ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ดูเหมือนว่าโลกถูกออกแบบด้วยสถานะอภิมหาอำนาจของ 2 รัฐได้แก่ สหรัฐอเมริกากับจีน
หากเริ่มจากสหรัฐอเมริกา โลกถูกออกแบบโดยผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ทำให้เราเห็นโลกที่คาดการณ์ได้ในปี 2568 อันหนึ่งคือ การกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่งของ โดนัลด์ ทรัมป์
อีกด้านหนึ่งคือ ผลของความไม่แน่นอนต่างๆ ตามมา
เราลองมาดูกัน
ทางเลือกอเมริกัน
การกวาดชัยชนะของทรัมป์จะก่อผลเกือบทุกอย่าง เริ่มจากเรื่อง การอพยพย้ายถิ่นฐาน ความมั่นคง เศรษฐกิจและการค้า
นโยบายของทรัมป์ “อเมริกันมาก่อน” ทำให้สหรัฐอเมริกามีทั้งเพื่อนและศัตรู เหมือนคำถามเรื่อง ความเหนียวแน่นของพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การจัดพันธมิตรใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดที่รุนแรงขึ้น และแม้แต่การแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์
สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ พันธมิตรฝ่ายต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาล้วนได้รับผลร้ายสืบเนื่องจากในปีที่แล้ว ปี 2567 มีผลการเลือกตั้งในประเทศพันธมิตรหลายประเทศได้ผลที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน
ในบางการเลือกตั้งเช่นที่อังกฤษ ได้รัฐบาลใหม่ที่ถูกเตือนจากสหรัฐอเมริกาเล็กน้อย
แต่การเลือกตั้งที่อื่น เช่น ที่อินเดียและอเมริกาใต้ รัฐบาลใหม่ของประเทศทั้งสองล้วนถูกบังคับให้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา
ส่วนที่อื่นคือ ไต้หวันและฝรั่งเศส รัฐบาลใหม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐอเมริกาเลย
ดังนั้น ปี 2568 จึงเป็นปีแห่งความคาดหวังว่า ผู้นำใหม่ของประเทศต่างๆ สามารถผลักดันอะไรต่างๆ ที่ตนได้สัญญาเอาไว้ หรือบางผู้นำกำลังลังเล แล้วอาจเปลี่ยนสัญญาที่ให้ไว้ก็ได้
บางผู้นำที่ไม่ทำตามสัญญาอาจมีการต่อต้านจากฝ่ายการเมืองภายในของประเทศตน
ความไร้ระเบียบกว้างมากกว่าเดิม
ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า ทรัมป์ผลักดันให้ยูเครนทำอะไรร่วมกับรัสเซีย ทรัมป์ได้ให้อิสระกับอิสราเอลทำอะไรในเรื่องความขัดแย้งของพวกเขาในกาซ่าและในเลบานอน
จุดยืนของสหรัฐอเมริกาแสดงการดำเนินการมากกว่าเดิม และเกิดความสงสัยในเรื่องความเกี่ยวข้องของต่างชาติในภูมิภาคนั้น อาจเร่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นโดยจีน รัสเซีย อิหร่านและเกาหลีเหนือ ที่นักสังเกตการณ์เรียกกลุ่มนี้ว่า จัตุรัสแห่งความวุ่นวาย
นอกจากนี้ ยังมีความวุ่นวายโดยชาติมหาอำนาจในระดับภูมิภาค เช่นที่เห็นได้ในวิกฤตการณ์ในซูดาน ทวีปแอฟริกา
แต่ยังไม่ชัดเจนนักว่า จุดยืนของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไรต่อจีน ในความขัดแย้งประเด็นไต้หวัน หรือความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
แนวโน้มที่น่ากลัว
ต่อไปนี้ การแข่งขันของสหรัฐอเมริกากับจีนจะแสดงตัวตนออกมาคือ ทำสงครามการค้า ดังจะเห็นได้ว่า ทรัมป์ใช้มาตรการเข้มงวดและขู่เข็ญจีนเรื่องภาษีศุลกากร ลัทธิกีดกันทางการค้าขยายตัวมากขึ้น
บริษัทจีนกำลังขยายตัวออกไปต่างประเทศต้องเผชิญกับกำแพงภาษีการค้าและติดอยู่ในตลาดใหม่ในประเทศซีกโลกที่ 3 นับเป็นการกีดกันจีนออกไปจากระบบเศรษฐกิจโลกมาก ซึ่งบริษัทจีนได้สร้างโรงงานมากมายนับจากเม็กซิโกถึงฮังการี
นอกจากนี้ ปัจจุบันสหรัฐกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีนอย่างมาก เพราะความก้าวหน้าของจีนพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด สัญญาณที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ บริษัท Huawei ของจีนโดนสหรัฐเล่นงานตลอด หรือแม้กระทั่งประเทศที่จะซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐ ถ้าเกิดว่ามีลิงก์ทางด้านเทคโนโลยีกับจีน สหรัฐก็จะไม่ขายให้ สหรัฐแบนบริษัทชิพจีนเกือบทั้งประเทศ
หนึ่งสัญญาณล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคมปีที่แล้ว สหรัฐประกาศเพิ่มการแบนบริษัทจีน 140 แห่ง เข้าไปอยู่ในรายชื่อจำกัดการค้า ซึ่งถือเป็นความพยายามจากสหรัฐครั้งสำคัญในการจำกัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชั้นสูงจากจีน
ที่สำคัญ ภายใน 140 รายชื่อประกอบด้วย Semiconductor Manufacturing International Corp. (TSMC) บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Huawei รวมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ชิพชั้นนำของจีน เช่น Beijing Naura, ACM Research และ Piotech
สงครามยูเครนยังไม่สิ้นสุด
วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สหรัฐและประเทศพันธมิตร เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ได้ออกมาตรการฝ่ายเดียว (Unilateral Sanction) ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า Common High Priority List (CHPL)
ซึ่งประกอบด้วยพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้า 50 รายการ เพื่อควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียในการสู้รบกับยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว และส่วนประกอบของอากาศยาน ที่จำเป็นต่อการดำเนินการโจมตีต่อยูเครน
โดยเฉพาะการลงโทษต่อบริษัทเอกชนหรือบุคคลของประเทศที่สาม
ซีเรียเชิงภูมิรัฐศาสตร์
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นว่า บทบาทของมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องยังคงซับซ้อนและน่าจับตามอง โดยเฉพาะตัวละครสำคัญที่เป็นมหาอำนาจอย่างรัสเซีย อาจเพิ่มการโจมตีอย่างรุนแรงต่อกลุ่มต่อต้าน ซึ่งอาจสร้างความสูญเสียให้กับพลเรือนอย่างมาก
ขณะเดียวกัน สหรัฐแม้ที่ผ่านมาในช่วงสมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ จะลดบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านในซีเรีย แต่ในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะกลับมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาเคยทำ แต่ทว่าไบเดนก็กำลังจะหมดวาระในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว
ซึ่งถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและตุรกีในยุคทรัมป์สมัยที่สองปรับตัวดีขึ้น สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดนโยบายของสหรัฐในซีเรีย
ทว่า หากสหรัฐเลือกยืนข้างตุรกีโดยลดการสนับสนุนกลุ่มเคิร์ดที่ตุรกีมองว่าเป็นภัยคุกคามมาโดยตลอด แม้อาจช่วยเสริมกำลังให้กับกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลได้ แต่ในทางกลับกัน สหรัฐอาจสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในยูเครนด้วย
สิ่งที่น่าจับตาคือ การกลับมาของทรัมป์อีกครั้งในสมัยที่สอง นโยบายของเขาอาจมุ่งไปที่การใช้ข้อต่อรองกับรัสเซีย โดยการเจรจาภายใต้กรอบที่ผสมผสานระหว่างการพูดคุย การข่มขู่ และการโจมตีในเวลาเดียวกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี ค.ศ.2017 ที่ทรัมป์เคยสั่งให้กองทัพสหรัฐโจมตีเข้าไปในซีเรีย
ฉะนั้น ซีเรียจึงไม่เพียงแต่เป็นสงครามภายใน แต่ยังเป็นเวทีของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สะท้อนผลประโยชน์และการต่อสู้ชิงอำนาจของมหาอำนาจในภูมิภาคและระดับโลกด้วย
สรุป
การแบนชิพที่ผลิตในจีน ที่กระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลก แล้วเกิดภาวะชงักงันด้านการผลิตทั่วโลก
สงครามยูเครนยังไม่จบสิ้น แต่ก่อผลทั้งด้านมนุษยธรรม ความอดอยาก ป่วย ล้มตายจำนวนมาก
ในขณะที่ซีเรียได้เป็นพื้นที่ความขัดแย้งใหม่ของชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อิหร่าน แต่การล้มตายของผู้หญิงและเด็ก ความอดอยากแผ่ไปทั่วประเทศ
ย้อนกลับมาดูเมียนมา โศกนาฏกรรมของมวลมนุษยชาติ เด็ก ผู้หญิงและคนแก่อดอยาก ล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่อาเซียนก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปแก้ปัญหาได้
นี่คือ ปี 2568 ของโลกใบนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022