ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
งานวิจัยของ Joshua Kurlantzick นักวิจัยชาวอเมริกันด้านการเมืองและประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ แห่ง Council Foreign Relations-CFR1 เขาตั้งข้อสังเกตว่า ปี 2567 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ปี 2567 เป็นปีแห่งประชาธิปไตย
เขายังแปลกใจว่าปี 2567 เป็นปีที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีการเลือกตั้ง แต่ทิศทางการเมืองของประเทศที่มีการเลือกตั้ง หาได้โน้มนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยไม่
หลายประเทศปกครองในระบอบอัตตาธิปไตย (Autocracy) คือ ปกครองโดยคนคนเดียว มีการกดขี่ทางการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้ปกครองคนเดียวใช้ระบบ พวกพ้อง (Cronyism) เข้ามาบริหารประเทศและทุจริตคอร์รัปชั่น
แล้วเขาก็ยกตัวอย่างการเมือง การเลือกตั้งและระบอบอัตตาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ
อินโดนีเซีย การเมืองของ 2 ตระกูล
อินโดนีเซียประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพลเมืองนับถืออิสลามเป็นส่วนใหญ่ แล้วยังมีศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์อื่นๆ ดำรงอยู่ตามเกาะใหญ่น้อย
กล่าวคร่าวๆ ที่สุด อินโดนีเซียผ่านการเป็นอาณานิคมของดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์นานร่วม 350 ปี มีการกอบกู้เอกราชด้วยลัทธิชาตินิยมโดยผู้นำทหารที่เข้มแข็งและเป็นนักชาตินิยมคนสำคัญของโลกคือ ซูการ์โน (Sukarno)
หลังจากอินนีเซียได้รับเอกราช ลัทธิทหารได้ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่นำโดยนายพลซูฮาร์โต (Suharto) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี มีนาคม 1968
เขาปกครองประเทศภายใต้ระบบ New Order ยาวนานถึงปี 1998 แล้วก้าวลงจากตำแหน่ง
ปีนั้นอันเป็นช่วงเวลาที่โลกและอินโดนีเซียเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจโลก ที่ขนามนามกันว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง
แล้วภูมิรัฐศาสตร์ของอินโดนีเซียก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยกระบวนการเป็นประชาธิปไตย (Democratization) การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ที่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองหลายพรรคแข่งขันกัน
ระบอบสาธารณรัฐของอินโดนีเซียยังถูกท้าทายจาก ความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย (Unity among Diversity) ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม
แต่คนอินโดนีเซียสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐท่ามกลางพลังของภาคประชาสังคม ท่ามกลางนโยบายประชานิยม (Populism) ของนักการเมืองพลเรือนที่เป็นพลังการเมืองสำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
แล้วความซับซ้อนทางการเมืองอินโดนีเซียเดิม ยังก้าวมาสู่อีกความซับซ้อนหนึ่งคือ การเมืองครอบครัว (Family Politics) ตระกูล Subianto นำโดย Prabowo Subianto และตระกูล Widodo นำโดย Joko Widodo จวบจนการเมือง ณ ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
การเลือกตั้งประธานาธิบดี
การเมืองปัจจุบันเป็นการแข่งขันระหว่าง Prabowo Subianto ที่ช่วงทศวรรษ 1990 เขาถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากช่วงที่เขาเป็นนายพลใหญ่ผู้นำทหาร โดยเฉพาะการสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ตอนนี้ Prabowo Subianto กำลังแข่งขันกับประธานาธิบดี Joko Widodo ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าประธานาธิบดี Joko Widodo มีโอกาสพ่ายแพ้การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออดีตนายพล Prabowo Subianto
แกนนำกำลังท้าชิงกันอย่างสูสี จนมีอีกฝ่ายหนึ่งชิงความได้เปรียบโดยสถาปนา การเมืองครอบครัว คือ ลูกชายของ Joko Widodo ได้ตำแหน่งการเมืองของอดีตนายพล Prabowo Subianto ไป
ลูกชายประธานาธิบดี Joko Widodo เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แม้ว่าตัวลูกชายของ Joko Widodo ไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารเลย และตัวเขายังเด็กเกินไปตามกฎหมายของอินโดนีเซียไม่อนุญาตให้เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้
แต่เกิดการแหกกฎเกณฑ์สำคัญนี้ เมื่อศาลสูงอินโดนีเซียที่นำโดยผู้พิพากษาผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี Joko Widodo เปลี่ยนกฎเกณฑ์ข้อห้ามนี้ อนุญาตให้ลูกชายประธานาธิบดี Joko Widodo สามารถลงสมัครแข่งขันตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้
ประธานาธิบดี Joko Widodo ผู้เป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วย นโยบายประชานิยมและการสนับสนับจากผู้นำทางศาสนา จึงประสบชัยชนะ
พ่อได้เป็นประธานาธิบดีและลูกชายได้เป็นรองประธานาธิบดี เอาชนะอดีตนายพล Prabowo Subianto เป็นศักราชใหม่ของการเมืองครอบครัวในอินโดนีเซีย
การเมืองครอบครัวในกัมพูชา
แม้ทั่วโลกต่างมองเห็นทิศทางระบอบอัตตาธิปไตยในกัมพูชาต่อเนื่องด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดกาลของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กัมพูชา
มีพรรคการเมืองหลายพรรค มีพรรคฝ่ายค้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านความเป็นเผด็จการของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่มีการผูกขาดในบริษัทการค้า การผลิตสำคัญ และควบคุมกองทัพเรื่อยมา
แล้วนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ก็ประกาศวางมือทางการเมือง ซึ่งก็ประกาศมาหลายครั้ง แต่การเมืองครอบครัวที่ตรงไปตรงมาในการเมืองกัมพูชาก็ปรากฏ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นายฮุน มาเนต ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนดำรงตำแหน่งแทน
โดยเขาได้วางตัวนายฮุน มาเนต เอาไว้เหนียวแน่นและนานแล้ว
เมื่อฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูดสุดควบคู่ไปด้วย
ช่างแนบเนียนตามแบบผู้นำกัมพูชา ฮุน มาเนต เรียนจบโรงเรียนเวสต์ปอร์ตของสหรัฐอเมริกาย่อมสมเหตุสมผลที่จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน พูดหาเสียงไว้นานและตลอดเวลากับชาวบ้านกัมพูชาว่า เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรือง เขาจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการและนักการเมืองทุกระดับ ฟังก็เพลินดี
ฮุน เซน ยังครองตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เขายังสถาปนาการเมืองครอบครัว โดยสนับสนุนให้บรรดารัฐมนตรีของเขาสนับสนุนให้ลูกๆ หลานๆ แต่งงานกัน สนับสนุนให้ญาติของฝ่ายต่างๆ กำกับกระทรวงสำคัญ กรมกองสำคัญ เป็นผู้ลงทุนรายสำคัญและกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจสำคัญของประเทศ
ครอบครัวตระกูลฮุน และครอบครัวอื่นๆ ครอบงำกัมพูชาทุกมิติ
ไทยปี 2567
: การเมืองครอบครัว ตระกูลเดียว
อัตตาธิปไตย
จริงอยู่สังคมการเมืองไทยเป็นการเมืองเปิด (Open Politics) มานาน อาจจะหลังเศรษฐกิจเปิด (Open Economy) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระบบเศรษฐกิจไทยเปิดและก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลก
หลังจากระบบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกหลังไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษปี พ.ศ.2398
การเมืองเปิดของไทยเปิดพื้นที่การเมืองให้กับกระบวนการเป็นประชาธิปไตย ด้วยการมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) หลายกลุ่ม
เปิดให้พื้นที่การเมืองและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษาคม 2535 รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540
แต่ทางวิชาการนับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนประกอบอำนาจ (Power Composition) เปิดช่องให้กลุ่มเงินใหม่ ( New Money) เข้ามาท้าทายอำนาจและแย่งพื้นที่การเมืองของกลุ่มเงินเก่า (Old Money)
ในเชิงรูปธรรมของการเคลื่อนไหวการเมืองตัวแทนของกลุ่มเงินใหม่คือ พรรคไทยรักไทย และ ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัว เคลื่อนไหว และเกาะกุมแกนของเศรษฐกิจการเมืองไทย
นโยบายประชานิยม บุคลิกภาพ เงินทุน ผู้นำอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องได้เปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ไทยไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยต่อเนื่องได้แสดงถึงการเมืองครอบครัว แสดงถึงการเมืองแบบกลุ่มเงินเก่า มากกว่ากลุ่มเงินใหม่ ดังที่คุยและโม้เอาไว้
ผมกลับมาแล้ว หลังลี้ภัยนาน 17 ปี ไม่มีอะไรใหม่เลย นอกจากผมกลับมาครอบงำนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พรรคการเมือง อีกคำรบหนึ่งเท่านั้นเอง
1“A Big Year for Asian Elections, but Not Necessary for Democracy” Council Foreign Relations, 12 December 2024
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022