JUROR # 2 ‘สัญภาพของความตาบอด’

นพมาส แววหงส์

สัญภาพของศาลสถิตยุติธรรมที่เราเห็นกันบ่อยๆ เป็นสตรีในเครื่องแต่งกายโรมันโบราณถือคันชั่งและดาบในมือ พร้อมมีผ้าปิดตา

เธอมีชื่อเรียกว่า เลดี้จัสติซ หรือแม่นางผู้ทรงความยุติธรรม

จัสติซในที่นี้เป็นคุณสมบัติที่อุปมาให้มีตัวตนด้วยรูปนามของบุคคล

ซึ่งภาษาวรรณกรรมเรียกว่า บุคลาธิษฐาน หรือบุคคลวัต (personification)

ครูภาษาไทยสมัยก่อนสอนกันว่า คำแรกใช้สำหรับเรื่องทางศาสนา ส่วนคำหลังใช้สำหรับเรื่องทั่วไป แต่สงสัยว่าสมัยนี้คงใช้กันปนเปไปหมดแล้ว และคำแรกอาจเป็นที่คุ้นหูมากกว่าและใช้สำหรับการแปลงคุณสมบัติให้เป็นบุคคลในทุกเรื่องแล้วกระมัง

เลดี้จัสติซมีต้นตอจากเทพกัญญาในปกรณัมปรัมปราของโรมัน นามกร จัสติเชีย (Justitia) หรือ ยัสติเชีย (Iustitia)

จัสติเชียเป็นสัญลักษณ์ของตาชั่งที่เที่ยงตรง แต่ไม่ได้ตาบอด ภาพลักษณ์ของสตรีที่มีผ้าปิดตาเพิ่งแถมเพิ่มให้นางในสมัยหลังเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 นี้เอง

เลดี้จัสติซถือคันชั่งเพื่อเป็นตัวแทนของความเที่ยงตรงและยุติธรรม ถือดาบเพื่อเป็นตัวแทนของอำนาจและความฉับไวในการพิพากษาลงโทษ นางมีผ้าคาดปิดตาเพื่อเป็นตัวแทนของความไม่ลำเอียง หรืออคติต่อผู้เกี่ยวข้องในคดี ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ทรัพย์สินหรืออิทธิพลใดๆ

เทพีแห่งความยุติธรรมผู้ตาบอด เป็นแนวคิดใหญ่ที่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ จากฝีมือของคุณปู่คลินต์ อีสต์วู้ด ผู้คร่ำหวอดยืนยงคงกะพันในวงการฮอลลีวู้ดมากว่าครึ่งศตวรรษ ในวัย 94 ปี

ว่ากันว่านี่อาจเป็นหนังเรื่องสุดท้ายจากฝีมือเขาก็ได้

ภาพเปิดเรื่องที่โคลสอัพของเลดี้จัสติซ สัญลักษณ์ของศาลสถิตยุติธรรม แล้วก็ตามมาด้วยสตรีมีครรภ์มีผ้าคาดตากำลังถูกจูงไปยังห้องเด็กที่เพิ่งตกแต่งใหม่เพื่อเตรียมการมาถึงของสมาชิกใหม่ในครอบครัว

จัสติน เคมพ์ (นิโคลัส ฮอลต์) กำลังเป็นคุณพ่อที่ภาคภูมิใจกับลูกที่กำลังจะคลอดจากท้องของภรรยาสาวสวย แอลลิสัน (โซอี ดอยช์) ออกมาดูโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

จัสตินกำลังได้รับหมายเรียกตัวไปทำหน้าที่พลเมืองดีโดยเป็นคณะลูกขุนพิพากษาคดีดังในเมืองซาวันนาห์ รัฐจอร์เจีย

แม้ว่าเขาจะอิดออดและขอผ่อนผันจากผู้พิพากษาว่าไม่พร้อมสำหรับหน้าที่ลูกขุน เนื่องจากภรรยากำลังจะคลอดลูกอยู่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ผู้พิพากษาก็บอกว่าเรื่องนั้นไม่เป็นปัญหาเลย เพราะคดีนี้จะสรุปได้ในเร็ววัน

จัสติน เคมพ์ ได้รับเลือกให้เห็น “ลูกขุนหมายเลขสอง” ในคดีนี้

ฝ่ายอัยการตั้งข้อหาฆาตกรรมแก่เจมส์ ไมเคิล ไซธ์ (เกเบรียล บัสโซ) โดยเหยื่อฆาตกรรมอันรุนแรงคือ เคนดัลล์ คาร์เตอร์ (ฟรานเชสกา อีสต์วู้ด ลูกสาวของคลินต์เอง) แฟนของเขา ผู้กำลังมีปากมีเสียงถึงขั้นตบตีกันก่อนหน้าเกิดเหตุ

มีพยานหลายคนรู้เห็นเหตุการณ์ทะเลาะกันรุนแรงครั้งนั้น

มีคนพบร่างผู้ตายอยู่ใต้สะพานข้างถนน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานให้ความเห็นว่ามีบาดแผลจากการใช้ความรุนแรงก่อนจะโยนศพลงทิ้งข้างทาง

มีคนให้การว่าเห็นผู้ชายหน้าตาเหมือนผู้ต้องหายืนอยู่ข้างทางใกล้เวลาเกิดเหตุ

เมื่อฝ่ายอัยการสืบความไปถึงบาร์ข้างทางที่มีคนเห็นผู้ตายเดินออกไป และผู้ต้องหาเดินตามไปที่ลานจอดรถ ภาพในความทรงจำก็กลับมาในหัวของจัสติน

เขาจำบาร์นั้น เขาเคยไปที่นั่นเพราะนึกอยากดื่ม เขาเลิกเหล้ามาพักใหญ่แล้ว และต้องทุกข์ทรมานใจจากความอ่อนแอของตัวเอง

เมื่อเขาขับรถจากมาในความมืดและสายฝน รถของเขาไปเฉี่ยวชนอะไรสักอย่างกระเด็นไป เขาคิดว่าเป็นกวาง เพราะตรงนั้นมีป้ายว่าเป็นทางข้ามของกวาง

จัสตินเพิ่งเกิดความตระหนักโดยเกือบเป็นความแน่ใจว่าตัวเขาเองเป็นต้นเหตุให้เหยื่อฆาตกรรมในคดีเสียชีวิต

และผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาในกรณีนี้

นี่คือแกนกลางของเรื่อง “ลูกขุนหมายเลขสอง” จะทำอย่างไรในเรื่องนี้ ปล่อยเลยตามเลยหรือแก้ไขให้ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ต้องหาพ้นผิดจากหลักฐานแวดล้อมที่ดูเผินๆ จะปรักปรำผู้ต้องหา

เนื่องจากข้อมูลตรงนี้ถูกนำเสนอตั้งแต่ตอนต้นๆ เรื่อง และประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดนี้มากไปกว่าเรื่องที่ว่าลูกขุนหมายเลขสองจะจัดการแก้ไขหรือรับมือกับสภาพการณ์ตรงหน้าอย่างไร ผู้เขียนคอลัมน์นี้ก็เลยไม่คิดว่าจำเป็นจะต้องเก็บงำไว้เพราะกลัวเป็นสปอยเลอร์

ข้อใหญ่ใจความอยู่ที่การกระทำของจัสตินต่อจากนั้นต่างหาก

เขาได้รับคำแนะนำจากสปอนเซอร์ในโครงการเลิกเหล้า (คีเฟอร์ ซัตเธอแลนด์) ซึ่งเป็นทนายความด้วยว่า ถ้าคดีนี้กลายเป็นการพิจารณาคดีผิดพลาด ก็จะไม่ส่งผลดีใดๆ เพราะอัยการน่าจะส่งเรื่องฟ้องใหม่

และปัญหาคอขาดบาดตายอีกเรื่องของจัสติน ถ้าสารภาพผิดเสียเอง ก็คือ จะไม่มีใครเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอุบัติเหตุ เพราะเขามีประวัติการดื่มอยู่แล้ว

เรื่องราวของหนังกลายเป็น courtroom drama ที่เข้มข้น ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังคลาสสิคอมตนิรันดร์กาลเรื่อง 12 Angry Men (1957) ฝีมือกำกับฯ ของซิดนีย์ ลูเม็ต นำแสดงโดยเฮนรี ฟอนดา ผู้เป็นหนึ่งในลูกขุน 12 คนผู้ใช้เหตุผลพลิกคำตัดสินของลูกขุนให้เป็นเอกฉันท์ได้

Juror #2 ดูเหมือนจะเดินตามพล็อตหลักของ 12 Angry Men (ซึ่งดัดแปลงมาจากละครเวที) ในห้องลูกขุนทุกประการ เพียงแต่เพิ่มแรงจูงใจส่วนตัว ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี สำนึกเชิงคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่วนได้ส่วนเสียจากคดีและจากการตัดสินคดี เข้าไปให้มีบทบาทแก่การกระทำของตัวละครหลักผู้อยู่ในคณะลูกขุนทั้งสิบสองนั้น

นี่เป็นหนังที่มีเนื้อหาสาระชวนให้ขบคิดต่อและตัดสินยาก และชวนให้ย้อนมาทบทวนคุณธรรมและความรับผิดชอบของตัวเองในสังคม ผู้ชมแต่ละคนต่างก็อาจมีความเห็นไปคนละทางสองทาง ดังนั้น ผู้กำกับฯ ซึ่งคงต้องการให้คนดูคิดต่อไปเองอีก จึงจบลง ณ จุดที่ยังค้างคาใจ และไม่คลี่คลายปมออกจนหมดจด

ความหมายที่สองของข้อความว่า “ความยุติธรรมตาบอด” จึงผุดขึ้นมา

นอกเหนือไปจากความหมายแรกที่ว่า ความยุติธรรมตาบอดเพราะปราศจากอคติ

ความยุติธรรมดูเหมือนจะตาบอดเพราะมองไม่เห็นความจริงแท้ ไม่ได้พาเราไปสู่ความจริงแท้ แต่มองข้ามช็อตไปสู่ประเด็นอื่นโดยสิ้นเชิง จึงอาจพูดได้ว่าระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่นั้นเลือกที่รักมักที่ชัง ลำเอียง หรือมีอคติต่อคนบางพวก แม้ว่าคนพวกนั้นจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

ขอปรบมือให้คุณปู่คลินต์อีกทีค่ะ สำหรับหนังที่มีเนื้อหาสาระกระตุ้นหรือชักชวนให้สังคมหันมาขบคิดพิจารณาประเด็นที่เป็นเข็มทิศทางศีลธรรม (moral compass) ของเรา…

จะได้ใช้สมองขบคิดเนื้อหาสาระ และทำให้ไม่เข้าข่ายหรือถูกจัดอยู่ในคำยอดนิยมของปี 2024

คือ สมองเน่า หรือ brain rot เพราะเสพแต่ข้อมูลไร้ประโยชน์ล่ะค่ะ •

JUROR # 2

กำกับการแสดง

Clint Eastwood

นำแสดง

Nicholas Hoult

Toni Collette

J.K. Simmons

Chris Messina

Zoey Deutch

Kiefer Sutherland

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์