดสู้กันยิบตาเพื่อหวังเอาชนะกันและกัน นับตั้งแต่ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อุดรธานี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

เพื่อไทยมีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รับบทเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับนายศราวุธ เพชรพนมพร โดยขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกในรอบ 18 ปี เปิดใจคิดถึงพี่น้องชาวอุดรธานี และคนอุดรธานีก็ไม่เคยลืมหน้า อยากช่วยพี่น้องให้หายจน เพราะตัวเองเคยจนมาก่อนเข้าใจเป็นอย่างดี

ขณะที่พรรคสีส้มจัดเต็มขนบุคลากรแถวหน้าลงพื้นที่หาเสียงให้กับนายคณิศร ขุริรัง นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน โดยที่ต่างฝ่ายต่างสู้กันอย่างดุเดือดชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมลดราวาศอกทั้งในพื้นที่และบนเวทีปราศรัย

ปรากฏว่า ชัยชนะยกแรกเป็นของพรรคเพื่อไทย หลังจากนายศราวุธได้รับเสียงสนับสนุนจากพี่น้องชาวอุดรธานี สูงถึง 327,487 คะแนน เอาชนะนายคณิศรที่ได้ 268,675 คะแนน ส่งผลให้นายศราวุธคว้าเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี ไปครอง

ตอกย้ำภาพความสำเร็จเมืองหลวงของคนเสื้อแดงได้อีกครั้ง

 

หลังจากการเลือกตั้งที่อุดรธานีจบลงหลายฝ่ายประเมินว่ายี่ห้อทักษิณยังขายได้ ทั้งกระแสความนิยมและผลงานที่เคยทำไว้ในอดีตเป็นที่ยอมรับของพี่น้องชาวอีสาน

ไม่เพียงแค่นั้น ทักษิณยังส่งสัญญาณถึงผู้คุม “ดีลลับ” ด้วยว่าพรรคเพื่อไทยสามารถจัดการกับพรรคสีส้มที่ไม่เป็นที่ต้องการของฝ่ายอนุรักษนิยมได้

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถคว้าชัยชนะในสนามรบที่อุดรธานีได้ก็จริง แต่ผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าช่องว่างของคะแนนระหว่าง “แดง VS ส้ม” นั้นเป็นสิ่งที่ต้องโฟกัสอย่างมีนัยสำคัญมากๆ

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อปี 2563 วิเชียร ขาวขำ จากพรรคเพื่อไทยได้ 325,933 คะแนน ส่วนฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ จากคณะก้าวหน้าได้ 185,801 คะแนน ต่างกันอยู่ 140,132 คะแนน

แต่ในปี 2567 พบว่าช่องว่างของคะแนนระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ลดลงเหลือ 58,812 คะแนน และที่สำคัญพรรคประชาชนได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มากถึง 82,874 คะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มเพียง 1,554 คะแนนเท่านั้น

แม้พรรคประชาชนจะไม่สมหวัง แต่ก็เติบโตไม่หยุดในอุดรธานี ประชาชนหันมาเลือกพรรคสีส้มเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ล่าสุดในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยก็สามารถปักธงในพื้นที่ได้สำเร็จ หลังจากนายกานต์ กัลป์ตินันท์ เอาชนะ “มาดามกบ” จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครอิสระ ไปได้ด้วยคะแนน 387,456 ต่อ 322,986 คะแนน

แน่นอนว่าเบื้องหลังชัยชนะในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งคือที่อุดรธานี และที่อุบลราชธานี ได้อิทธิพลแรงหนุนจากบารมีของทักษิณอย่างชัดเจน

สอดรับกับท่าทีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ออกมาระบุว่า ชาวอุดรธานียังคงเชื่อมั่นในตัวทักษิณ เพราะผลงานที่เคยทำไว้ในอดีตประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

ขณะที่นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพี่ชายนายกานต์ นายก อบจ.อุบลราชธานีป้ายแดง มองว่าการช่วยหาเสียงของทักษิณมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและนำมาสู่ชัยชนะในที่สุด

 

ไฮไลต์ต่อไปที่ต้องจับตามองให้ดีคือสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการท้าชิงกันระหว่าง นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ จากพรรคเพื่อไทย และ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จากพรรคประชาชน โดยศึกนี้พรรคเพื่อไทยจะแพ้ไม่ได้เลย ต้องเปิดหน้าสู้เทหมดหน้าตัก เตรียมห้ำหั่นดุเดือดกับพรรคประชาชนอีกครั้ง

ที่สำคัญทักษิณก็เพิ่งลั่นกลองรบ ท้าชนพรรคสีส้ม อู้กำเมืองอ้อนคนเชียงใหม่ให้เทคะแนนเลือกนายพิชัยเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งโจมตีพรรคประชาชนอย่างหนักหน่วงรุนแรงบนเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567

“อยากจะขอให้ช่วยกันลงคะแนนเลือกนายพิชัยให้ถึง 600,000 คะแนน และเลือกตั้งให้ ส.อบจ. ชนะเลือกตั้งทั้ง 42 เขตด้วย เพื่อที่จะได้ทำงานประสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร”

“คู่แข่งของนายกก๊องคือพรรคประชาชน ซึ่งเขาโม้ว่ามี ส.ส. 7 คน นั่นเป็นเรื่องผิดพลาด เดี๋ยวคนเชียงใหม่ก็คืน ส.ส.ให้ผมแล้ว พรรคประชาชนเป็นพรรคที่พูดเก่ง คนรุ่นใหม่พูดเก่ง แต่ยะบ่จ่าง (ทำไม่เป็น) และยังบ่ได้ยะ (ยังไม่ได้ทำ)”

“พรรคเพื่อไทยยังไงก็ทำได้ เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เวลาเศรษฐกิจไม่ดีทุกคนก็นึกถึงแต่พรรคเพื่อไทยที่ทำให้พี่น้องสุขสบาย” อดีตนายกฯ ทักษิณกล่าว

 

หลังจากนั้น ส.ส.พรรคประชาชน ได้ยกทัพออกมาสวนกลับอย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน เริ่มจากหัวหน้าเท้ง ซัดทักษิณใช้วาทกรรมทางการเมืองที่ปราศจากข้อเท็จจริง โดยที่เชียงใหม่เรามี ส.ส.เขตเป็นจำนวนมาก และหลายพื้นที่ด้วย เราพร้อมสู้ศึกสนามเลือกตั้งท้องถิ่น และเข้าไปบริหาร อบจ.

ตามมาด้วยวาทะเดือดของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ที่โพสต์ข้อความฟาดหนัก โดยระบุว่า “ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่พูดเก่ง แต่ทำไม่ได้ที่คุณทักษิณพูดถึง ผู้ที่เหมาะกับประโยคนี้มากที่สุดคือ นายกฯ แพทองธาร ไม่เชื่อก็ลองเอานโยบายที่หาเสียงไว้มากางแล้วเช็กดูว่าปีกว่าๆ ผ่านไป ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง”

ซึ่งแน่นอนว่าการต่อสู้ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ยังได้สะท้อนให้เห็นภาพทักษิณโชว์อำนาจบารมีที่ถูกมองว่าได้รับไฟเขียวจาก “ดีลลับ” เพื่อมาจัดการกับพรรคสีส้มอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

และอาจจะส่งสัญญาณไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2570 อีกด้วย ดังนั้น เกมนี้พรรคเพื่อไทยแพ้ไม่ได้ และจะไม่ยอมให้พรรคประชาชนเติบโตไปมากกว่านี้อีกแล้ว

 

ด้านมุมมองของนักวิชาการอย่าง ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวเด่นประเด็นฮอต ทางช่องยูทูบมติชนทีวี

ดร.ธเนศวร์มองว่า นายพิชัยกับนายพันธุ์อาจ เป็นคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกัน และการที่พรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งที่อุดรธานีและที่อุบลราชธานี ส่งผลบวกเรื่องกำลังใจให้กับพรรคเพื่อไทย

ซึ่งไม่ว่าใครจะแพ้หรือจะชนะนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่ทั้ง 2 พรรคก็ต้องสู้กันราวกับว่าเป็นนักกีฬาคนหนึ่ง

ขณะที่ ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แสดงความคิดเห็นผ่านทางรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง

ผศ.ดร.วันวิชิตระบุว่า พรรคประชาชนได้เข้ามาเปลี่ยนฉากทัศน์ในสนามการเมืองท้องถิ่น และดึงคะแนนเสียงของบ้านใหญ่ ทุกพรรค ทุกมุ้ง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ทักษิณต้องเดินเข้าสู่เกมการเมืองท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเอาการเมืองระดับชาติเข้าไปสู่การเมืองท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะพลิกล็อก และถือโอกาสต้อนกลุ่มต่างๆ เข้าคอกด้วย

อีกทั้งสนามการเมืองท้องถิ่นจะนำไปสู่การคืบคลานยุทธศาสตร์ 200 ที่นั่ง และกวาด 100 ที่นั่งในภาคอีสาน ซึ่งพรรคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภูมิใจไทย

สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.พิชาย ที่เชื่อว่าทักษิณกำลังพยายามโชว์ผลงานให้กับคนที่ไปทำดีลเอาไว้ และดีลนั้นก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจของพรรคเพื่อไทยในการสกัดกั้นพรรคประชาชนด้วย โดยสะท้อนให้เห็นจากคำปราศรัยบนเวทีในสนามการเลือกตั้งทั้งที่อุดรธานี ที่อุบลราชธานี และที่เชียงใหม่

“การปราศรัยของคุณทักษิณจะมีแบบแผน 5 อย่าง 1.ฟื้นฟูภาพลักษณ์ให้ลูกสาวตัวเองในฐานะนายกฯ”

“2.ปลูกความหวัง เรื่องเศรษฐกิจ ลดปัญหายาเสพติด 3.บั่นทอนพรรคประชาชน ทำให้คุณค่าของพรรคประชาชนลดลง”

“4.ข่มขู่ปรปักษ์ นักวิจารณ์ขาประจำอย่างจตุพร พรหมพันธุ์ และคนที่เป็นโจทก์หลักของคุณทักษิณคือ สนธิ ลิ้มทองกุล”

“5.อ้อนวอนคนเสื้อแดงที่เคยเลือกพรรคประชาชนให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม”

รศ.ดร.พิชาย กล่าวสรุปปิดท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจ