ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
จากงานศึกษาหลายชิ้นที่สนใจมิติทางจิตใจที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่สาธารณะของคนสูงวัย ผมมองเห็นประเด็นหลักร่วมกันอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ ต้องเป็นพื้นที่ที่สร้างความรู้สึกมี “อิสรภาพ” (Autonomy) และ “ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวก” (Fostering positive social relationships)
อิสรภาพในกรณีนี้หมายถึงอะไร?
คนสูงวัยโดยธรรมชาติ ศักยภาพร่างกายจะลดลง ทุกอย่างจะต้องทำช้าลง อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะแย่ลง แต่ความปารถนาที่จะใช้ชีวิตสาธารณะนอกบ้านด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้อง “พึ่งพาคนอื่น” มากจนเกินไป แม้จะทำได้ช้าลงก็ตาม คือสิ่งสำคัญ และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อมิติทางจิตใจของคนกลุ่มนี้
หากพวกเขายังรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุม จัดการ พื้นที่โดยรอบได้ (Mastery of space) สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างไรตามความชอบของตนเอง
นั่นย่อมแสดงว่าพวกเขามี “อิสรภาพ” ในการควบคุมชีวิตของตนเองได้
การ “พึ่งพาคนอื่น” เป็นความซับซ้อนทางอารมณ์ที่เราต้องเข้าใจให้มากขึ้น
แม้หลายครอบครัวจะดูแลผู้สูงวัยอย่างดี ทั้งมีคนดูแลใกล้ชิดตลอดเวลาและพาไปทุกที่ที่อยากไป
แต่การที่ต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่นแทบทุกอย่างกลับไม่เป็นผลดี เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ อาจนำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่าที่ส่งผลต่อจิตใจมาก
ในบรรดาการพึ่งพาที่ไม่น่าพึงประสงค์ การเดินทางไม่ได้ด้วยตัวของตัวเองคือหนึ่งในความน่าเศร้าที่สุด
งานวิจัยบางชิ้นในต่างประเทศชี้ว่า การเดินทางโดยรถเมล์ (ด้วยตนเอง) เป็นสัญลักษณ์ของ “อิสรภาพ” สำหรับผู้สูงวัย และหากต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ผู้สูงวัยเป็นจำนวนไม่น้อยไม่ชอบเลยที่ต้องมีผู้อื่นมาขับรถให้ (อ้างถึงในบทความ Aging society in Bangkok and the factors affecting mobility of elderly in urban public spaces and transportation facilities โดย Sariya Srichuae, Vilas Nitivattananon, Ranjith Perera)
แม้ในสังคมเอเชีย การพึ่งพาคนอื่นโดยเฉพาะลูกหลานจะเป็นที่ยอมรับได้มาก แต่จากการพูดคุยกับผู้สูงวัยหลายคน ต่างตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า หากสามารถเดินทางด้วยตนเองได้ก็จะเลือกทำ
นั่นก็เพราะ การเดินทางได้ด้วยตนเองคือสัญลักษณ์ของ “อิสรภาพ” ช่วยสร้างความมั่นใจ ภูมิใจในตนเอง และยืนยันว่าพวกเขายังสามารถควบคุมจัดการพื้นที่โดยรอบได้
บนฐานข้อมูลนี้ หากสังคมไทยต้องการเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เราต้องเริ่มคิดถึงการปฏิรูประบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถเมล์ กันอย่างจริงจังเร่งด่วนเลย
รถเมล์ไทย ในหลายเส้นทาง มีลักษณะที่ใกล้เคียง “ระบบขนส่งสังคมสงเคราะห์” แบบตามมีตามเกิด มากกว่า “ระบบขนส่งมวลชน” ที่คำนึงถึงคุณภาพและบริการ
การจอดรถที่ไม่ตรงป้าย ขับเร็ว มาไม่ตรงเวลา มารยาทของคนขับและกระเป๋ารถเมล์ ตลอดจนการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในรถ ล้วนบั่นทอนความมั่นใจของผู้สูงวัยและเป็นอุปสรรคต่อสังคมสูงวัยทั้งสิ้น
จริงๆ ไม่ใช่แค่คนสูงวัย แต่คนวัยทำงานร่างกายแข็งแรงก็ลำบากไม่น้อยกับการใช้สอยรถเมล์ไทย
ในญี่ปุ่น ประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวไปก่อนไทยนานแล้ว บนรถเมล์จะออกแบบพื้นที่ทั้งหมดที่ใกล้ประตูไว้สำหรับคนสูงวัย คนพิการ เด็ก และคนท้อง ซึ่งกินพื้นที่ใหญ่มากหากเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของรถ
เมื่อรถจอดป้าย รถจะเอียงตัวลงทันทีเพื่อให้ก้าวขึ้นรถไม่ลำบาก และหากคนขับเห็นคนสูงวัยนั่งรถเข็นรอที่ป้าย คนขับจะลงมากางทางลาดเอียงพร้อมเข็นรถขึ้นไปให้ด้วยตนเอง โดยไม่สนใจว่าจะเสียเวลาแค่ไหน
และเมื่อรถจอดป้ายก็จะจอดนิ่งสนิท ตรงป้าย และรอให้ทุกคนลงจากรถอย่างปลอดภัย ไม่ร้องตะโกนเร่ง หรือแสดงอารมณ์เสียใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยระบบเช่นนี้ย่อมส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้ผู้สูงวัยญี่ปุ่นมั่นใจที่จะออกมาใช้ชีวิตสาธารณะตามท้องถนน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาคนเดียว) มากกว่าคนสูงวัยไทยอย่างเทียบไม่ได้
ลักษณะดังกล่าวมิใช่การจัดการเฉพาะมิติทางกายภาพของรถเมล์ แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการใช้รถเมล์ที่ทำให้ผู้สูงวัยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระสังคม มั่นใจที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านด้วยตนเอง
นี่คือ “อิสรภาพ” ในสังคมสูงวัย
งานศึกษาของนักวิชาการยังพบด้วยว่า การออกแบบองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่เมืองที่ไม่ดี ส่งผลกระทบเชิงลบมากต่อ “อิสรภาพ” ของผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้าไม่เรียบ ทางลาดชันที่ไม่ได้มาตรฐาน ขอบฟุตบาทที่สูงเกินไป ปัญหาการข้ามถนน ป้ายสัญญาณจราจรที่ไม่เหมาะสม การขาดที่พักริมทาง แสงสว่างไม่เพียงพอบนทางเท้า การขาดห้องน้ำสาธารณะ ฯลฯ (ดูในบทความ Public Spaces for Older People : A Review of the Relationship between Public Space to Quality of Life โดย Sadiq Younes, Bruno Marques, and Jacqueline McIntosh)
ประเด็นเหล่านี้แม้ดูเป็นเรื่องมิติทางกายภาพ แต่หลายอย่างสัมพันธ์กับมิติทางจิตใจและความรู้สึกมี “อิสรภาพ” โดยตรง
ทางเท้าที่เรียบคือหัวใจของสังคมสูงวัย มันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตสาธารณะมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับคนวัยหนุ่มสาว ทางเท้าขรุขระอาจส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับคนสูงวัยอาจสร้างอุบัติเหตุที่รุนแรงได้
มองมาที่ทางเท้ากรุงเทพฯ ถ้าพูดกันตามจริง ต้องบอกเลยว่า ยังไม่พร้อมเลยสำหรับสังคมสูงวัย แม้หลายแห่งจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีอีกมหาศาลที่สภาพแย่ ยังไม่นับสิ่งกีดขวางอีกนับไม่ถ้วนที่ขัดขวางการเดินของคนสูงวัย
ซึ่งทั้งหมดต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงแนวคิดและโครงสร้างขนานใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหานี้
สะพานลอย เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบเมืองที่ไม่เหมาะเลยกับสังคมสูงวัย
หากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการข้ามถนนที่ให้อำนาจกับคนข้ามถนนมากกว่ารถยนต์ได้สำเร็จ (ประเด็นนี้มีคนพูดถึงมาก ขอไม่ลงในรายละเอียด) เมืองของเราอาจไม่จำเป็นต้องมีสะพานลอยเลยก็ได้
สะพานลอยควรเป็นตัวเลือกสุดท้ายสำหรับกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เท่านั้น และหากต้องมี ก็ควรมีการออกแบบลิฟต์ประกบอยู่สองข้างของสะพานด้วย
เก้าอี้นั่งริมทางและห้องน้ำสาธารณะเป็นอีกส่วนขององค์ประกอบเมืองที่ควรให้ความสำคัญ
หากเราคาดหวังให้คนสูงวัยกล้าที่จะเดินออกนอกบ้านมากขึ้น อยากจะให้พวกเขาไปไกลมากขึ้นกว่าละแวกบ้าน ที่นั่งพักที่มากเพียงพอและกระจายตัวในระยะที่เหมาะสมคือสิ่งจำเป็น
ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องหาเก้าอี้มาตั้ง เพียงแค่การออกแบบองค์ประกอบของรั้วอาคารสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่ตั้งอยู่ติดทางเท้า ให้เป็นได้มากกว่ารั้ว ให้ตัวมันเอื้อต่อการนั่งพักของผู้คน เท่านี้ก็จะช่วยให้มีจุดนั่งพักกระจายไปได้ทั่วเมือง
สำหรับนักออกแบบหลายคนอาจไม่ชอบการออกแบบเช่นนี้เพราะเสี่ยงที่จะกลายเป็นที่นั่งและนอนของคนไร้บ้าน แม้ส่วนตัวจะไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ก็พอเข้าใจทัศนะดังกล่าวอยู่บ้าง
กระนั้น การแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะด้วยวิธีการออกแบบที่ไม่ให้เกิดพื้นที่นั่งพักหน้าโครงการตัวเอง ก็เป็นเพียงปลายเหตุที่แทบช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากปัดทิ้งปัญหาให้พ้นหน้าบ้านตัวเองไปไกลๆ เท่านั้น นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมทำให้เมืองไม่น่าอยู่และไม่เอื้อต่อผู้สูงวัยอีกต่างหาก
ห้องน้ำสาธารณะก็เช่นกัน ควรเริ่มพิจารณาเพิ่มในจุดที่กระจายตัวมากขึ้นบนทางเท้าหรือที่ว่างที่เชื่อมต่อกับทางเท้าสาธารณะ
การมองเทียบญี่ปุ่นอีกครั้งในกรณีนี้ช่วยให้เราเข้าใจประเด็นนี้ได้ดีขึ้น เราจะพบว่ามีห้องน้ำสาธารณะปรากฏตามริมทางเท้าและพื้นที่ลานโล่งในส่วนต่างๆ ของเมือง มากกว่าในไทยอย่างชัดเจน
หลายคนอาจบอกว่า ห้องน้ำในห้างไทยและในปั๊มน้ำมันมีเป็นจำนวนมากที่น่าจะเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ แต่เราต้องยอมรับว่า การกระจายตัวของห้างสรรพสินค้าและปั๊มน้ำมันในเขตตัวเมืองมิได้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดนั้น
ที่สำคัญ ห้องน้ำเหล่านั้น หากคิดให้ดี ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่เอกชน แม้โดยภาพรวมจะเปิดให้คนทุกคนใช้
แต่ลองคิดดูว่า หากเป็นคนสูงวัยที่ลักษณะภายนอกดูไม่สะอาดหรือมีกิริยาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป การเข้าไปใช้งานในพื้นที่เอกชนก็อาจไม่ง่ายนัก
ดังนั้น การสร้างห้องน้ำสาธารณะที่แท้จริง (อย่างน้อยในย่านที่ไม่มีห้างหรือปั๊มในบริเวณใกล้เคียง) ย่อมเอื้อต่อคนทุกคนได้มากกว่า
ทั้งหมดที่พูดมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น และหากทำได้จริง จะช่วยลดภาวะการพึ่งพาคนอื่นลงได้ และช่วยสร้าง “อิสรภาพ” ในจิตใจให้แก่ผู้สูงวัยมากขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022