เมื่อนิสสัน-ฮอนด้า จ่อควบรวมกิจการ สะเทือนตลาดยานยนต์โลก

Makoto Uchida, Director, Representative Executive Officer, President and CEO of Nissan Motor Corporation, Toshihiro Mibe, Director, President and Representative Executive Officer of Honda and Takao Kato, Director, Representative Executive Officer, President & CEO of Mitsubishi Motors, pose for a photo following a joint press conference on their merger talks, in Tokyo, Japan, December 23, 2024. REUTERS/Kim Kyung-Hoon

บทความต่างประเทศ

 

เมื่อนิสสัน-ฮอนด้า

จ่อควบรวมกิจการ

สะเทือนตลาดยานยนต์โลก

 

เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกยานยนต์อีกครั้ง เมื่อนิสสันและฮอนด้า 2 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ว่า ได้ตกลงที่จะเปิดการเจรจาพูดคุยเพื่อควบรวมกิจการ ซึ่งจะเป็นการกำเนิดกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ (auto group) รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงโตโยต้าและโฟล์กสวาเกน

การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทรถยนต์อันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่นจะทำให้เกิดคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงใดบ้างในโลกยานยนต์ในอนาคตข้างหน้า

ฮอนด้าและนิสสันได้ตั้งเป้าว่าจะบรรลุข้อตกลงการควบรวมกิจการภายในเดือนมิถุนายน 2025 และจะจัดตั้งบริษัท holding company ภายในสิงหาคม 2026

นอกจากทั้ง 2 บริษัทแล้ว มิตซูบิชิ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่นิสสันถือหุ้นใหญ่ ได้ตกลงที่จะร่วมการพูดคุยเพื่อควบรวมกิจการด้วย

 

บริษัท holding company ที่ตั้งขึ้นใหม่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียวภายในสิงหาคม 2026 ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายรวมทั้งสิ้น 30 ล้านล้านเยน หรือ 6.53 ล้านล้านบาท และฮอนด้าจะเป็นฝ่ายแต่งตั้งบอร์ดบริหารส่วนใหญ่ของ holding company รวมถึงตำแหน่งประธานบริษัท

ขณะนี้ตลาดยานยนต์ของโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแบรนด์รถยนต์จากจีนอย่าง BYD และ Great Wall Motor กำลังแย่งส่วนแบ่งการตลาดในหลายประเทศทั่วโลกไปจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังตามหลังจีนในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า

นายโทชิฮิโระ มิเบะ ซีอีโอของฮอนด้ากล่าวว่า การควบรวมกิจการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐนี้มีขึ้นเพื่อสู้กับการเติบโตของค่ายรถยนต์จีน และต้องมีแผนต่อสู้กับเรื่องนี้ภายในปี 2030 มิเช่นนั้นก็อาจเจอกับความพ่ายแพ้ต่อค่ายรถยนต์คู่แข่ง

ความร่วมมือระหว่างฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิจะทำให้พวกเขาสามารถแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งอย่างเทสลาได้

อาจรวมถึงการรวมโรงงานผลิต หมายความว่าอาจมีการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ตัวเองในโรงงานของอีกฝ่าย

 

ข่าวการควบรวมกิจการนี้อาจเป็นข่าวดีอย่างมากสำหรับนิสสันที่กำลังประสบปัญหาการเงิน และเพิ่งประกาศปลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่งไปเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงลดกำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกลง 20% หลังมีการขาดทุนรายไตรมาสมากถึง 9.3 พันล้านเยน หรือ 2,083 ล้านบาท

โดยนิสสันประสบปัญหามานานหลายปีหลังการจับกุมนายคาร์ลอส กอส์น อดีตซีอีโอของนิสสันในปี 2018 ในข้อหาฉ้อโกง

อย่างไรก็ตาม การผนึกกำลังระหว่างนิสสันและฮอนด้าก็จะสร้างความได้เปรียบให้แก่ฮอนด้าเช่นกัน ตามความเห็นของนายแซม ฟิโอรานี รองประธานบริษัท AutoForecast Solutions เพราะนิสสันมีประสบการณ์ในการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้ามานานหลายปี รวมถึงเครื่องยนต์ไฮบริดที่อาจช่วยฮอนด้าในการพัฒนารถยนต์อีวีและรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ของตัวเองได้

และแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า นิสสันลีฟ และนิสสัน อริยะ จะมียอดขายที่ไม่ดีในตลาดอเมริกา แต่รถยนต์ทั้งสองรุ่นนี้ก็เป็นรถที่ดีซึ่งนิสสันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเองกับมือ ทำให้อาจเป็นประโยชน์กับฮอนด้าในอนาคตเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอยู่บ้าง เช่น มีความกังวลว่าเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐขึ้นรับตำแหน่งจะมีการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ไม่เว้นแม้แต่พันธมิตรสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและแคนาดา ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องราคารถยนต์ที่ผู้คนไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อรถป้ายแดงราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7 ล้านบาท

ทำให้บริษัทรถยนต์อย่างนิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้าต้องพิจารณาลดราคารถยนต์ของตัวเองลงในตลาดอเมริกาเพื่อเพิ่มยอดขาย แต่ก็จะลดกำไรของทางบริษัทลง

ถึงอนาคตของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกยังคาดเดาไม่ได้

แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณดีที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด เข้มข้นเช่นตอนนี้