เสรีนิยมใหม่ ทุนนิยมที่มีหัวใจ | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา เสรีนิยมใหม่ ทุนนิยมที่มีหัวใจ

คุณทักษิณ ชินวัตร แสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกหลังจาก 17 ปีที่ไม่ได้อยู่ประเทศไทยบนเวทีที่จัดโดยเครือเนชั่น

ครั้งนั้นคุณทักษิณพูดถึงตัวเองและประเทศไทยในภาพกว้าง เหมือนคนเพิ่งกลับบ้านหลังจากไม่ได้กลับมานานเกือบสองทศวรรษ แล้วเอามือไพล่หลังเดินไปรอบๆ บ้านแล้วพูดถึงความรู้สึกของตัวเองที่ได้กลับบ้าน

และฉายให้เห็นภาพกว้างๆ ว่า บ้านหลังนี้มีปัญหาอะไร มีจุดอ่อนอะไร มีจุดแข็งอะไร อยากขอแรงใครในบ้านให้เข้ามาช่วยกันซ่อมแซมปรับปรุงบ้านหลังนี้บ้าง

แต่การแสดงวิสัยทัศน์ล่าสุดของคุณทักษิณในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชสีมา ในหัวข้อ “อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย” ยิ่งทำให้เห็นวิธีคิด วิธีการมองโลก วิธีการมองปัญหา อันนำไปสู่หนทางในการแก้ปัญหาของคุณทักษิณ

ประการแรกที่ชัดมากคือ คุณทักษิณเป็นคนมองเห็นทุกโอกาสในอุปสรรค เป็นคนมองโลกในแง่บวก ที่ไม่ได้แปลว่ามองโลกในแง่ดี แต่เป็นคนที่เห็นปัญหา เห็นอุปสรรค แล้วจะไม่พูดว่า เรื่องนี้ยาก เรื่องนี้เหนือการควบคุม เรื่องนี้เกินกำลัง เรื่องนี้ “แตะต้องไม่ได้” ต้องไปทลายโครงสร้างก่อน

เช่น เมื่อคุณทักษิณเห็นว่า ระบบราชการทรงพลังอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง อำนาจทุกอย่างแทบจะอยู่ในมือปลัดกระทรวง ถ้าปลัดกระทรวงไม่ขยับ รัฐมนตรีแทบจะทำอะไรไม่ได้

คุณทักษิณไม่ได้พูดเรื่องจะไปปฏิรูประบบราชการ หรือรู้ว่า เรื่องนี้มันตีบตัน ขยับไม่ได้ แต่คุณทักษิณใช้วิธีบายพาสตรงนั้น แล้วบอกว่า “เอาล่ะ เรามาสร้างความแข็งแกร่งให้กับคน” กันดีกว่า หรือที่พวกปัญญาชนทั้งหลายชอบพูดว่า empowering นั่นแหละ

มากที่สุดคือคุณทักษิณพูดว่า ประเทศไทยไม่ค่อยมีเจ้าภาพ ต่างคนต่างทำ ไม่มีใครรวมพลังของแต่ละภาคส่วนเข้าหากัน

 

นอกจากเป็นคนมองโลกในด้านบวก คุณทักษิณตอกย้ำให้คนอีสานเห็นจุดแข็งของตนเองก่อน นั่นคือ “กันดารคือสินทรัพย์”

ก่อนหน้านี้คนอีสาน ภาคอีสานถูกกักขังไว้กับวาทกรรมและภาพจำว่า คนอีสานโง่ จน เจ็บ อีสานคือความแร้นแค้น แห้งแหล้ง สกปรก พยาธิใบไม้ในตับ การไหลตาย ความล้าหลัง ผู้หญิงอีสานหนีความยากจนไปเป็นเมียเช่า เมียฝรั่ง

คุณทักษิณกลับมายืนยันกับพี่น้องชาวอีสานว่า ความกันดารและความยากจนหล่อหลอมให้คนอีสานมีเลือดนักสู้ ทรหด แข็งแกร่ง มี resillence หรือภาษาไทยอาจใช้คำว่าความสามารถในการปรับตัวและอยู่รอดในทุกสภาวการณ์ ทุกข้อจำกัด ทำให้คนอีสานมีความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาปัญญาใหม่ๆ ได้ตลอด

คุณทักษิณไม่ได้เริ่มพูดถึงคนอีสานในทำนองว่า พวกท่านยากจน ผมจึงอยากมาช่วยท่าน

แต่คุณทักษิณพูดว่า พวกท่านโคตรเจ๋ง และเจ๋งกว่านี้ได้อีก

พร้อมกันนั้น คุณทักษิณก็จุดประกายไปพร้อมๆ กันว่า แม้กันดารจะเป็นสินทรัพย์ แต่เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับความกันดารยากจนตลอดไป

อีสานมีพื้นที่กว้างขวาง มีประชากรมากที่สุด และเป็นอู่อารยธรรมโลก เช่น บ้านเชียง

ความอดทน และความสามารถในการปรับตัวของคนอีสาน ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ดนตรี อารมณ์ขัน ความรักสนุก เหล่านี้คือเสน่ห์ คือซอฟต์เพาเวอร์ของอีสาน

ขณะเดียวกันเราต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีมาทำให้อีสานมั่งคั่งได้มากกว่านี้ ข้อจำกัดทางธรรมชาติ เช่น เรื่องดิน เรื่องน้ำ

หากเราใช้เกษตรแม่นยำมาเสริม ภาคการเกษตรของอีสานจะสร้างความมั่งคั่งให้พี่น้องเกษตรกรได้

คุณทักษิณไม่ได้เอ่ยคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” แต่คุณทักษิณบอกว่าต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ผู้ว่าฯ อบจ. ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

คุณทักษิณไม่ได้ใช้คำว่าปฏิรูปการศึกษา แต่คุณทักษิณพูดด้วยภาษาที่ง่ายกว่านั้น นั่นคือ หากเรียนจนจบปริญญาแล้วตกงานก็ไม่มีประโยชน์ โลกในปัจจุบันนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปริญญามากไปกว่า “ทักษะ”

และทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้คือทักษะการ “สั่งให้เอไอทำงาน”

คุณทักษิณบายพาสกระทรวงศึกษาฯ ไปที่การพัฒนาทักษะมนุษย์นอกกรอบของการศึกษาในระบบไปโดยสิ้นเชิง

และเครื่องมือที่ช่วยให้เราบายพาสระบบการศึกษาคร่ำครึล้าหลังจากระบบราชการอันน่าสิ้นหวังนี้ก็คือเทคโนโลยี และเอไอ

เพียงแต่มีเจ้าภาพทำเรื่องนี้มาเริ่มต้นให้นิดเดียว หากประชาชนเข้าถึงเอไอปุ๊บ ใช้งานเอไอเป็นปั๊บ ที่เหลือจากนั้นย่อมไม่เหลือบ่ากว่าแรงของประชาชนชาวอีสานที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ความอดทน และความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นต้นทุนเดิมที่ติดตัวมาจาก “กันดารคือสินทรัพย์”

ฟังแล้วโคตรจะ empowering แล้วก็ให้นึกออกว่า เออ สมัยนี้เอไอสามารถทำในสิ่งเราต้องใช้เวลาเรียนในโรงเรียนเป็นสิบๆ ปีกว่าจะทำได้

หรือเอไอสามารถทำให้สิ่งที่หากเราทำเองต้องใช้เวลาสามชั่วโมงแต่เอไอทำเสร็จในสามวินาที

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่หลุดจากระบบการศึกษาในอดีต ตอนนี้แค่เข้ามาเรียนรู้การใช้งาน และสั่งงานเอไอ มันคือทางลัดของของคนเคยด้อยโอกาสจริงๆ

เอไอคือเครื่องมือปลดปล่อยมนุษยชาติจากพันธนาการของการกดขี่ทางชนชั้นในวงเล็บว่าหากใช้งานมันเป็น

 

คุณทักษิณยังพูดเรื่องการผูกขาด แต่ไม่ได้มองว่าทางออกจะต้องไปทะเลาะกับนายทุน

ทางออกของคุณทักษิณยังเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยี เช่น การขายข้าว แทนการขายผ่านสมาคมผู้ส่งออก ทำไมเราไม่ทำให้ชาวนาทำอีคอมเมิร์ซ

ฟังเผินๆ ใครๆ ก็ทำอีคอมเมิร์ซ (และหากยังจำกันได้ คุณทักษิณพูดเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนายกฯ ปี 2544 เป็นต้นมา)

แต่ด้วยอีคอมเมิร์ซไม่ใช่หรือ ที่ทุกวันนี้เราอยู่กับโชปี้ เทมู ลาซาด้า ซึ่งอยู่ “เหนือ” ทั้งพรมแดน กฎหมาย และระบบภาษีของรัฐชาติแบบศตวรรษที่ 20

หากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ข้ามและลอดพรมแดนรัฐชาติได้ ทำไมแพลตฟอร์มแบบอีคอมเมิร์ซจะทะลุการผูกขาดทางการค้าแบบรัฐราชการไทยที่ก่อตัวมาในศตวรรษที่ยี่สิบไม่ได้

การบายพาสระบบโครงสร้างรัฐราชการอันเทอะทะยังทำผ่านระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีปเข้าด้วยกัน และอีสานคือประตูบานใหญ่ที่สุดที่จะปลดปล่อยเรา สินค้าของเรา แรงงานของเรา ออกสู่โลกกว้าง

 

สินค้าโอท็อป วิธีคิดของคุณทักษิณก็น่าทึ่งอีก

นั่นคือ อยากให้คนอีสานเรียนรู้จากต่างประเทศไปเลย ทำไมผ้าพันคอแอร์เมสขายผืนละห้าหมื่นบาทได้

เราไปตั้งร้านโอท็อปของเราติดกับร้านแบรนด์เนมเลยดีไหม เพื่อให้เราเห็นดีไซน์ เห็นคุณภาพแล้วจะได้มายกระดับสินค้าโอท็อปของเรา

ฟังเผินๆ เหมือนไร้สาระ แค่ไปเปิดร้านติดกับกับร้านแบรนด์เนมมันจะไปยกระดับสินค้าโอท็อปได้อย่างไร?

การยกระดับสินค้าโอท็อป เราต้องมีอาร์แอนด์ดีสิ

เราต้องส่งดีไซเนอร์ไปดีไซน์งานร่วมกับชาวบ้านสิ เราต้องจับชาวบ้านไปอบรม ทำเวิร์กช็อปสิ

แต่แนวคิดเรื่องเปิดร้านโอท็อป ติดกับร้านแบรนด์เนม มันสะท้อนให้เห็นว่า คุณทักษิณเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องการคิดแทนคนอื่น

คุณทักษิณไม่ใช่คนที่จะไปเที่ยวงานโอท็อป หยิบงานขึ้นชิ้นหนึ่งแล้วบอกว่า ไม่สวย ไม่ได้คุณภาพ แข่งขันกับใครไม่ได้

แต่คุณทักษิณมองว่า หากชาวบ้านคนไทยเราได้เห็น ได้รู้ ได้หยิบจับ สัมผัส ได้เปรียบเทียบ วันหนึ่งชาวบ้านชาวไทยเราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่า อยากผลิตสินค้าแบบไหน และทำอย่างไรถึงจะไปถึงความฝันนั้น

จนวันหนึ่งชาวบ้านคนไทยเราสุกงอมด้วยตนเอง จากการได้รู้ ได้เห็น ด้วยตนเอง วันนั้นพวกเขาจะกำหนดเองว่าเขาอยากได้อะไรเพิ่ม อยากเรียนอะไรเพิ่ม

รัฐบาลมีหน้าที่เสริมและสนองความต้องการของชาวบ้าน

ไม่ใช่ไปคิดแทนเขาหรือเอารสนิยมตัวเองไปตัดสินเขาก่อนที่เขาจะรู้ จะเห็น จะได้สัมผัสด้วยตัวเอง

และนั่นแหละคือการพัมนาต่อยอดที่ยั่งยืนและไม่เสูญเสียเอกลักษณ์ และเสน่ห์ดั้งเดิมที่ตัวตนของเรา

 

ไม่เพียงเท่านั้น คุณทักษิณยังนำเสนอวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้าง controversial หรือ สุ่มเสี่ยงจะเกิดความเข้าใจผิดว่าคุณทักษิณไม่ให้เกียรติผู้หญิงหรือเปล่าผ่านแนวคิดการส่ง “ความงามแบบอีสานสู่เวทีนางแบบและนายแบบโลก”

เหตุที่สุ่มเสี่ยงเพราะคุณทักษิณไม่ได้ใช้คำศัพท์หรูหรารัดกุมตามรสนิยมของปัญญาชน

แต่คุณทักษิณเลือกใช้ภาษาง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ว่า ที่ผ่านมาหน้าตาแบบไทย หรือหน้าตาแบบคนอีสานถูกดูถูกเหยียดหยามว่าเป็น “หน้าลาว” หรือแรงกว่านั้นเราเคยได้ยินคำว่า “หน้าตาเหมือนเมียเช่า”

ประจักษ์พยานของมายาคติในเรื่องนี้คือ นวนิยายและละครเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด”

คนอีสาน หรือแม้แต่คนไทยที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนจึงถูกมาตรฐานของสังคมตัดสินว่า ไม่สวย บ้านนอก จน มีแนวโน้มเป็นกะหรี่ เป็นเมียเช่า

ผู้ชายก็หน้าตาเหมาะจะทำได้อาชีพเดียวคือนักมวย เพราะมาตรฐานความงามของสังคมไทยไปสมาทานเอาความงามของชนชั้นนำ ฐานะดี (ในสังคมไทยคือพวกลูกผสม ถ้าไม่ผสมจีนก็ผสมแขก หรือแม้แต่ผสมฝรั่ง) นั่นคือ ผิวขาว หน้ารูปไข่

และปมด้อยเช่นนี้เองที่ทำให้ชาวไทยหน้าตาแบบชาวพื้นเมือง (รวมถึงตัวฉันเอง) ต้องไปทำศัลยกรรมเหลาคาง เสริมจมูก หานู่นนี่นั่นมากินให้ผิวขาว

เพราะเราไม่ภูมิใจในหน้าตาตามชาติพันธุ์

เพราะบรรทัดฐาน มาตรฐานของสังคมมันไปกำหนดให้หน้าตาแบบชนพื้นเมืองของเรามันมีค่ามีความหมายเชิงสัญญะว่าคือความโง่ ความจน ความเจ็บ ความลาว ความไร้การศึกษา

ส่วนความขาว ความบอบบาง ความหน้ารูปไข่ ถูกเรียกว่าลุคแบบ “ลูกคุณ” ที่มาจากคำว่า “ลูกคุณหนู”

 

สิ่งที่คุณทักษิณพูดหากจะใช้ศัพท์แสงตามรสนิยมปัญญาชน นี่คือการท้าทายมาตรฐานความงามแบบ “อาณานิคม”

นี่คือการ decolonized ในแบบที่ปัญญาชนทั้งหลายกำลัง woke กันอยู่ไม่ใช่หรือ?

ความงามแบบอาณานิคมที่ครอบงำและทำให้เราดูถูกตนเอง ดูถูกคนพื้นเมือง คือความงามแบบผิวขาว หน้ารูปไข่ จมูกโด่งเป็นสัน คือสภาวะที่เรายอมรับความเหนือกว่าของอำนาจเจ้าอาณานิคม

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาณานิคมฝรั่งผิวขาว หรือเจ้าอาณานิคมชาวกรุงเทพฯ ลูกหลานจีนโพ้นทะเล ความงามแบบลูกเจ้าสัว แบบสายหยุดพูดจีบจีน

คุณทักษิณกำลังจะบอกว่า เรามาผลักดันความงามแบบอีสาน แบบที่ใครๆ เขาดูถูกไปสู่เวทีสากลเลยดีกว่า ไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ

และอีกครั้งเราบายพาสชนชั้นนำ บายพาสชนชั้นกลางที่ไปสมาทานแนวคิดความงามแบบเจ้าอาณานิคม และไปยิ่งใหญ่บนเวทีโลกดีกว่า

การค้นหาความงามที่ไม่ถูกศัลยกรรมเพื่อไปเดินแคตวอล์กบนเวทีโลก ไม่ต่างอะไรจากที่ ลูพิต้า ยองโก พาความงามแบบผู้หญิงแอฟริกันไปสู่ฮอลลีวู้ด ไปสู่การขึ้นทำเนียบเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกในปี 2014

อาจจะไม่ใช่ผู้หญิงอีสานทุกคนจะกลายเป็นนางแบบระดับโลก

แต่หากเรามีนางแบบลูกอีสาน นายแบบลูกอีสานไปอยู่บนแคตวอล์กของดีไซเนอร์แบรนด์ระดับโลก ดวงตา สีผม โครงหน้า สีผิว แบบคนอีสานจะกลับมา empowering พวกเราทุกคน

หากใครเคยอ่านนวนิยายเรื่อง The Bluest eyes ของ Toni Morrison จะเข้าใจว่าในยุคหนึ่งเด็กหญิงผิวสีในอเมริกาอยากมีตาสีฟ้า พวกเธอยอมทรมานตัวเองไปนั่งยืดผมหยิกของตัวเองให้กลายเป็นผมตรงเหมือนเด็กหญิงผิวขาว ในยุคสมัยที่ตุ๊กตาที่เด็กหญิงทุกคนมีล้วนแต่ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า และผิวขาว

อีกตั้งหลายทศสวรรษ กว่าความงามแบบคนผิวสี (ซึ่งมีสัญญะของความเป็นทาส เป็นพลเมืองชั้นสอง) จะได้รับการยอมรับ อีกตั้งหลายทศวรรษกว่าคนผิวดำจะภาคภูมิใจในความงามแบบคนดำ

กว่าเราจะมีบียอนเซ่ รีฮานน่า กว่าเราจะมีลูพิต้า ยองโก ที่ทำให้เด็กหญิงในแอฟริกาโอบรับสีผิวของตัวเองว่าเลอค่าไม่แพ้คนผิวขาว

ฉันใดก็ฉันนั้น เพียงเราได้ส่งออกความงามอย่างอีสานสู่เวทีโลก สิ่งที่เด็กหญิง ชาย เกย์ กะเทยอีสานจะได้รับกลับมาคือ self-esteem

ไม่ถูกกดทับจากโลกทัศน์ที่เจ้าอาณานิคมครองความเหนือกว่าในทุกมิติ และทำให้ชาวพื้นเมืองอย่างเรารู้สึกเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสองแลกกับคำว่า “สวยแบบลูกคุณ” จะไม่ใช่คำชมอีกต่อไป แต่ทำให้ดูเป็นตัวตลกมากกว่า

 

การศัลยกรรมความงามไม่ใช่เรื่องผิด หรือเรื่องไม่ดี แต่เราจะศัลยกรรมเพื่อความพอใจของเรา ไม่ใช่ศัลยกรรมเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนชนชั้นที่เคยเป็น “นายทาส” ของเราเพื่อแลกกับการยอมรับ เพื่อแลกกับการได้มีลุคแบบ “ลูกคุณ”

ความคิดที่ก้าวหน้า ล้ำยุคของคุณทักษิณคือ ในขณะที่เราบ้าประกวดนางงาม คุณทักษิณบอกว่าเป็นนางแบบดีกว่า นางงามมีได้เวทีละหนึ่งคน แต่นางแบบมีได้ไม่จำกัด รับงานได้หลากหลาย

นางแบบสมัยนี้ไม่ได้มีแต่คนผอม ยังมีนางแบบพลัสไซซ์

นางแบบสำหรับเสื้อผ้าที่ผลิตมาเพื่อคนสูงไม่เกินร้อยหกสิบเซ็นต์

และในสังคมสูงวัยยังต้องการนางแบบและนายแบบอายุหกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบ

เพราะฉะนั้น มองในแง่เศรษฐกิจ การสร้างคนสู่อาชีพนายแบบ นางแบบ เปิดกว้าง และ inclusive กว่าการประกวดนางงาม

ประกวดนางงามคนที่รวยคือเจ้าของเวทีประกวด แต่ประกวดนางแบบคือการสร้างงาน สร้างอาชีพได้จริง และการเป็นนางแบบก็ต้องการเทรนนิ่งอย่างเป็นระบบ

คำถามคือ แล้วทำไมเราจะไม่สร้าง ไม่ทำในสิ่งนี้ เพราะมันไม่มีอะไรเสียหายเลย

เด็กๆ ที่เข้าเทรนนิ่ง แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพนี้ อย่างน้อยก็ได้เรียนเรื่องโภชนาการ ออกกำลังกาย เรียนการเดิน เรียนรู้เรื่องการจัดวางบุคลิกภาพ ไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ได้กับได้

คุณทักษิณยังมีอะไรให้เราทึ่ง และมาก่อนกาลเสมอ

และสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากและเป็นดีเอ็นเอของคุณทักษิณ ตกทอดมาเป็นมรดกของพรรคเพื่อไทยคือการไม่คิดแทนชาวบ้าน แต่เน้นการเสริมพลัง สร้างโอกาส ไม่ตัดสิน แต่ถนัดในการสร้างเงื่อนไข ลดอุปสรรคให้คนได้เลือกหนทางเติบโตของตนเอง

เสรีนิยมใหม่ ทุนนิยมที่มีหัวใจโดยแท้