พื้นที่สาธารณะสูงวัย (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พื้นที่สาธารณะสูงวัย (1)

 

ไม่นานมานี้มีข่าวที่เป็นกระแสสังคมพอสมควรชิ้นหนึ่งที่พูดถึงอัตราการเกิดของเด็กไทยล่าสุดว่า เกิดน้อยติดอันดับ 3 จาก 80 ประเทศที่มีการสำรวจ ซึ่งหากมองในภาพรวม 70 ปี เรามีอัตราการเกิดลดลงมากถึง 81% จนนำมาซึ่งความกังวลจากหน่วยงานภาครัฐที่พยายามออกมากระตุ้นให้คนไทยผลิตทายาทกันให้มากขึ้น

แต่อีกด้านของความน่ากังวลที่เกิดคู่ขนานไปพร้อมกัน แต่ดูไม่ค่อยเป็นกระแสเท่าไร คือ สัดส่วนประชากรไทยอายุเกิน 60 ปีขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันมีมากถึงราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

หมายความว่า ไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์” (Complete Aged Society) เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2581 เราจะมีประชากรสูงวัยมากถึงร้อยละ 30 และกลายเป็น “สังคมสูงวัยขั้นสุด” (Super-aged Society) (อ้างถึงใน TDRI Quarterly Review, V.38, No.3, Sept 2023)

สำคัญที่สุดคือ ในขณะที่คนไทยไม่อยากมีลูก อัตราการตายกลับลดลง จนในที่สุดทำให้ในปี 2564 กลายเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตาย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปนานๆ จะส่งผลกระทบใหญ่ต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน

พื้นที่เล่นหมากรุกบริเวณทางเท้าใต้สะพานข้ามแยกตลาดพลู
ที่มาภาพ : เพจ Main Stand

ผมไม่มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหานะครับ แต่สิ่งที่อยากชวนคุยมากกว่าคือ ภายใต้ปรากฏการณ์นี้ที่ดูจะยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เราควรจะต้องเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์กันอย่างจริงจังได้แล้ว

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวไว้ก่อนว่า มีการพูดถึงประเด็นนี้พอสมควรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีนโยบายปรากฏให้เห็นอยู่บ้างเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ดูเสมือนว่าเรายังไม่เห็นมากเท่าที่ควร คือ แนวคิดในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้รองรับกับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์

ไม่ใช่ว่าพื้นที่ชนบทจะไม่มีปัญหาสัดส่วนคนสูงวัยนะครับ แต่เมืองเป็นพื้นที่มีปัญหาในการชีวิตของคนสูงวัยในระดับที่มากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งถ้าเราไม่ตระหนักและเตรียมพร้อมล่วงหน้า พื้นที่เมืองจะกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อสังคมสูงวัยไทย

หากใครสังเกตความเปลี่ยนแปลงเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราอาจเห็นอาคารและพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันมีการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและเข้าใช้งานของคนสูงวัย (รวมถึงผู้พิการ) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางลาด ราวจับ ลิฟต์ ฯลฯ หรือที่รู้จักกันทั่วไปแล้วว่า universal design

เราอาจเริ่มเห็นโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการที่เน้นลูกค้าสูงวัยมากขึ้น บ้านพักอาศัยที่จะดูแลพวกเขาไปจนวันสุดท้ายของชีวิตพร้อมบริหารด้านการรักษาพยาบาลที่ดี บางคนคงสังเกตเห็นบริการรูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามาจับกลุ่มลูกค้านี้ เช่น อาสาพาคนสูงวัยไปหาหมอตามโรงพยาบาล และพาเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงการออกแบบเพื่อตอบสนองคนสูงวัยใน “มิติทางกายภาพ” (ศักยภาพของร่างกายที่ไม่ดีเท่าวัยหนุ่ม) เท่านั้น

ห้าง Sainsbury’s ประเทศอังกฤษ
ที่มาภาพ : https://www.huffingtonpost.co.uk/entry/slow-shopping-sainsburys_uk_57c5485ee4b0cc2b92b13e7d

ผมอยากเสนอว่า นอกจาก “มิติทางกายภาพ” อีกด้านที่ดูจะยังขาดหายไปมากในการออกแบบพื้นที่เมืองคือพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยตอบสนอง “มิติทางจิตใจ” ของคนสูงวัย ที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากจากวัยทำงาน (ดูเพิ่มในบทความ Social needs of the elderly and active aging in public open spaces in urban renewal โดย Esther H.K. Yung, Sheila Conejos, Edwin H.W. Chan)

ร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม การดำเนินชีวิตประจำวันที่แตกต่าง อยู่บ้านมากขึ้น เที่ยวน้อยลง บางรายอาจเข้าโรงพยาบาลมากกว่าช้อปปิ้ง เครือข่ายทางสังคมวัฒนธรรมที่หดแคบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนำมาซึ่งปัญหาสภาพจิตใจ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคนในการจัดการความเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งมีไม่เท่ากัน

ความสูงวัยสำหรับหลายคนอาจพรากความฝัน ความหวัง เครือข่ายทางสังคม เพื่อนฝูง ตลอดจนความมั่นใจในการใช้ชีวิตของพวกเขาไปจนหมดสิ้น และอาจเปลี่ยนพวกเขาไปอย่างสิ้นเชิงจนเป็นอีกคนที่เราไม่เคยรู้จัก

สำหรับผม สิ่งที่จะช่วยให้ปัญหานี้บรรเทาลง คือ ความสามารถในการใช้ชีวิตให้ใกล้เคียง “ชีวิตปกติ” แบบวัยหนุ่มสาวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตนอกบ้าน ในพื้นที่สาธารณะ นั่นคือสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็ม “มิติทางจิตใจ” ของคนสูงวัยได้เป็นอย่างดี

 

ลองคิดดูนะครับ บ้านพักคนชราแบบพรีเมี่ยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ บริการรับส่งคนสูงวัยไปโรงพยาบาล ทางลาดในสวนสาธารณะที่อำนวยความสะดวก ราวจับ และลิฟต์สำหรับคนสูงวัย ฯลฯ ช่วยทำให้พวกเขามีชีวิตใกล้เคียงชีวิตปกติได้หรือไม่

สำหรับผม คำตอบคือ คงช่วยได้เล็กน้อยเท่านั้น เพราะโดยหลักการของสิ่งเหล่านั้น คือการมุ่งแก้ไขปัญหาศักยภาพของร่างกาย มิใช่จิตใจ

แม้บ้านพักจะหรูหราและมีพยาบาลดูแล 24 ชั่วโมง แต่ชีวิตก็ยังถูกกักและเก็บไว้กับบ้าน ไม่ได้มีชีวิตนอกบ้านมากในแบบเดิม แม้จะไปโรงพยาบาลสะดวกรวดเร็ว แต่นั่นก็คือไปโรงพยาบาล ไม่ใช่พื้นที่ผ่อนคลายทางอารมณ์

ยังไม่นับว่าสิ่งที่ยกมาเกือบทั้งหมดล้วนต้องใช้เงินมากกว่าปกติ ซึ่งคงจะมีเพียงคนสูงวัยมีฐานะเท่านั้นที่จะเข้าถึงความสุขทางกายภาพนี้ได้

 

เมื่อหันมามองมาพื้นที่สาธารณะนอกบ้าน ส่วนใหญ่ก็ล้วนถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบสนองวัยรุ่นและวัยทำงานเป็นหลัก แม้การออกแบบทางกายภาพจะเอื้อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงได้ แต่มิได้ออกแบบตอบสนองความต้องการทางจิตใจของคนกลุ่มนี้โดยตรง

ในขณะที่พื้นที่สาธารณะคนสูงวัยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในอดีตก็หดแคบลง

น่าจะเคยเห็นนะครับ เวทีประลองหมากรุกริมทางเท้าที่ส่วนใหญ่คือคนสูงวัย พื้นที่ว่างขนาดเล็กตามซอกซอยของชุมชนที่คนสูงวัยมาพูดคุยกัน กลุ่มรำมวยจีนในสวน พื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง และพบเห็นบ่อยในอดีต แต่ปัจจุบันกลับลดน้อยลงอย่างน่าตั้งข้อสังเกต

ตัวอย่างที่ดีที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น พื้นที่เล่นหมากรุกบริเวณทางเท้าใต้สะพานข้ามแยกตลาดพลู และสวนลุมพินี อันเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานคร” ซึ่งทำให้สวนลุมพินีมีกิจกรรมมากมายสำหรับผู้สูงวัยได้มาพบปะและใช้ชีวิตสาธารณะนอกบ้านได้

ส่วนห้างสรรพสินค้าที่กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะนอกบ้านยอดนิยมของคนไทยที่ใช้ชีวิตในเมือง เราคงพูดได้โดยไม่เกินเลยไปนักว่า มิได้สนใจกลุ่มคนสูงวัยเท่าไร (แน่นอน มีการออกแบบที่เอื้อให้คนสูงวัยเข้าถึงในมิติทางกายภาพอย่างดีเยี่ยม แต่มิติทางจิตใจแทบไม่ปรากฏ)

ผมไม่ได้เสนอให้มีการสร้างห้างเพื่อคนสูงวัยโดยเฉพาะนะครับ แค่ออกแบบโซนเฉพาะที่ผู้สูงวัยรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของพวกเขา ในลักษณะแบบเดียวกับที่มีโซนเด็กภายในห้าง แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ห้าง Sainsbury’s ในประเทศอังกฤษ ออกแบบพื้นที่ที่เรียกว่า “slow shopping” สำหรับคนสูงวัย รวมถึงผู้พิการ ผู้มีภาวะวิตกกังวล หรือปัญหาสุขภาพจิต โดยมิได้เป็นเพียงแค่ตอบสนองทางมิติกายภาพ แต่คำนึงถึงมิติทางจิตใจ มีพนักงานที่จะเข้ามาพูดคุย ทักทาย ช่วยเหลือเพื่อสร้างความสบายใจและมั่นใจ มีการจัดเตรียมเก้าอี้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ยืนเป็นเวลานานไม่ได้หรือผู้ที่ต้องการพักผ่อนระหว่างเดินซื้อของ

หรือในญี่ปุ่น Aeon Kasai Department store กรุงโตเกียว ห็มีการสร้างพื้นที่สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยภายในห้างถูกออกแบบให้มีโซนเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยที่มีทุกอย่างครบวงจร ทั้งอาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงกิจกรรมภายใน เช่น การจัดกิจกรรมยามเช้าที่เปิดพื้นที่ให้มีการเล่นยิมนาสติกและเต้นแอโรบิกเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย

แต่ในไทย เรากลับไม่เห็นการออกแบบพื้นที่เหล่านี้เท่าที่ควร

ที่พอมีตัวอย่างน่าชื่นชม เช่น กลุ่มกิจกรรม “ยังก์ไหวคลับ” ของห้างพาราไดซ์พาร์ค ที่มีกิจกรรมร้องคาราโอเกะ พูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพ และมีโอกาสพบเจอเพื่อนทั้งเก่าใหม่

หรืออีกตัวอย่างคือ ห้างดิโอลด์สยาม ที่เปิดพื้นที่สำหรับร้องคาโอเกะสำหรับคนสูงวัย แต่ปัจจุบันก็ได้รับการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ โดยแม้จะยังคำนึงถึงคนสูงวัยอยู่ แต่ก็ขยับขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนกลุ่มอื่นมากขึ้น ซึ่งทำให้ความคึกคักของลักษณะการเป็นพื้นที่คนสูงวัยดูจางลงไปอย่างน่าเสียดาย

สรุปก็คือ พื้นที่สาธารณะสำหรับคนสูงวัยที่เคยเกิดตามธรรมชาติในอดีตก็ลดลง ส่วนพื้นที่ใหม่ก็ไม่ค่อยถูกคำนึงถึงมากนัก มันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลยนะครับสำหรับประเทศไทยที่กลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว