สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [9] ชาวสยาม โขง-ชี-มูล

ชาวสยามก่อตัวจากการค้า แล้วเติบโตด้วยการค้า ตั้งแต่การค้าระยะไกลเริ่มแรกทางทะเล ต่อเนื่องถึงการค้าโลก (สยาม มีต้นตอจากคำพื้นเมืองว่าซัม, ซำ หมายถึงพื้นที่มีตาน้ำจากใต้ดิน เรียกน้ำผุด หรือน้ำพุ เป็นบริเวณดินดำน้ำชุ่ม)

ชาวสยาม หมายถึงคนหลายชาติพันธุ์ พูดหลายภาษาต่างๆ กัน โดยใช้ภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายใน (บริเวณโขง-ชี-มูล ถึงสาละวิน) โดยมีศูนย์กลางอย่างน้อย 2 แห่ง คือ เวียงจัน (สองฝั่งแม่น้ำโขง) และเมืองเสมา (ลำตะคอง ลุ่มน้ำมูล)

การค้าระยะไกลเริ่มแรกทางทะเล คือการค้าทองแดงกับอินเดีย (ชมพูทวีป) ทำให้ผืนแผ่นดินใหญ่ (ไม่หมู่เกาะ) ได้ชื่อจากอินเดียว่า “สุวรรณภูมิ” หมายถึงดินแดนทองแดง (ไม่ทองคำ) ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1

การค้าโลก คือการค้านานาชาติ ตั้งแต่ตะวันออกกลาง, อินเดีย, และจีน โดยผ่านอุษาคเนย์และบริเวณคาบสมุทรสุวรรณภูมิ ทำให้ศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธแผ่ถึงอุษาคเนย์และสุวรรณภูมิ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถึงโขง-ชี-มูล ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000

 

เมืองเสมา

ชุมชนขนาดใหญ่นับถือศาสนาผีบนเส้นทางการค้าทองแดง ต่อมารับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วเติบโตเป็นเมืองบริเวณต้นน้ำลำตะคอง ซึ่งเรียกสมัยต่อมาว่าเมืองเสมา (เป็นชื่อกลายจากคำว่าสีมา ในนามเมืองทางการว่านครราชสีมา ตราขึ้น พ.ศ.2011 สมัยต้นอยุธยา)

เมืองเสมาเป็นเมืองแฝดเมืองคู่กับเมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ลุ่มน้ำป่าสัก และเป็นเครือข่ายบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองฝ้าย (อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์) ลุ่มน้ำลำปลายมาศ (แผนผังหมือนกัน เป็นเมืองคู่กัน เหมือน “บ้านพี่เมืองน้อง”)

คนชั้นนำพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร หรือมลายู-จาม ส่วนประชาชนพูดภาษาต่างๆ กันเพราะมีหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่”

รับศาสนาพุทธ, พราหมณ์จากอินเดีย เข้าถึงไทยทางภาคกลางลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน (กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี) ผ่านเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) เข้าถึงลำตะคอง สูงเนิน

ขุดคูน้ำคันดิน รูปวงกลมไม่สม่ำเสมอมี 2 ส่วน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กับพื้นที่การเมือง (ทุกวันนี้เรียกเมืองเสมา) คุมเส้นทางคมนาคม ที่ราบลุ่ม-ที่ราบสูง-ลุ่มน้ำโขง-อ่าวตังเกี๋ย

พระนอน อยู่นอกคูน้ำคันดิน และ ธรรมจักร ลักษณะเดียวกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน (พระนอน หมายถึง พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน, ธรรมจักร หมายถึง กงล้อพระธรรม หมุนแผ่ไป แสดงความเป็นธรรมจักรพรรดิราชของกษัตริย์เมืองนั้น)

 

วังและบ้านเรือน

ผังเมืองแบ่งเป็น 2 ส่วน เรียก เมืองใน กับ เมืองนอก (แบบเดียวกันกับเมืองศรีเทพ) เป็นผังที่กำหนดหรือวางแผนไว้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ขยายจากเมืองในออกไปเมืองนอก (ธิดา สาระยา อ้าง ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 46)

เมืองใน เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งศาสนสถานหลักของเมือง มีสระศักดิ์สิทธิ์ (ชาวบ้านเรียก “บ่ออีกา” เพราะพบอีกาชอบบินลงกินน้ำในสระ)

เมืองนอก เป็นเขตทั่วไป (ไม่ศักดิ์สิทธิ์) ที่อยู่อาศัยของคนชั้นนำ ได้แก่ พระราชา, เจ้านาย, อำมาตย์, ขุนนางผู้ใหญ่, คหบดีมีทรัพย์ ฯลฯ

วังพระราชา มีคันดินรูปสี่เหลื่ยมผืนผ้า และมีสระน้ำอยู่ตรงกลาง [คล้ายวังพระราชาในพม่าที่เมืองพุกาม, เมืองศรีเกษตร, เมืองเบกตาโน และเมืองโบราณของพยูอีกหลายแห่ง ทั้งหมดอยู่ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีในไทย]

ประชาชน ไพร่บ้านพลเมือง “ไม่ไทย” เป็นคนหลายเผ่าพันธุ์ พูดภาษาต่างๆ ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู ฯลฯ ไม่พบคนพูดภาษาไทย (ต่อไปข้างหน้าราวหลัง พ.ศ.1500 คนพูดภาษาไทยเริ่มมาเกี่ยวข้อง)

ไพร่บ้านพลเมืองตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่นอกคูน้ำคันดินทั้งเมืองในและเมืองนอกของเมืองเสมา มักหนาแน่นตามลำน้ำตั้งแต่ห้วยใฝ่ต่อเนื่องสองฝั่งลำตะคอง บนเรือนเป็นที่นอนตอนกลางคืน ส่วนใต้ถุนเป็นที่อยู่ตอนกลางวัน มีกิจกรรมทำมาหากินในชีวิตประจำวัน

แผนผังเมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา (โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นครราชสีมา)

เมืองเสมา “ศรีจนาศะ”

ชื่อดั้งเดิมของเมืองเสมาและเครือข่าย (เมืองศรีเทพ) คือ “ศรีจนาศะ” ในศิลาจารึก พ.ศ.1480 “หลักที่ 117 ศิลาจารึกหลักใหม่ ค้นพบในพระนครศรีอยุธยา” (พิมพ์อยู่ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 โดยคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2513 หน้า 216-220 ดูผนวกท้ายบท 3)

ศิลาจารึกหลักนี้พบโดยบังเอิญในพระนครศรีอยุธยา [เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2482 ขณะขุดถนนตรงเนินดินใกล้โบสถ์พราหมณ์ (เทวสถาน) บริเวณสะพานชีกุน ข้ามคลองชีกุน (ชีกุน มาจาก ชีกูณฑ์ หมายถึง พราหมณ์ทำพิธีโหมไฟบูชาพระเป็นเจ้า เป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)]

ศ.ยอร์ซ เซเดส์ เขียนอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศส (พ.ศ.2487) ต่อมาแปลเป็นภาษาไทยโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (และตรวจแก้โดย มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ) ความว่า “ไม่ทราบว่าศิลาจารึกหลักนี้มาจากไหน ตามสถานที่ค้นพบก็อาจกล่าวได้ว่าคงอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี” และ “เราไม่สามารถทราบได้ว่าศิลาจารึกนี้อยู่ที่นั่นมาตั้งแต่แรกสร้าง หรือนำมาจากที่อื่น แต่ก็คงจะนำมาจากที่อื่นมากกว่า”

 

ศรีจนาศะกับอยุธยา

ศรีจนาศะเป็นเครือญาติสืบทอดถึงอยุธยา ดังนี้

1. ศิลาจารึกหลักที่ 117 มีชื่อ “ศรีจนาศะ” เดิมอยู่เมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

2. ถูกขนย้ายไปพระนครศรีอยุธยา (โดยชนชั้นนำอยุธยา) ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา พร้อมพระขรรค์ชัยศรี (ที่พ่อขุนผาเมืองรับพระราชทานจากกษัตริย์กัมพูชา) ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวงศ์กษัตริย์ที่สืบทอดถึงอยุธยา

เป็นหลักฐานสำคัญมากแสดงว่าเมืองเสมาสืบเนื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเครือญาติกับรัฐละโว้ถึงรัฐอโยธยา และรัฐอยุธยา

 

ศรีจนาศะกับกัมพูชา

ศรีจนาศะมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติใกล้ชิดกับกัมพูชา เมื่อพบข้อความภาษาสันสกฤตว่า “กัมพุเทศานตเร” ในจารึก พ.ศ.1411 “หลักที่ 118 ศิลาจารึกบ่ออีกา” (ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 พ.ศ.2513 หน้า 221-228)

“บ่ออีกา” เป็นชื่อชาวบ้านเรียกสระน้ำกลางเมืองเสมา

“กัมพุเทศานตเร” นักปราชญ์ฝรั่งเศส 2 ท่าน แปลต่างกัน [ดูในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง พ.ศ.2545 หน้า 109-111] ดังนี้

(1.) ศ.ยอร์ช เซเดส์ แปลว่านอกอาณาเขตกัมพุเทศะ และสรุปว่าศรีจนาศะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา

(2.) ศ.โคลด ชาร์ด แปลว่าภายในประเทศกัมพูชา แล้วอธิบายว่าเนื้อความในจารึกเป็นเรื่องในพุทธศาสนา แต่ทบทวนการสร้างศิวลึงค์ แสดงว่าในช่วงเวลานั้นชาวเขมรจากกัมพูชาเข้ามาถึงแล้ว

ไม่ว่าจะแปลเป็น “นอกกัมพุเทศ” หรือ “ในกัมพุเทศ” ล้วนแสดงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติใกล้ชิดระหว่างศรีจนาศะกับกัมพูชา จึงไม่น่าจะหมายถึงเขตแดนทางการเมือง แต่มีความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น เครื่องแต่งกายในพิธีกรรมไม่เหมือนกัน เป็นต้น •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ