ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ผมเพิ่งไปเยี่ยมเยือนโครงการ Horse Help Human ของคุณอิม พชร สูงเด่น นักเขียนนักแปลซึ่งใช้เวลาว่างไปดูแลม้าที่เจ็บป่วยหรือปลดเกษียณจากงานแล้ว ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีคอกม้าและพื้นที่ธรรมชาติสวยงาม
ที่จริงตัวผมเองไม่ได้รู้สึกชื่นชอบม้าเป็นพิเศษ และออกจะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยด้วยซ้ำ
ทว่า วันที่ไปนั้น เขามีประเด็นเสวนากันเรื่องจิตวิทยา การบำบัดและการที่ม้ากลายเป็นส่วนช่วยเหลือผู้คนโดยเฉพาะเด็กๆ ทั้งในด้านจิตใจและพัฒนาการ จึงได้เปิดหูเปิดตาพอสมควร และได้อยู่ใกล้ม้าพักใหญ่ๆ ก็เห็นว่าเป็นสัตว์ที่น่ารักดี
“อาชาบำบัด” ยังคงเป็นอะไรที่ใหม่มากในบ้านเรา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในทางสหวิทยาการ ทั้งจากฝ่ายนักจิตวิทยา แพทย์ นักพัฒนาการเด็ก นักกายภาพ ครูฝึกม้า ฯลฯ ในการพัฒนาศาสตร์นี้ขึ้นมา แต่อย่างน้อยก็หวังใจว่าจะเกิดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะคนที่รักสัตว์เป็นทุนเดิม
คุณกร ครูฝึกและผู้ดูแลเล่าถึงประสบการณ์ของท่านเองเกี่ยวกับการทำงานด้านนี้ ท่านเล่าถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็กๆ ซึ่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับม้าที่ท่านดูแลอยู่ หรือแม้แต่เคสผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านจิตใจก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้น
ตัวคุณอิมเองซึ่งสนใจด้านจิตวิญญาณเป็นทุนเดิมก็ได้รับการเยียวยาและผูกพันกับม้ามากเป็นพิเศษ จึงหันมาทำโครงการนี้ในฐานะที่เป็นพันธกิจของชีวิต
ใครมีโอกาสและสนใจก็ลองแวะไปให้กำลังใจดูครับ หรือจะทักทายกันในอินสตาแกรมของโครงการก่อนก็ได้
ผมคงไม่อาจนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเล่าต่อในพื้นที่นี้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่น
แต่พอได้ไปอยู่ใกล้ๆ ม้ากับคนที่เขารักม้าจริงๆ ได้รับคำบอกเล่าที่น่าสนใจ ได้เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งโอบกอดม้าและอาบน้ำให้ด้วยความรัก ได้เห็นธงมนต์ “ม้าสายลม” แบบทิเบตปลิวไสวในพื้นที่ ก็ชวนให้คิดและรู้สึกอะไรหลายอย่าง
อันที่จริงก่อนหน้านี้ ผมได้ศึกษาเทพมนต์จีน (สีนจิ่ว) ของพระโลเชี้ยไท่จู้หรือนาจาในบทที่ไม่แพร่หลายนัก แล้วปรากฏว่าในนั้นมีประโยคนั้นกล่าวถึงเทพบริวารของนาจาว่าเป็น “หงู่เถว-ม่าบิ่น” หรือ “หัววัว-หน้าม้า”
ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะเข้าใจว่า หัววัว-หน้าม้าเป็นนายนิรยบาลหรือยมทูตในปรโลก มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับนาจา
พอได้เจอม้าก็เหมือนได้เจอลูกน้องของพระธรรมบาลที่รักยิ่ง แล้วยังชวนให้นึกถึงม้าในอีกหลายความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนความผูกพันกันระหว่างม้ากับมนุษย์
จึงกลายมาเป็นบทความชิ้นนี้
ในอินเดีย ม้าปรากฏเป็นเทพเจ้าเก่าแก่ถึงยุคฤคเวท คือพระอัศวินหรืออัศวินีกุมาร (อัศวินหมายถึงม้า) เทพอัศวินเป็นชายหนุ่มฝาแฝด มีศีรษะเป็นม้า เป็นเทพเจ้าแห่งยาหรือการแพทย์และการบำบัดรักษา ซึ่งคอยช่วยบรรดาปวงเทวะในโอกาสต่างๆ และมักเสด็จไปไหนมาไหนด้วยรถม้า
เทพอัศวินอาจเป็นองค์เดียวกันกับคาสเตอร์และพอลลักซ์ (Castor and Pollux) เทพเจ้าฝาแฝดในศาสนาของกรีก อันที่จริงแล้ว ศาสนาโบราณต่างๆ โดยเฉพาะในเขตอิทธิพลของพวกอารยัน มักกล่าวถึงเทพเจ้าฝาแฝดที่เกี่ยวข้องกับม้าอีกหลายองค์ เช่น Ašvieniai ของชาวลิทัวเนีย หรือเทพพื้นเมืองของชาวลัทเวีย เป็นต้น
แม้หลังยุคพระเวท บทบาทของเทพอัศวินจะลดลง แต่ก็ยังปรากฏในคัมภีร์ชั้นหลังอย่างมหาภารตะและปุราณะ
ในคัมภีร์ปุราณะ เทพอัศวินเป็นบุตรของพระสุริยเทพกับนางสัญชยา บุตรีของพระวิศวกรรม เหตุเพราะพระสุริยเทพมาสมสู่กับนางในรูปของม้า นางจึงให้กำเนิดลูกแฝดกึ่งม้ากึ่งมนุษย์
ส่วนในมหาภารตะเล่าไว้ว่า กษัตริย์ปาณฑุไม่สามารถมีบุตรได้ จึงขอบุตรจากพวกเทพ พระอัศวินจึงได้ทำให้นางมัทรีตั้งท้องลูกแฝด ได้แก่นกุลและสหเทพ
นอกจากพระอัศวินแล้ว ยังมีเทพเจ้าอีกองค์สององค์ที่เกี่ยวข้องกับม้าในศาสนาฮินดู คือพระกัลกิและพระหยครีวะ
พระกัลกิเป็นอวตารของพระวิษณุในปางที่สิบ ซึ่งจะเสด็จลงมาก็เมื่อสิ้นสุดกลียุคแล้ว พระองค์จะมล้างอธรรมทั้งปวง และปกครองโลกยุคใหม่ด้วยธรรมอันไพบูลย์ แม้จะมิได้มีรูปร่างเป็นม้า แต่พระกัลกิถูกระบุว่าเป็น “บุรุษขี่ม้าขาว” ที่จะมาช่วยโลกให้พ้นจากความวุ่นวาย ทำนองเดียวกับยุคพระศรีอริยเมตไตรยของพุทธศาสนา หรือโลกหลังการพิพากษาของพระเจ้า ในศาสนากลุ่มอับราฮัมมิก
ส่วนหยครีวะ เป็นพระวิษณุอวตารในรูปของบุรุษมีศีรษะเป็นม้าขาว มีสี่กร บางตำนานไม่นับเนื่องหยครีวะเข้าในอวตารทั้งสิบ (ทศาวตาร) ของพระองค์
ตํานานเล่าว่า คราเมื่อพระพรหมทรงสร้างโลก อสูรมธุและไกตภะได้มาขโมยเอาพระเวทไป พระวิษณุจึงอวตารเป็นหยครีวะไปต่อสู้กับอสูรทั้งสองและชิงเอาพระเวทกลับมา แต่ก็บางตำนานระบุถึงอสูรหยครีวะ ซึ่งเป็นราชาของพวกทานพ และถูกพระวิษณุปราบ กระนั้น หยครีวะซึ่งเป็นเทพดูจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากกว่า โดยเฉพาะในพวกไวษณพนิกาย มักมีเทวาลัยของพระหยครีวะแทรกอยู่ในเทวาลัยใหญ่ๆ ของพระวิษณุ
นอกจากเทพเจ้าสำคัญเหล่านี้ บรรดาเทพนักรบหรือเทพพื้นเมืองของอินเดียใต้และตะวันตกเฉียงใต้มักจะขี่ม้า เช่น พระคันโฑพาหรือบรรดาครามเทวตาของชาวทมิฬ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเมื่อเทพเจ้าเหล่านี้ออกตรวจตราในหมู่บ้านเพื่อลงฑัณฑ์ผีและคนชั่ว ก็จะได้ยินเสียงม้าร้องและฝีเท้าม้าควบไปรอบๆ เป็นที่ขนพองสยองเกล้า
เทพม้าในวัฒนธรรมอินเดีย จึงมีทั้งความเป็นอารยันอย่างวัฒนธรรมสันสกฤต และความเป็นพื้นเมืองของชาวบ้านไปด้วยในเวลาเดียวกัน
นอกจากศาสนาฮินดูแล้วพุทธศาสนาก็รับเอาเทพเจ้าที่เกี่ยวกับม้าไปด้วย
นิรมาณกายหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทรงปรากฏเป็นยักษ์หรือบุรุษกำยำมีหัวม้าอยู่บนเศียร มีเพลิงแห่งความกรุณาล้อมรอบ ปางนี้มีพระนามว่า หยครีวะหรือหยครีวะอวโลกิตเศวร เช่นเดียวกับนามของเทพเจ้าฮินดู ถือเป็นพระปางพิโรธหนึ่งที่สำคัญองค์ในฝ่ายวัชรยาน
ในจีนและบางนิกายของทิเบต ถือว่าพระหยครีวะเป็นพระธรรมบาลที่คอบปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งยังช่วยขจัดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับผิวหนัง แต่บทบาทที่สำคัญของพระองค์คือทรงประหาร “รุทระ” เจ้าแห่งความยึดมั่นในอัตตาตัวตน ด้วยความกรุณาอันทรงพลัง
ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับศาสนาฮินดูคงทราบว่า รุทระนั้นเป็นนามหนึ่งที่สำคัญของพระศิวะ แต่ในฝ่ายวัชรยานระบุนามรุทระหมายถึงบุคคลผู้เข้าถึงการยึดมั่นถือมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งเป็นสภาวะที่ตรงกับข้ามกับ “พุทธะ”
เหตุเพราะเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวรพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาซึ่งมีหัวม้าปรากฏอยู่นั่นเอง จึงเชื่อกันว่า พระหยครีวะอวโลกิเตศวรเป็นปางที่เน้นโปรด “เดรัจฉานภูมิ” ไม่ว่าจะหมายถึงโลกของเหล่าเดรัจฉานจริงๆ หรือจิตใจแบบเดรัจฉานอันหมายถึง จิตใจที่โง่งมจมอยู่กับสัญชาตญาณที่ไม่อาจมีปัญญาขึ้นมาได้ก็ตาม
นอกจากนี้ ในจีนยังมีการนับถือเทพเจ้าม้า โดยเฉพาะม้าเซ็กเธาว์ของเทพเจ้ากวนอู จึงปรากฏรูปเทพม้าอยู่ในศาลให้คนกราบไหว้ด้วย
ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า ที่ลานใต้ต้นโพธิ์ของวัดมังกรกมลาวาสเคยมีรูปปั้นม้า หมาและเสืออยู่ เข้าใจว่าสัตว์สามอย่างนี้ในทางโหราศาสตร์จีนถือเป็นปีนักษัตรซึ่งเป็นมิตรหรือต้องโฉลกกัน จึงเป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่กลมเกลียวหรือสามปรองดอง (ซำฮะ) ซึ่งจะนำความสุขและความสำเร็จมาให้
ส่วนเทพหัววัว-หน้าม้า ผมคิดเอาเองว่า คงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาจากพวกเทพกลุ่มธรรมบาลในวัชรยาน แล้วจึงเข้าไปสู่ความเชื่อชาวบ้าน ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ากลัวจึงเกณฑ์ให้เป็นนายนิรยบาลในนรกภูมิ คอยช่วยพระยมราชจัดการสัตว์นรกที่เกเรให้ได้รับการลงฑัณฑ์ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะได้รับการกราบไหว้อย่างมากจากกลุ่มผู้นิยมเทพเจ้าจีนสายนรกหรือสายปรโลก ซึ่งเชื่อว่าให้คุณแรงด้านโชคลาภ
ม้าในมิติความเชื่อยังมีอีกมากมายหลายหลาก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ผมมีความรู้น้อยแสนน้อย แต่คงนำเสนอพอสังเขปเท่าที่สติปัญญาของตัวจะมีเพียงเท่านี้ อาจมีผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะเขียนขึ้นจากความทรงจำเป็นหลัก ก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านไว้ด้วย
อย่างน้อยคงได้เห็นภาพความสัมพันธ์ของคนกับม้าซึ่งมีมาแต่อดีต
และหวังว่าคนจะช่วยม้า ม้าจะช่วยคนกันไปเช่นนี้
อีกนานๆ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022