เงินกำลังจะหมุนไป สู่บทใหม่ของลูกหนังบราซิล

ถึงแม้ว่า บราซิล จะเป็นประเทศที่หายใจเป็นฟุตบอล มีสินค้าส่งออกเป็นนักเตะที่ไปเล่นในลีกต่างๆ ทั่วโลกมากมาย แต่ก็ไม่ค่อยมีกลุ่มธุรกิจหรือคนรวยที่เข้าไปซื้อสโมสรลีกแซมบ้ามาบริหารเหมือนทีมในลีกยุโรป

เมื่อปี 2022 จอห์น เท็กซ์เตอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน เจ้าของ ลียง ในลีกเอิง ฝรั่งเศส และถือหุ้นของ คริสตัล พาเลซ ในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินซื้อ โบตาโฟโก้ ทีมในลีกสูงสุดของบราซิลมาครอบครอง และเมื่อไม่กี่วันก่อน โบตาโฟโก้ก็คว้าแชมป์โคปา ลิเบร์ตาดอเรสคัพ หรือฟุตบอลสโมสรอเมริกาใต้มาครองได้ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้แชมป์ลีกสูงสุดของแดนแซมบ้าอีก

นับเป็นสโมสรแรกที่คว้าแชมป์ในประเทศด้วยการมีเจ้าของสโมสรเป็นชาวต่างชาติ

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2021 สโมสรฟุตบอลในบราซิลเดินหน้าทำทีมด้วยการเน้นที่ความเป็น “กีฬา” มากกว่า “ธุรกิจ” ประธานสโมสรหรือผู้บริหารจะถูกเลือกมาด้วยแฟนหรือสมาชิกของสโมสร ไม่ต้องจ่ายภาษี และกฎหมายห้ามชาวต่างชาติมาครอบครองสโมสร

จากนโยบายเหล่านั้น ทำให้ฟุตบอลในบราซิลยังเป็นกีฬาที่แฟนบอลมีส่วนร่วมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในโลก แต่ถ้ามองในแง่ของความเติบโตแล้ว หลายสโมสรในบราซิลเจอปัญหาทางการเงิน ถึงขั้นว่าอาจจะต้องยุบสโมสร

ในปี 2020 แอร์นสท์ แอนด์ ยัง บริษัทตรวจสอบบัญชีได้รวบรวมข้อมูลว่า 23 สโมสรลูกหนังในบราซิลติดหนี้รวมกันถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (68,301 ล้านบาท)

เมื่อเป็นแบบนี้ สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลจึงได้มีเปลี่ยนกฎให้แต่ละสโมสรสามารถขายหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ให้กับใครก็ได้ที่ต้องการ หรือที่เรียกว่า “Sociedade Anonima do Futebol” (SAFs) ซึ่งในฤดูกาลที่ผ่านมา มีเพียง 7 จาก 20 ทีมที่ขยับไปใช้กฎ SAFs แล้ว

นอกจากโบตาโฟโก้แล้ว ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป เจ้าของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้ซื้อหุ้น บาเฮีย ส่วน วาสโก ดา กาม่า ก็ถูกเทกโอเวอร์โดย 777 พาร์ตเนอร์ส ขณะที่ โรนัลโด้ อดีตดาวยิงทีมชาติได้ซื้อ ครูเซโร่ ก่อนจะขายต่อให้ เปโดร ลูเรนโก้ นักธุรกิจมหาเศรษฐี

ทีมใหญ่อย่าง ฟลาเมงโก้, เซาเปาโล, โครินเธียนส์, พัลเมรัส ที่ยังมีเงินหมุนเวียนที่ดี สามารถรับมือกับหนี้ที่มีอยู่ได้ ยังไม่เข้าร่วมกับกฎใหม่ที่ออกมา

ซานโต๊ส ทีมที่สร้างทั้ง เปเล่ และ เนย์มาร์ ดาวยิงระดับตำนานของบราซิล ตกชั้นไปเล่นในลีกรอง และเพิ่งเลื่อนชั้นกลับมา กำลังพิจารณาว่าจะขายหุ้นให้ใคร ส่วนทีมในลีกรองทีมอื่นๆ ก็พยายามหาคนมาซื้อหุ้นเช่นกัน

บรูโน่ ดันคอน่า หนึ่งในทีมงานของทรีคอร์ป บริษัทที่เข้าไปเทกโอเวอร์คอริติบา บอกว่า ที่ผ่านมาบราซิลไม่ได้มีวัฒนธรรมในการที่บริษัทเอกชนมาลงทุนกับสโมสรฟุตบอล แต่ตอนนี้มันกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินเยอะมาก แฟนบอลเข้าสนามเยอะขึ้น ภาพลักษณ์ของฟุตบอลอาชีพบราซิลเพิ่มมูลค่ามากกว่าเดิม

 

ความน่าสนใจจากคนมีเงินในการซื้อทีมในบราซิล คือ ราคาที่ถูกกว่าในยุโรป อย่างโบตาโฟโก้นั้น เท็กซ์เตอร์เทกโอเวอร์ด้วยเงิน 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,220 ล้านบาท) โรนัลโด้ขายครูเซโร่ออกจากการครอบครอง 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,995 ล้านบาท)

เท็กซ์เตอร์เปิดเผยว่า การเข้ามาบริหารโบตาโฟโก้หลังเทกโอเวอร์ ตอนนั้นแทบไม่มีพนักงานเลย ต้องก่อตั้งบริษัทใหม่ ที่มีคนทำงานมืออาชีพเข้ามา เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ต-อัพ ก็ไม่ผิดนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เริ่มทุกอย่างใหม่ ด้วยไอเดียใหม่ โดยไม่ต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ

ข้อดีของการเป็นเจ้าของสโมสรในบราซิล คือ การที่ประเทศนี้เต็มไปด้วยคนที่มีพรสวรรค์ด้านฟุตบอลมากมาย ในช่วงเวลานี้มีนักเตะบราซิลถึง 1,338 คน ที่ออกไปเล่นในลีกต่างๆ ทั่วโลก การปั้นนักเตะส่งออกไปจึงเป็นอีกวิธีหาเงินก้อนโตที่ทำกำไรมหาศาลให้กับสโมสรได้ในอนาคต

เมื่อเงินก้อนใหญ่เข้าไปลงทุนในวงการฟุตบอลบราซิลแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่แน่ว่าโลกลูกหนังในอนาคตจะเปลี่ยนจากฝั่งยุโรปมาอยู่ในฝั่งอเมริกาใต้บ้าง นักเตะชื่อดังจากยุโรปอาจจะทยอยกันไปเล่นในบราซิล อาร์เจนตินา มากกว่าการที่แข้งฝีเท้าดีจะไหลไปทางยุโรป

และอาจจะมีส่วนช่วยให้ทีมชาติบราซิลกลับไปคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง หลังจากห่างหายมาแล้วกว่า 20 ปี •