‘หลานม่า’ หนังไทยเรื่องแรกที่ติด ‘ชอร์ตลิสต์ออสการ์’ ในทรรศนะ ‘นักวิชาการต่างชาติ’

คนมองหนัง

“เติ้งเหมาฮุ่ย” นักวิชาการเชื้อสายจีน อาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร เพิ่งเขียนบทความถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” หรือในชื่อภาษาอังกฤษ “How to Make Millions Before Grandma Dies” ซึ่งกำลังเข้าฉายที่อังกฤษในช่วงคริสต์มาสนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ https://theconversation.com/

เขานิยามว่าภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้กลายเป็นหนังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างปรากฏการณ์ “ฮิตอย่างไม่คาดฝัน” (sleeper hit) ประจำปี 2024

(หมายถึงหนังที่ผู้สร้างไม่ได้คาดหวังไว้แต่แรกเริ่มว่าจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมหาศาล แต่หลังจากนั้น หนังกลับค่อยๆ ทำเงินและพบพานความสำเร็จในด้านอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจนน่าทึ่ง)

ถึงปัจจุบัน “หลานม่า” สร้างสถิติเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดอันดับสองของตลาดในประเทศไทยประจำปีนี้ (รองจาก “ธี่หยด 2”)

เป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในตลาดประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

เป็นหนังเอเชียที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้สูงที่สุดในตลาดประเทศอินโดนีเซีย

และที่สำคัญ “หลานม่า” เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบ “ชอร์ตลิสต์” 15 เรื่องสุดท้าย ที่มีลุ้นจะเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม” ในช่วงต้นปีหน้า

 

นักวิชาการด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์มองว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ “หลานม่า” กลายเป็นผลงานยอดฮิตในหลายประเทศ ก็คือ กระแสการสร้างคลิปไวรัลในโซเชียลมีเดีย

เมื่อคนดูหลายรายของหนังไทยเรื่องนี้โพสต์วิดีโอในแนว “before and after” ซึ่งจับปฏิกิริยาของตนเองระหว่างก่อนและหลังชมหนัง (หรือบางคนก็ถ่ายคลิปปฏิกิริยาอาการของตนเองระหว่างนั่งชมหนังในโรงด้วย)

ภาพที่ปรากฏออกมาก็คือ ก่อนเข้าชมหนัง ทุกคนจะยังดูมีความสุขยิ้มแย้มแจ่มใส แต่หลังชมหนังจบ พวกเขาและเธอกลับร่ำไห้ออกมาอย่างหนัก จนแทบที่จะควบคุมตัวเองไม่ได้

“เติ้งเหมาฮุ่ย” ชี้ว่ากระแสในโลกออนไลน์ดังกล่าว ได้ช่วยกระตุ้นเสริมให้ผู้ชมอยากตีตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์เรียกน้ำตาที่จริงใจซื่อตรงเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านภาพยนตร์ศึกษาเชื้อสายเอเชียยังมองลึกลงไปกว่านั้นว่า “หลานม่า” นั้นสร้างแรงบันดาลใจหรือทำงานได้ดีกับกลุ่มผู้ชมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มากเป็นพิเศษ

เนื่องจากหนังเรื่องนี้ได้เปิดโอกาสให้คนดูกลุ่มดังกล่าวสามารถแตกประเด็นไปพูดคุยเรื่องสายสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับคนรุ่นอาวุโสในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย

“เติ้งเหมาฮุ่ย” ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสองวัฒนธรรม เปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า ขณะที่สังคมตะวันตกมักพูดถึงเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ โดยพุ่งประเด็นไปที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานพักฟื้นผู้ป่วย-คนชรา รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับการดูแลคนชราในครอบครัว

เรื่องเล่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการดูแลคนสูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กลับมุ่งความสนใจไปที่เรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นในครอบครัว และกระบวนการแลกเปลี่ยน-พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างคนต่างรุ่นเหล่านั้น

เรื่องเล่าแบบนี้ปรากฏอยู่ใน “หลานม่า” และหนังอีกหลายเรื่องจากทั้งสองภูมิภาค

 

“เติ้งเหมาฮุ่ย” วิเคราะห์ลงลึกไปอีกขั้นว่า บทวิพากษ์เชิงเพศสภาพที่แหลมคมมากของ “หลานม่า” ก็คือ ในครอบครัวเอเชียส่วนใหญ่ ภาระในการดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ มักตกอยู่กับสมาชิกที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ดังที่ตัวละครลูกสาวของอาม่าในหนังพูดเปรียบเทียบเอาไว้ว่า “ลูกชายได้สมบัติ ลูกสาวได้มะเร็ง”

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว “หลานม่า” จะได้รับรางวัลออสการ์ (รวมถึงเข้ารอบห้าเรื่องสุดท้าย) หรือไม่ แต่สำหรับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ หนังไทยเรื่องนี้นั้นได้รับรางวัลที่ตัวเองคู่ควรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นั่นก็คือคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพผู้ชมคนดูจำนวนมาก ซึ่งพากันร้องห่มร้องไห้ให้แก่ความเศร้าสะเทือนใจและความประทับใจที่พวกเขามีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ •

 

ข้อมูลจาก https://theconversation.com/how-to-make-millions-before-grandma-dies-is-encouraging-people-to-share-stories-about-their-grandparents-245788

 

 ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน | คนมองหนัง