จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (จบ) โครงสร้างส่วนบนของรัฐไทย : พระรามในปราสาทพระอินทร์ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

จิตร ภูมิศักดิ์

เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (จบ)

โครงสร้างส่วนบนของรัฐไทย

: พระรามในปราสาทพระอินทร์

 

เรามาถึงตอนอวสานของบทวิเคราะห์เรื่องจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักลัทธิมาร์กซ์คัมภีร์หรือไม่

ด้วยการจบที่การวิเคราะห์โครงสร้างส่วนบน อันเป็นปริมณฑลทางอุดมการณ์ วัฒนธรรม ศาสนาวรรณกรรมและกฎหมาย

ซึ่งในวิวัฒนาการของระบบชุมชนกสิกรรมปริมณฑลนี้มีเนื้อหาไม่มากแต่อาศัยเครื่องมือในการตีความมาก เหมาะสำหรับนักมานุษยวิทยาหรือโบราณคดี

ในด้านเศรษฐกิจเราได้เห็นที่วิถีการผลิตได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้แรงงานที่มีพันธะมากขึ้น (หมายความถึงแรงงานที่ไม่เสรีทั้งหลาย เช่น ทาส ทาสกสิกร และไพร่) ได้เห็นการแบ่งงานกันทำในชุมชนระหว่างเอกชนกับชุมชน

การเกิดกรรมสิทธิ์ส่วนตัวขึ้นเคียงข้างไปกับของชุมชน แต่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่กรรมสิทธิ์ส่วนตัวอย่างเต็มที่

ตรงกันข้ามกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเช่นที่ดินตกไปอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเอกภาพสูงสุดแต่ผู้เดียว

ความตอนนี้จิตรไม่ได้พูดออกมาอย่างนี้ หากแต่ผมนำมาจากข้อเขียนของมาร์กซ์ในตอนที่พูดถึงกรรมสิทธิ์แบบเอเชีย เพื่อประกอบการทำให้การวิเคราะห์ของจิตรสมบูรณ์ขึ้นตามแนวทางของมาร์กซ์

สมเกียรติ วันทะนะ โลกที่คิดว่าคุ้นเคย?

ผมให้ความสนใจไปที่วิธีวิทยาของจิตรที่ให้ความสนใจและความสำคัญไปที่วิวัฒนาการของชุมชนกสิกรรมดั้งเดิมในระยะผ่านไปสู่สังคมศักดินาไทยสมัยอยุธยาที่มีการศึกษามากกว่า

ประเด็นที่ใหม่คือจิตรพบว่าระบบการผลิตแบบทาสอาจไม่ได้เกิดในชุมชนไทย เพราะข้อมูลเกี่ยวกับพลังการผลิตและการขูดรีดแบบทาสไม่มีให้เห็นชัดเจนนัก นอกจากในอาณาจักรขอม ทำให้จิตรเสนอว่าชุมชนไทยคงเพียงได้รับอิทธิพลจากระบบทาสเขมรในทางสังคม มากกว่าการสร้างระบบทาสในทางการผลิต

ข้อเสนอเชิงทฤษฎีนี้ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน แต่จิตรทำให้ความรับรู้เรื่องการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่ง อาจมีหลายรูปแบบและกรรมวิธีทางสังคมดำรงอยู่พร้อมกัน ขึ้นกับปัจจัยภายในรัฐนั้นว่าเป็นอย่างไร

ผลในระยะยาวคือการมองวิวัฒนาการของสังคมไม่เป็นเส้นตรงหรือบันไดห้าขั้นที่ตายตัว

หากแต่ที่สำคัญคือการเข้าใจในระยะผ่านของแต่ละวิถีการผลิตว่าดำรงอยู่อย่างไรโดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจก่อนทุนนิยมทั้งหลาย

ต่อจากนั้นเขาลงไปค้นคว้ากำเนิดและพัฒนาการของรัฐไทยที่กำลังเป็นศักดินาโดยดูจากโครงสร้างส่วนบน เช่น ภาษา ศาสนาและกฎหมาย เขากล่าวว่า

“การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยยุคนี้ แต่เดิมมาเราล้วนแต่มองข้ามพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานไปเสีย เมื่อกล่าวถึงอาณาจักรทวารวดีก็ดี อโยธยาเดิมก็ดี สุพรรณภูมิ หรือสุวรรณภูมิก็ดี ฯลฯ ก็มักจะเอารูปของรัฐเอกภาพและรูปของสังคมเอกภาพแบบปัจจุบันไปครอบให้ ผลก็คือทำให้ผู้ศึกษาได้ภาพประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง และใช้พื้นฐานที่ไม่เป็นจริงไปวิเคราะห์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี” (จิตร ภูมิศักดิ์ 2547)

จากการค้นคว้าและศึกษาอย่างพิสดารนี้ ทำให้จิตรสามารถเสนอการสังเคราะห์ถึงระบบความคิดและปรัชญาของรัฐไทยที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบศักดินายุคแรก ด้วยการเสนอว่าเมื่อรัฐไทยเจ้าพระยาก่อรูปขึ้นเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐหรือโครงสร้างชั้นบนก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน

อันได้แก่ลัทธิรามจากคติเรื่องนารายณ์อวตารค่อยแทนที่ลัทธิอินทร์ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้ปกครองเดิมแห่งรัฐไทยทางเหนือ

ความเชื่อเรื่องลัทธิอินทร์ เกิดขึ้นบนพื้นฐานของสังคมแบบนครรัฐพี่น้องซึ่งยังยึดถือโตรรวงศ์เป็นหลัก มีประเพณีแผ่ขยายโคตรวงศ์ และต่างสายต่างตระกูลก็พยายามแสวงหาที่ดินเพาะปลูก สร้างบ้านแปงเมืองของตนขึ้น ประเพณีนี้สืบทอดมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

อุดมการณ์หรือที่จิตรเรียกว่า “รูปความคิด” ที่นับถือพระอินทร์มีรากเหง้ามาจากลัทธิพราหมณ์สมัยก่อนพระเวทของอินเดีย และจากพุทธศาสนาฝ่ายหินยานซึ่งถือพระอินทร์เป็น “เจ้าเมืองแมนแผนผ่านฟ้า” ที่มีอิทธิพลและได้รับการยอมรับจากหัวหน้าและไพร่พล เพราะ “รูปความเชื่อถือนี้สอดคล้องกับระดับขั้นแห่งพัฒนาการของสังคมไทยแล้ว”

พระอินทร์มีมิตรสหายเทพเจ้าที่อยู่ในสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ (แปลว่าสามสิบสาม) ด้วยกัน โดยให้พระอินทร์เป็นหัวหน้า แต่ไม่ใช่เจ้านายของสามสิบสามเทวดาซึ่งไม่ใช่ทาษของอินทร์ ระบบสวรรค์ของไตรตรึงษ์จึงเป็นระบบสหพันธ์นครรัฐ สะท้อนสภาพสังคมอินเดียในยุคพุทธกาลที่กำลังมีการต่อต้านระบบรัฐเจ้าทาษของลัทธิพราหมณ์

นี่คือสภาพสังคมของชนชาติไทยบริเวณลุ่มน้ำกกแห่งเชียงรายและฝางของเชียงใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งมีซากเมืองเล็กเมืองใหญ่ตั้งอยู่ติดกันเป็นกระจุกใหญ่ เท่าที่พบมีราว 30 เมือง นครรัฐเหล่านี้เป็นบ้านพี่เมืองน้อง เกี่ยวพันโดยโคตรเป็นส่วนใหญ่ ที่นอกเหนือโคตรก็มักเป็นรัฐน้ำมิตรหรือมิตรสหายร่วมสาบานตามทำเนียมดั้งเดิมของไทย เพื่อรักษาความเป็นอิสระสหพันธรัฐทั้งหมดต้องร่วมกัน ยึดหลักคิดความสามัคคี หลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างนครรัฐภายในโคตร

ในทางปฏิบัติจึงต้องมีกษัตริย์ของนครที่ใหญ่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและการปกครอง จึงรับเอารูปความคิดเรื่องพระอินทร์เข้ามาใช้อย่างมีบทบาทสำคัญทางการเมือง คนไทยสมัยนั้นถือว่าพระอินทร์เป็นจอมแห่งเทพยดาในสรวงสวรรค์ เป็นเจ้าผู้ครอง “เวียงอินทร” เหนือยอด “ภูเขาทอง”

นี่คือความเป็นมาทางอุดมการณ์ของตระกูลอินทร์ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงแก่ผู้ปกครองในฐานะและบทบาทของพ่อขุนแห่งรัฐสุโขทัยกระทั่งถือเป็นแบบฉบับของกำเนิดอาณาจักรไทยและอุดมการณ์ของรัฐที่เน้นภาวะของการเป็นธรรมราชาของพ่อขุน

 

พัฒนาการต่อมาคืออาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่มีพื้นฐานทางรูปความคิดของตระกูลราม ต่างออกไปจากนครรัฐเจ้าฟ้าเพราะพื้นฐานสังคมและการผลิตเป็นแบบมีชนชั้น ทำให้ฐานะของผู้ปกครองเปลี่ยนไปเป็น “นาย” มากกว่า “หัวหน้าแบบพ่อบ้าน” แบบก่อน จึงต้องทำให้ชาวนาเป็นไพร่และทาสเพื่อรับใช้เจ้านายและกษัตริย์

หัวหน้าของรัฐเหล่านั้นจึงเรียกตัวเองว่า “ราม” คือผู้พิชิต อ้างอิงจากพระนารายณ์อวตารลงมาปราบปรามพวกทรชนคนป่าเถื่อน

รามเป็นวีรบุรุษของชนชาติอารยันที่บุกรุกขับชนชาติทมิฬพื้นเมืองของอินเดียลงมาจากทางเหนือ แล้วปกครองเหนือคนเหล่านั้น กดลงเป็นทาส

คติรามจึงเกิดขึ้นในสังคมในฐานะผู้พิชิต และเป็นสัญลักษณ์ของผู้เป็นนายที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือผู้อื่น

เมื่อรัฐศรีอยุธยาเริ่มระบบการผลิตศักดินาขึ้น ประเพณีตระกูลอินทร์นี้ก็เสื่อมคลายและสิ้นสุดลงในการเป็นอุดมการณ์นำ

รัฐอยุธยาเริ่มจัดสรรที่ดินครั้งใหญ่ สนับสนุนการออกไปหักร้างถางพงที่ดินเพื่อทำการเกษตรและแสวงหาไพร่เข้าสังกัด ตอนนี้ได้จากการพระราชทานในสมัยพระบรมไตรโลกนาถในพระอัยการตำแหน่งนาทหารและพลเรือนหรือทำเนียบศักดินา มีขอบเขตที่ดินในครอบครองสำหรับทำประโยชน์ ที่กำหนดให้คนในอาณาจักรล้วนมีที่ดินทำกิน

เริ่มจากพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินทั้งมวลทั่วพระราชอาณาจักร จากนั้นแบ่งลดหลั่นกันไปตามอำนาจ เช่น สมเด็จพระอนุชาหรือพระเจ้าลูกเธอที่ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ได้ศักดินาหนึ่งแสนไร่ ลงไปถึงหม่อมราชวงศ์ท้ายสุดได้ 500 ไร่ ส่วนพวกข้าราชการเจ้าพระยาได้หมื่นไร่ ซึ่งสูงสุดสำหรับข้าราชการ ส่วนไพร่มีศักดินาตั้งแต่ 25 ไร่ถึงไพร่เลวได้ 10 ไร่ ยาจกและทาสได้ 5 ไร่

นี่คือพลังการผลิตของอยุธยา และมีสังกัดไพร่เป็นกรม ไว้ให้เป็นกำลังใช้สอยอย่างสำเร็จรูป เส้นทางการเกิดอาณาจักรอยุธยาที่อำนาจรัฐส่วนกลางมีความเข้มแข็งและขยายตัวมากขึ้นเห็นได้จากการค้าที่ขยายไปสู่การค้าระหว่างประเทศอย่างคึกคัก

 

จิตรมองว่าความคิดตระกูลอินทร์กับความคิดตระกูลรามทำการขับเคี่ยวต่อสู้กันมานับเป็นศตวรรษ กว่าจะถึงขั้นสุกงอมของแต่ละตระกูล แต่เขาไม่ได้ระบุว่าการต่อสู้ขับเคี่ยวนี้ได้ยุติลงเมื่อไร เพราะอิทธิพลทางความคิดของสองตระกูลนี้ก็ยังแสดงให้เห็นผ่านรูปแบบและพิธีกรรมไปถึงสถาปัตยกรรมของรัฐอยุธยามาอีกนาน

ผมเห็นด้วยกับมติของสมเกียรติ วันทะนะ นักประวัติศาสตร์ไทยผู้แหลมคมและลุ่มลึกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า “พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นทรงเป็น ‘พระราม’ ที่เสด็จประทับในพระมหาปราสาทของ ‘พระอินทร์’ แน่นอน” (สมเกียรติ วันทะนะ 2561)

กล่าวคือ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นทรงเป็นทั้ง “พระอินทร์” และ “พระราม” การที่ทรงเป็นหลายๆ บทบาทในเวลาเดียวกันนั้น มิใช่สิ่งที่จะทำให้เกิดความยากลำบากหรือติดขัดในวิธีคิดแบบ “ไทย”

ผมขอเพิ่มเหตุผลอีกข้อว่าทำไมวิธีคิดแบบ “ไทย” ถึงสามารถหลอมรวมรูปแบบตระกูลความคิดต่างกันได้ นั่นคือเพราะระบบการผลิตและโครงสร้างทางสังคมยังเป็นแบบที่ให้ความมั่นคงและผลประโยชน์สูงสุดแก่ชนชั้นนำ

ระบบช่วงชั้นที่เหลื่อมล้ำในสังคมกลับรองรับระบบการผลิตแบบศักดินาสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนแก่ชนชั้นปกครองอย่างมหาศาล สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบไพร่ให้มีประสิทธิภาพต่อมาโดยไม่กระเทือนหรือทำลายระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นของเอกภาพสูงสุดลงไปได้

กรรมสิทธิ์ส่วนตัวยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้นำส่วนน้อย ระบบการแบ่งงานกันทำหรือเทคโนโลยียังรับใช้อภิสิทธิ์มากกว่าประสิทธิภาพของระบบ ความเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงต้องสอดคล้องกับความมั่นคงและสถาพรของเอกภาพสูงสุดก่อนเป็นประการสำคัญ

ผมเชื่อว่าจิตรคงเห็นด้วยกับข้อสรุปสุดท้ายของผม

บรรณานุกรม

จิตร ภูมิศักดิ์. 2547. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ฟ้าเดียวกัน.

สมเกียรติ วันทะนะ. 2561. โลกที่คิดว่าคุ้นเคย? ความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893-2310. กรุงเทพฯ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.