ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
การค้าโลกหลัง พ.ศ.1000 โดยเฉพาะอินเดียกับจีนมีความต้องการแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทำโดยเส้นทางการค้าทางทะเลผ่านบริเวณสุวรรณภูมิ สะดวกมากกว่าเส้นทางการค้าทางบกที่รู้จักในชื่อ “เส้นทางสายไหม”
ดินแดนประเทศไทยมีคาบสมุทรยื่นลงไปทางใต้ มีทะเล 2 ฟาก ทั้งทางมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเป็นจุดนัดพบเชื่อมโยงขนถ่ายแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ผลักดันให้มีพัฒนาการของรัฐต่างกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มใกล้ฝั่งทะเล กับกลุ่มห่างไกลฝั่งทะเล
รัฐเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐเอกราช ไม่มีศูนย์กลางแห่งเดียวแล้ว แผ่อำนาจกว้างขวางไปทั่วประเทศ
1. กลุ่มใกล้ฝั่งทะเล เชื่อมต่อการค้าทางทะเลโดยตรง แบ่งได้ 2 พวก
พวกแรก อยู่บริเวณที่ราบในแผ่นดินใหญ่ มีฐานทางการเกษตรกว้างขวาง มีประชากรหนาแน่น มีลุ่มน้ำขนาดใหญ่ และมีแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงกับดินแดนส่วนในของแผ่นดินที่กว้างและไกลมาก เช่น
รัฐหลั่งยะสิว ทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (จ.นครปฐม) มีเครือข่ายถึงเมืองคูบัว (จ.ราชบุรี) ต่อเนื่องถึงเมืองทุ่งเศรษฐี หรือโคกเศรษฐี (อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี)
รัฐทวารวดี ทางลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี (จ.เพชรบูรณ์ ถึง จ.ลพบุรี) มีเครือข่ายถึงเมืองดงละคร (จ.นครนายก), เมืองศรีมโหสถ (จ.ปราจีนบุรี), เมืองพระรถ (จ.ชลบุรี)
พวกหลัง อยู่บริเวณใกล้ชิดฝั่งทะเล มีฐานทางการเกษตรจำกัด เพราะอยู่บนสันทรายแคบๆ มีประชากรไม่มากนัก และมักเป็นประชากรชั่วคราวไปๆ มาๆ เช่น พ่อค้า, นักเดินทาง, นักผจญภัย ฯลฯ มีลุ่มน้ำและลำน้ำสั้นและแคบ เช่น ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปถึง จ.ปัตตานี มีรัฐชายฝั่ง เช่น
รัฐไชยา (จ.สุราษฎร์ธานี-จ.ชุมพร),
รัฐตามพรลิงค์ (จ.นครศรีธรรมราช),
รัฐปัตตานี (จ.ยะลา, จ.ปัตตานี) ฯลฯ ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีรัฐไทรบุรี (มาเลเซีย)
แต่ชายฝั่งทะเลอันดามันไม่เอื้อให้มีรัฐ เพราะที่ราบมีน้อย หรือไม่มี จึงเป็นแค่สถานีการค้าชั่วคราวเพื่อพักสินค้า เช่น กระบี่-ตรัง-พังงา ฯลฯ แล้วขนผ่านช่องเขาไปอีกฝั่งหนึ่ง
2. กลุ่มห่างไกลฝั่งทะเล มักอยู่บนที่ราบสูง แห้งแล้ง หรือมิฉะนั้นก็อยู่ในหุบเขาส่วนในของแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน แต่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ประชากรกระจัดกระจายไม่อาจควบคุมได้ทั่วถึง ยากแก่การควบคุมและยากแก่การเก็บผลประโยชน์ เพราะพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แม้ในหุบเขาจะไม่แห้งแล้งก็มีที่ราบจำกัดแคบๆ เช่น
รัฐเจนละ ทางลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล ในอีสานและลาว กับรัฐเล็กๆ หลายแห่ง (มีพระธาตุพนม เป็นศูนย์กลาง),
รัฐเวียงจัน ทางลุ่มน้ำโขง บริเวณอีสานเหนือและลาว,
รัฐหริภุญชัย ทางลุ่มน้ำปิง-วัง บริเวณลำพูน-เชียงใหม่-ลำปาง
การค้าภายในเชื่อระหว่างบ้านเมืองท้องถิ่นต่างๆ
รัฐทั้ง 2 ประเภทนี้ย่อมมีพัฒนาการทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมที่ต่างกัน แต่นับเป็นต้นทางประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิที่ส่วนหนึ่งคือประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย เรื่องนี้ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สุรปอธิบายไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ ดังต่อไปนี้
1. การขยายตัวของการค้าโลก ทำให้มีพ่อค้าจากแดนไกลเดินทางเข้ามาสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทั้งประเภทของพ่อค้า, วัฒนธรรมที่พ่อค้าสังกัด และจำนวนของพ่อค้านักเดินทาง
บทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ในการค้าโลกก็คือ (1.) เป็นศูนย์กลางการค้าที่สินค้าจากจีนและอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลางเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน (2.) เป็นแหล่งกำเนิดและส่งเข้าสู่ตลาด ซึ่งสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญคือ ของป่า, ดีบุก, ตะกั่ว และเครื่องเทศ และอาหารไม่สู้มากนักสำหรับตลาดภายในภูมิภาค
การขยายตัวของการค้าดังกล่าว ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการค้าภายในระหว่างรัฐต่างๆ จึงมีการกระจายของวัฒนธรรมไปกว้างขวางกว่าอำนาจทางการเมืองของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐมีกำลังทั้งทางโภคทรัพย์และกำลังคนเพิ่มขึ้น จนทิ้งสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เห็นได้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม, พระธาตุพนม จ.นครพนม, พระธาตุหลวง (องค์เดิมอยู่ข้างใน) ที่เวียงจัน และสถูปใหญ่เมืองยะรัง จ.ปัตตานี, เมืองคูบัว จ.ราชบุรี, เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น
2. การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากต่างแดน เช่น อินเดีย, กัมพูชา, มอญ และพม่า, อาหรับ-เปอร์เชีย และจีน นำมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ความเข้มข้นของการรับและประยุกต์วัฒนธรรมต่างแดนมีมากในกลุ่มคนชั้นสูง ในขณะที่ค่อยๆ เจือจางลงมาจนถึงระดับประชาชนธรรมดาซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมต่างแดน
3. รัฐที่ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมาก โดยเฉพาะที่มีฐานการเกษตรที่แข็งแกร่งของตนเอง พัฒนารูปแบบของรัฐที่อ้างความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สั่งสมเกียรติยศของศูนย์กลางด้วยสิ่งก่อสร้างมโหฬารและพิธีกรรมที่โอ่อ่า
อำนาจทางวัฒนธรรมของศูนย์กลางเหล่านี้ อาจแพร่หลายไปได้กว้างไกล โดยรัฐอื่นๆ รับเอาวัฒนธรรมของราชสำนักไปแสดงในท้องถิ่นของตนเอง เกิดแบบแผนทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมคติที่รัฐในรุ่นหลังมักอ้างถึง และที่เกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ไทย คือเมืองพระนครในกัมพูชา, เมืองละโว้, อู่ทอง-นครชัยศรี นครศรีธรรมราช ในประเทศไทย และมะตะรัมในชวากลาง
นอกเหนือจากนี้ยังมีรัฐน่านเจ้าเติบโตขึ้นบนเส้นทางการค้าภายในอยู่ทางเหนือของลุ่มน้ำโขงในเขตมณฑลยูนนาน ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐทางลุ่มน้ำโขงต่อไปข้างหน้า •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022