วงค์ ตาวัน : อาถรรพ์ทุ่งใหญ่

วงค์ ตาวัน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มักมีข่าวพรานไฮโซ พรานข้าราชการ พรานป่า ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์อยู่เป็นระยะ ด้วยความที่เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ กินพื้นที่กว้างใหญ่ มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ยิ่งเชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงกลายเป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตกหลายจังหวัด

ทั้งการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้เป็นแหล่งพักพิงกินอยู่อันเพียบพร้อมและปลอดภัยของสัตว์ป่านานาชนิด จนสามารถขยายพันธุ์ได้มากมาย

“จึงดึงดูดมนุษย์ย้อนยุคป่าเถื่อน พร้อมอาวุธปืนประเภทไรเฟิล เข้าไปแอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์สงวน สัตว์หายาก อยู่บ่อยๆ”

การจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ปรากฏเป็นระยะๆ

โดยการจับกุมหนล่าสุดได้กลายเป็นข่าวใหญ่สะท้านเมือง เพราะเป็นคณะนักท่องป่าที่มีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียน-ไทย ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรับเหมาก่อสร้าง รวมอยู่ด้วย

เจ้าสัวอภิมหาเศรษฐีหมื่นล้าน เข้าไปปรากฏตัวกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยตั้งแคมป์ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปได้

จึงถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เข้าตรวจค้น พบอาวุปืนไรเฟิล ปืนยาว .22 พร้อมกระสุน และซากสัตว์ที่ถูกล่าจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเสือดำทั้งโดนถลกหนังเป็นผืนทั้งตัว รวมทั้งเนื้อเสือดำครบถ้วน

แน่นอนว่านายเปรมชัยให้การปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่าเข้าป่ามาล่าสัตว์ อ้างว่าเข้ามาท่องเที่ยวแล้วหลงทาง ซึ่งจะต้องไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

“แต่พฤติกรรมโดยรวม จุดที่มีการจับกุม การเข้าไปตั้งแคมป์ในป่าลึกที่หวงห้าม พร้อมอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อใช้สำหรับล่าสัตว์อย่างแน่นอน แถมมีซากสัตว์ที่ถูกยิงจำนวนมาก!”

ในชั้นนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าเข้าข่ายคณะพรานแน่ๆ

คณะของนายเปรมชัย จึงไม่เพียงต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยกระบวนการตามกฎหมาย

แต่คงต้องเผชิญกับกระบวนการทางสังคม ในยุคที่โลกทั้งโลกล้วนตระหนักว่า ต้องช่วยกันรักษาวิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า เพื่อรักษาสมดุลของโลกเอาไว้ ไม่เช่นนั้นมันจะย้อนมากระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดินฟ้าอากาศ ลมหายใจของเหล่ามนุษย์นั่นเอง

“ยิ่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่เชื่อมต่อกับห้วยขาแข้งนั้น คนไทยทุกคนย่อมตระหนักดีว่า ผืนป่าแห่งนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของ”สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ และสุดท้ายปลิดชีพตัวเองในบ้านพักกลางห้วยขาแข้ง”

อนุสาวรีย์ของสืบ เด่นตระหง่านกลางผืนป่าและขุนเขา เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่สร้างผลสะเทือนให้คนทั้งสังคมได้ตระหนักถึงความรักความหวงแหนในธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า

แต่กลับยังมีคนที่ลักลอบเข้าไปไล่ล่าผลาญชีวิตสัตว์ป่า อย่างไม่เข้าใจความหมายและคุณค่าของธรรมชาติ

หลังข่าวคณะเจ้าสัวถูกจับกุมกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทุกคนต้องนึกย้อนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 วันที่ประชาชนลุกฮือออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาส อย่างไม่หวั่นเกรงการปราบปรามด้วยกำลังทหาร พร้อมรถถัง รถหุ้มเกราะ อาวุธสงคราม กระสุนจริง จนมีผู้พลีชีพไปกว่า 70 ชีวิต บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมาก เพื่อแลกมาซึ่งการเบิกม่านประชาธิปไตยในสังคมไทย

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม อันยิ่งใหญ่ มีชนวนเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่ง คือ

“เหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยคณะนายพรานกิตติมศักดิ์ นำโดย พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของจอมพลถนอม”

โดยในเดือนเมษายน 2516 มีเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก ทำให้เรื่องแดงออกมา ด้วยเป็นคณะที่นำโดย พ.อ.ณรงค์ พร้อมข้าราชการทหาร ตำรวจ และดาราสาวชื่อดัง ใช้ ฮ. ของราชการบินเข้าไปตั้งแคมป์สำเริงสำราญกันในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

มีการล่าสัตว์ป่า

“เพราะในซาก ฮ. ที่ตกนั้น มีซากสัตว์ป่า รวมทั้งขากระทิง”

แต่รัฐบาลถนอม พยายามปกปิดบิดเบือน ด้วยการอ้างว่า เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่บินไปในภารกิจราชการลับ

ทำให้นักศึกษาปัญญาชน ที่ติดตามข่าวนี้ และกำลังอยู่ในภาวะอึดอัดกับสังคมการเมืองไทย ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร แถมยังมีการต่ออายุราชการเก้าอี้ ผบ.ทบ. ของตัวเองอีกด้วย

จึงเริ่มมีการขุดคุ้ยเบื้องหลัง จัดสัมมนาถกเถียงข้อมูล รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำเอา ฮ. ของราชการไปใช้ในทางส่วนตัว รวมทั้งความผิดในการล่าสัตว์ป่า และมีการทำหนังสือออกมาเปิดโปง สร้างผลสะเทือนในหมู่ประชาชนอย่างมาก

“กลุ่มนักศึกษาได้สร้างข้อความประชดประชันที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วว่า สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกเป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ!”

นั่นเองจึงนำมาสู่คำสั่งลบชื่อ 9 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลนี้

จึงจุดชนวนให้นักศึกษาหลายสถาบันลุกฮือครั้งใหญ่ ชุมนุมเรียกร้องให้เลิกคำสั่งลบชื่อ 9 นักศึกษา

“แล้วยังส่งผลให้นักศึกษาจุดประเด็นเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยต่อมา ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516”

จนนำมาสู่จุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหาร

คำว่าพรานกิตติมศักดิ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ เอ่ยขึ้นมาเมื่อไร ทุกคนต้องนึกถึงว่าได้กลายเป็นจุดจบของอำนาจรัฐบาลทหารครั้งสำคัญ

การล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ เมื่อกลับมาเป็นข่าวใหญ่ในช่วงระยะนี้ แถมเกี่ยวพันกับบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางธุรกิจระดับชาติ จึงทำให้ตกเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ย้อนถึงเหตุการณ์ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่เมื่อปี 2516 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ 14 ตุลาฯ

แม้ว่าคณะนักนิยมไพรที่ถูกจับกุมคณะล่าสุด จะไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฐบาล คสช. เหมือนกรณี พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีสถานะสำคัญทางเศรษฐกิจของสังคมไทย

แฟ้มภาพ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16
จากมติชนออนไลน์

จุดนี้เองที่ทำให้ประชาชนสนใจคดีทุ่งใหญ่นี้กันมาก พร้อมกับก่อเสียงเรียกร้องกระหึ่มไปทั่ว จี้ให้รัฐบาล คสช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา พิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

“ด้วยความที่กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ นั้น มักมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับอำนาจการเมือง รวมทั้งรัฐบาลทหารนี้ด้วย”

เมื่อปี 2516 บุคคลระดับลูกชายนายกฯ และเป็นนายทหารที่มากบารมี กระทำผิดกฎหมาย ออกไล่ล่าสัตว์ป่าอย่างไม่หวั่นเกรงสิ่งใด จึงทำให้เกิดคำถามถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารในยุคนั้น และลุกลามไปสู่การถูกโค่นอำนาจ

ในปี 2561 นี้ เมื่อคณะของนักธุรกิจหมื่นล้าน ถูกจับกุมในข้อหาล่าสัตว์ป่าในป่าทุ่งใหญ่ จึงเป็นข้อสงสัยถึงพฤติกรรมที่มีส่วนคล้ายๆ กัน

“ทั้งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่รัฐบาล คสช. กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมจากทุกด้าน ในแง่การใช้อำนาจ การสืบทอดอำนาจ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรูหรา”

ไม่เหมือน 14 ตุลาคม 2516 โดยตรง แต่มีส่วนคล้ายคลึงกัน มีสาระที่สะท้อนภาพคล้ายกัน

คำว่าล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ มีอาถรรพ์ถึงขั้นทำให้รัฐบาลทหารถนอม-ประภาส ถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ ยอมพลีชีวิตไม่เกรงห่ากระสุน จนนำมาสู่การพลิกโฉมอำนาจการเมือง สู่ความเป็นประชาธิปไตยในที่สุด

“มาวันนี้ก็ยังมีอาถรรพ์”

ทำให้ทั้งสังคมไทยเพ่งมองความคืบหน้าคดี เมื่อมีผู้ยิ่งใหญ่ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวพัน

ขณะที่รัฐบาล คสช. กำลังถูกประชาชนจับตามองในด้านการใช้อำนาจ การเลื่อนวันเลือกตั้ง และการสืบทอดอำนาจ อยู่พอดี!