ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงราวทศวรรษเดียว กับเรื่องราวที่ตื่นเต้นและน่าสนใจ
ช่วงปลายปี 2567 ผ่านพ้น มีเรื่องหนึ่งที่มีความสนใจพุ่งขึ้น เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย-ซีพี
อันเนื่องจากบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT หนึ่งในบริษัทแกนสำคัญในธุรกิจค้าปลีกเครือซีพี ได้เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เมื่อ 13 ธันวาคม 2567 และ 16 ธันวาคม 2567) เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทย่อยเข้าร่วมลงทุนในทรัพย์สินในโครงการหนึ่ง เกี่ยวข้องกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC
เรื่องราวถูกตีความหลากหลาย กลายเป็นกระแส ให้ความสนใจพุ่งเป้าไปที่ MQDC บทสรุปคงเป็นไปตามนั้น ขณะเป็นเรื่องที่น่าติดตาม ข้ามปี ในที่นี่จะขอร่วมแจม โดยเฉพาะการนำเสนอไทม์ไลน์บางแง่มุมในเรื่องราวเกี่ยวกับ MQDC
เบื้องต้น ขออ้างอิงอย่างเป็นทางการ (https://mqdc.com/th) มีข้อมูลพื้นฐานไว้ “คุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) และเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC” เป็นที่รู้กันในแวดวงว่า เธอเป็นบุตรีคนสุดท้องของธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำซีพีนั่นเอง
ในฐานะผู้ติดตามเรื่องราวซีพีมาตลอด 4 ทศวรรษ พอจะได้สัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับ MQDC หรือบางทีเรียกย่อๆ ว่า “แมกโนเลีย” มานานพอสมควร ครั้งแรกๆ มาจากรายการ Reality show ที่โด่งดังในอดีต ทาง True Vision เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่เรียกว่า Academic Fantasia หรือ AF
“…ได้รับลิขสิทธิ์มาจากรายการ La Academia ประเทศเม็กซิโก เข้าถึงผู้ชมชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 2546 เพียงปีเดียว ก็ข้ามสู่อีกซีกโลกมาโด่งดังที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ก่อนจะมาถึงไทยในปี 2548” ผมเองเคยเสนอให้ภาพเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจซีพีไว้
AF ไทยชื่อเต็มๆ ว่า True Academic Fantasia “AF จัดรายการ 24 ชั่วโมง และรายการอื่นๆ ประกอบ ผ่านช่องทางหลัก True vision (ทีวีแบบบอกรับ) สถานที่ถ่ายทำอยู่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพี โดย True move (กิจการโทรศัพท์มือถือ) สนับสนุนกิจกรรมการโหวต ฯลฯ ทั้งนี้ รวมไปถึงการโฆษณาสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในเครือซีพี”
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ว่านั้น ปรากฏชื่อ “แมกโนเลีย” ขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกๆ
ตัดฉากมาอีกช่วงราว ต้นปี 2557 มีข่าวใหญ่เกี่ยวข้อง “แมกโนเลีย” อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่
“สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ร่วมกับแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุณภาพ และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ประสานพลังรังสรรค์อภิมหาโครงการคุณภาพสุดหรูเลิศอลังการ…เพื่อถ่ายทอดความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งรวมอารยธรรมไทยสู่ใจชาวไทยและชาวโลก พร้อมปั้นกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เป็นแดนสวรรค์ระดับโลกที่คนทุกชาติอยากมาเยี่ยมยลที่สุด” ข่าวและภาพอันตื่นเต้น และดูมีความสำคัญอย่างมาก สะท้อนผ่านจากสื่อเครือซีพี
ภาพผู้มาร่วมงานแถลงข่าว ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ-ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี (ขณะนั้น) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการบริษัท สยามพิวรรธน์
นอกนั้นยังมีอีกบางคนที่น่าสนใจ รวมทั้ง ศุภชัย เจียรวนนท์ (ขณะนั้น-ประธานกรรมการบริหาร ทรูคอร์เปอเรชั่น) มาร่วมงานด้วย
นั่นคือโครงการใหญ่-ICON SIAM ซึ่ง MQDC รับผิดชอบเฉพาะงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งฉากประกอบอันยิ่งใหญ่ของศูนย์การค้า จุดหมายหนึ่งที่สำคัญของผู้มาเยือนกรุงเทพฯ ในเวลานี้
ในปลายปีนั่นเอง (2557) เรื่องราวมาเจาะจง ผู้ก่อตั้ง MQA ทิพพาภรณ์กำลังเปลี่ยนนามสกุลจาก “เจียรวนนท์” มาเป็น “อริยวรารมย์”
งานใหญ่มีผู้มาร่วมกว่า 4,000 คน แน่นขนัดห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี โดยเฉพาะแก่เจ้าสาว ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ บรรดาแขกเหรื่อล้วนเป็นคนสำคัญ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะแวดวงทหาร และนักธุรกิจชั้นนำ
ในค่ำคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น มาเป็นประธาน
พร้อมด้วยบุคคลสำคัญในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ด้านหน้าเวที มีอีกหลายโต๊ะ เป็นของอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชวน หลีกภัย และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรี)
นอกนั้นมีอดีตรัฐมนตรีในยุคต่างๆ พร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดก็ว่าได้ ไปจนถึงบุคคลสำคัญอื่นๆ เช่น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เวลานั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ
และที่ขาดไม่ได้อีกคนคือนักธุรกิจใหญ่ไทยเช่นกัน เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มทีทีซี
ไทม์ไลน์สำคัญมาถึงในปี 2564 เกี่ยวข้องเจาะจงกับโครงการที่เป็นเรื่องเป็นราวในขณะนี้ “Foster + Partners เผยโฉม Masterplan โครงการ The Forestias ภายใต้แนวคิด ‘Smart City’ MQDC ตั้งใจนำเสนอไว้” (อ้างอีกครั้ง จาก https://mqdc.com/th -19 พฤษภาคม 2564) โดยขยายความอีกท่อน
“Foster + Partners บริษัทสถาปนิกชั้นนำระดับโลกได้พูดถึงความสำคัญของการออกแบบ masterplan โครงการ The Forestias ที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีและมีความสุขบนเว็บไซต์หลักของบริษัท…Foster + Partners ยังเน้นถึงเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่จะเป็นเมืองของคนทุกวัย เป็นศูนย์กลางทางสุขภาพ และเป็นเมืองแห่งความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้คือวิถีชีวิตของคนเมืองแบบใหม่ของคนไทยผ่านการใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและนวัตกรรม”
ปัจจุบันข้อมูลทางการของ Foster + Partners เกี่ยวกับ The Forestias ยังคงปรากฏอยู่ (หากสนใจ ไปที่ https://www.fosterandpartners.com/projects/the-forestias) มีข้อมูลอีกบางอย่างควรรู้ระบุไว้ โครงการอ้างถึงการเกิดขึ้นในปี 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 นอกจากให้ภาพใหญ่ที่เรียกว่า Master plan แล้ว Foster + Partners รับงานต่อเนื่อง ออกแบบ อีก 2 โครงการในนั้น คือ Mulberry Grove Villas (เริ่มงานปี 2560 แล้วเสร็จ 2568) และ Six Senses Residences (ในปี 2560 แล้วเสร็จ 2567)
ทั้งนี้ ระบุไว้ชัดเจน ลูกค้า (Client) คือ Magnolia Quality Development Corporation Limited
เท่าที่มีข้อมูล เป็นโครงการใหญ่โครงการเดียวในประเทศไทย ที่ปรากฏในระบบข้อมูลของ Foster + Partners ในอีกด้านตีความหมายได้ว่า The Forestias โครงการเอกชนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในไทย กรณีสำคัญ มีความสัมพันธ์กับสถาปนิกระดับโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ได้เจาะจงกล่าวถึงงาน Master plan ว่าได้รับรางวัลเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมมากพอควรด้วย
Foster + Partners เป็นกิจกรรมการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก สำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ผู้ก่อตั้งคือ Lord Normal Foster มีผลงานมากมายในอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ London City Hall, HSBC Tower ในฮ่องกง Deutsche Bank Place ในออสเตรเลีย และสำนักงานใหญ่ Apple ที่เรียก Apple Park ในสหรัฐ เป็นต้น
กรณี CPAXT จัดตั้งบริษัทย่อย เข้าร่วมลงทุนในทรัพย์สินในโครงการหนึ่งที่ว่าไว้ ก็อยู่ใน The Forestias นี่ล่ะ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022