ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
คางหมู, โลกา, ราหู การข้ามเวลาไปสำรวจ
กระบวนการจำแนกองค์ความรู้ที่ว่าด้วยผู้คนในโลก
ของ นักรบ มูลมานัส ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ครั้งนี้ นอกจากจะมีผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้ว นักรบ มูลมานัส ยังมีผลงานอีกชุดที่จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานอีกแห่ง อย่าง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
กับผลงาน คางหมู, โลกา, ราหู (Là, in the trapeziums) (2024) ที่ได้แรงบันดาลใจจากจารึก รูปปั้น และภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดโพธิ์ที่ว่าด้วยชาวต่างชาติ และดินแดนที่ชาวสยามรู้จักเมื่อศตวรรษที่แล้ว
นักรบนำเสนอภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงขับร้องที่ร้อยเรียงขึ้นจากอุปรากรเรื่องสำคัญของโลก อันสะท้อนมุมมองที่ชาวตะวันตกและชาวตะวันออกนึกคิดและจินตนาการถึงกันและกัน
โดยนักรบกล่าวถึงที่มาที่ไปและแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“ด้วยความที่ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงที่ พระวิหารทิศเหนือ ในวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวิหารที่มีจิตรกรรมบานประตูหน้าต่างเป็นภาพ ‘คนต่างภาษา’ อันเป็นวิธีการที่ชาวสยามใช้จำแนกองค์ความรู้ที่ว่าด้วยผู้คนในโลก (โลกแบบภูมิศาสตร์สมจริงตามอย่างตะวันตก ไม่ใช่โลกในไตรภูมิอีกต่อไป) ภาพเหล่านี้คาดว่ามีที่มาที่ไปจากการบูรณะวัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3
ในครั้งนั้น ได้มีการจารึกสรรพความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะในทางโลกและทางธรรมลงในแผ่นหินอ่อน ติดตั้งเผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์, รัฐศาสตร์, ภูมิศาสตร์, วรรณคดี อันเคยเป็นองค์ความรู้ที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงมาก่อน
แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป แต่น่าจะเป็นผลพวงของการเข้ามาเผยแผ่ความรู้ของชาติตะวันตก ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการพิมพ์
องค์ความรู้แบบใหม่เริ่มแพร่หลายในพระนคร ชนชั้นนำจึงมีนโยบายเผยแพร่องค์ความรู้แบบไทย เพื่อต่อสู้คัดง้างกับการเข้ามาของชาวตะวันตกในสยามประเทศ”
“ในบรรดาศิลาจารึกองค์ความรู้เหล่านั้น มีจารึกชุดหนึ่งเรียกว่า ‘โคลงภาพคนต่างภาษา’ ที่บรรยายถึงผู้คนในโลกที่สยามรู้จักในตอนนั้น จำนวน 32 กลุ่มชน (เป็นกลุ่มชนทั้งตะวันออกและตะวันตก โดยไม่ยึดโยงกับรัฐชาติ แต่แบ่งตามภาษาที่พูด เช่น กะเหรี่ยง, มอญ, พม่า, เกาหลี, รัสเซีย, สเปน, แอฟริกา ฯลฯ) จารึกเหล่านั้นมาพร้อมกับภาพจิตกรรมและรูปแกะสลัก ซึ่งในจำนวนนั้นยังมีรูปแกะสลัก 3 รูปหลงเหลืออยู่ในวิหารตรงข้ามกับพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
เมื่อมาอ่านข้อความและภาพเหล่านั้นในยุคหลังจะเห็นว่า ด้วยความที่องค์ความรู้ในตอนนั้นยังมิได้กว้างขวางมากพอ ทำให้ภาพและข้อความเหล่านั้น เป็นการจำแนกแบบสรุปเหมารวม ที่ว่าด้วยรูปลักษณ์ นิสัยใจคอ และการแต่งกายของชนชาติต่างๆ (สามารถอ่านข้อความที่ว่านี้ได้ในหนังสือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ที่วางอยู่ในพื้นที่จัดแสดงภายในวิหาร)
ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมองแบบสรุปเหมารวม ที่ชาวตะวันตกมีต่อชาวตะวันออกในยุคจักรวรรดินิยมเลยแม้แต่น้อย”
“ผลงานชุดนี้จึงเป็นการสำรวจการมองกันและกันอย่างเจือด้วยอคติของชาวตะวันตกและชาวตะวันออกในครั้งนั้นอีกครั้ง และเนื่องจากพระประธานของพระวิหารคือ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ซึ่งเป็นพระประจำวันพุธ (กลางคืน) ตามคติของพราหมณ์ คือวันของพระราหู (ภายในพระวิหารยังมีแผ่นป้ายสวดคาถาบูชาพระราหูติดตั้งอยู่ด้วย) และในทางโหราศาสตร์ ราหู ยังหมายถึงคนแปลกหน้าหรือแดนไกล
ผมจึงสร้างภาพเคลื่อนไหวปะติดปะต่อของราหูขึ้นมาใหม่ โดยใช้ภาพจากรูปสลักหินตุ๊กตาจีน ที่แกะสลักเป็นรูปฝรั่งขึ้นมาเป็นตัวแทนราหู ท่อนล่างของราหูยังแปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งท่อนล่างที่เป็นลำตัวงู ตามคติฮินดู ท่อนล่างที่เป็นเมฆควัน ที่เชื่อมโยงไปถึงไอน้ำที่มาจากเครื่องจักรอุตสาหกรรมและเรือกลไฟ และท่อนล่างที่เป็นรถไฟ ที่เชื่อมโยงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและลัทธิจักรวรรดินิยม รวมไปถึงรถไฟจำลอง ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ราหูตัวที่ว่านี้ยังร้องเพลงโอเปร่า ที่ร้อยเรียงขึ้นมาใหม่จากเนื้อความในละครโอเปร่าและเพลงจำนวน 16 ชิ้น แต่ละชิ้นเป็นท่อนที่กล่าวถึงดินแดนอื่น โดยเฉพาะโลกตะวันออก โดยเฉพาะท่อนที่กล่าวถึงภาพเหมารวมว่าด้วยชนชาติ หรือความละเมอเพ้อฝันที่ว่าด้วยดินแดนลึกลับไกลโพ้น
เช่น โอเปร่าเรื่อง Madame butterfly ที่ว่าด้วยเรื่องราวโศกนาฏกรรมรักน้ำเน่าของทหารอเมริกันกับสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่น ที่แต่งโดยคีตกวีชาวอิตาเลียน
หรืออุปรากรเรื่อง Turandot ที่แต่งโดยคีตกวีคนเดียวกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับละครจักรๆ วงศ์ๆ ของจีน ซึ่งชื่อตัวละครก็ผิดๆ เพี้ยนๆ ไปหมด
หรือดนตรีในเรื่อง คนแต่งก็จินตนาการขึ้นจากหีบเพลงที่เชื่อว่าเป็นหีบเพลงบรรเลงเพลงจีน
ภาพเหล่านี้ก่อร่างสร้างขึ้นจากความเข้าใจแบบเหมารวมของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวตะวันออกในยุคนั้น และถ่ายทอดภาพเหมารวมเหล่านี้ต่อเนื่องกันมาเป็นทอดๆ ในวิดีโอยังมีการประดับด้วยลวดลายที่มีที่มาจากลวดลายประดับมุกบนพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนวัดโพธิ์ อีกด้วย”
องค์ประกอบสำคัญอีกประการในผลงานชุดนี้คือ รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ที่ปรากฏอยู่ในรูปทรงของตู้บรรจุจอวิดีโอจัดวาง แผ่นประติมากรรมศิลาจารึกหินอ่อน และโต๊ะวางหนังสือข้อมูลความรู้ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของผลงาน ซึ่งแฝงเร้นนัยยะบางประการอยู่
“รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูที่ปรากฏหลายแห่งในผลงานชุดนี้ มีที่มาจากรูปร่างของหน้าต่างและประตูของวิหารแห่งนี้ เพราะเมื่อเรามองออกไปยังโลกด้านนอก เราจะมองทะลุช่องว่างเหล่านี้ ผ่านรูปทรงที่มีความสอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ที่มีความบิดเบี้ยวเล็กน้อย
ซึ่งผมมองว่าเป็นโลกทัศน์ของชาวตะวันออก ที่ต่างกับโลกทัศน์ของชาวตะวันตก ที่มักทำความเข้าใจโลกผ่านแผนที่ อันเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมด้านเท่าอันสมบูรณ์แบบ ผมยังทำให้รูปทรงของตู้วิดีโอเป็นเสมือนอีกหนึ่งบัญชร (หน้าต่าง) ของวิหาร หรือบางคนอาจมองว่าเป็นตู้พระธรรมก็เป็นได้
แผ่นประติมากรรมศิลาจารึกหินอ่อน ที่อยู่ตรงกันข้ามกับวิดีโอจัดวาง ยังสะท้อนจารึกที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ แห่งในวัดโพธิ์ บนแผ่นศิลาจารึกสลักข้อความที่หยิบฉวยมาจากบทละครโอเปร่า เรื่อง Il turco in Italia (ชาวเติร์กในอิตาลี) ซึ่งเป็นละครโอเปร่าในยุคร่วมสมัยเดียวกันกับการบูรณะวัดโพธิ์ครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนเปิดเรื่องของละครโอเปร่าเรื่องนี้ ชาวยิปซีได้ร้องเนื้อร้องท่อนที่ผมหยิบมา ที่แปลความหยาบๆ ได้ว่า ‘ประเทศของเรานั้นคือโลกทั้งใบ ดินแดนของเรามีแต่ความมั่งคั่ง เพราะคนอื่นนั้นโง่เขลา เราจึงมีชีวิตเริงร่า’ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ตลกร้าย ประชดประชันเสียดสี
แต่กลับช่วยให้เราได้กลับมาสำรวจความคิดแบบเหมารวมแบบพวกเขาพวกเรา และความแตกต่างระหว่างความเป็นพลเมืองของชาติและความเป็นพลเมืองโลกอีกครั้งหนึ่ง”
“ด้วยความที่ผลงานชุดนี้มีที่มาที่ไปและเอกสารอ้างอิงจำนวนมาก ทำให้ผมเพิ่มเติมส่วนของข้อมูลอ้างอิงและจดหมายเหตุ ให้ผู้ชมได้เข้ามาเปิดอ่านเพื่อทำความเข้าใจบริบทรอบข้างของผลงานมากขึ้น และยังเป็นเหมือนการหวนคืนบรรยากาศของพื้นที่แห่งนี้ให้กลับไปสู่ความเป็นแหล่งการเรียนรู้สาธารณะที่เคยเกิดขึ้นในสมัยที่มีการจารึกสรรพความรู้ในการบูรณะวัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในยุคสมัยรัชกาล 3 ที่ผ่านมาอีกด้วย”
ด้วยเหตุนี้ การเข้าไปชมผลงานชุดนี้ของนักรบ ในพระวิหารของวัดเก่าแก่แต่โบราณแห่งนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการนั่งไทม์แมชชีนเดินทางย้อนเวลากลับไปสำรวจมุมมอง ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในอดีตกาลอันไกลโพ้นก็ไม่ปาน
ผลงาน คางหมู, โลกา, ราหู (L?, in the trapeziums) โดย นักรบ มูลมานัส จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พระวิหารทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เปิดทำการทุกวัน เวลา 08:00-17:30 น.
เข้าชมฟรี ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/ •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022