เห็นภาพนี้แล้วรู้สึกยังไง? สิ่งที่เห็นกับความจริง คืออะไร “หนุ่มเมืองจันท์” ชวนคิด

ในคอลัมน์ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ของ หนุ่มเมืองจันท์ ชื่อตอน สิ่งที่เห็นกับความจริง ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 – 22 กันยายน 2559 มีภาพที่น่าสนใจ ชวนให้หู้อ่านทุกคน สัมผัสกับความรู้สึกของสิ่งที่เห็นนั่นคือ “ภาพถ่าย” ว่าเมื่อเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร กับ ความจริงเบื้องหลังภาพ ที่ควรรู้ เมื่อนั้นความรู้สึกต่อภาพและความจริงในใจ ผู้อ่านจะเปลี่ยนไปหรือไม่ มาหาคำตอบร่วมกัน

เห็นภาพนี้ แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง

saigon-execution-murder-of-a-vietcong-by-saigon-police-chief-1968

 

หนุ่มเมืองจันท์ เขียนอธิบายว่า ภาพนี้ คือ ภาพนายตำรวจจ่อยิงศีรษะนักโทษเวียดกงที่ใส่กุญแจมือของ “เอ็ดดี้ อดัมส์”

ได้รางวัลพูลิตเซอร์

ความรู้สึกของคนที่เห็นภาพนี้ก็ไม่แตกต่างกัน

เราจะรู้สึกว่านายตำรวจคนนี้โหดร้ายมาก

ยิงคนที่ไม่มีทางสู้

เป็นภาพแห่งความโหดร้ายของสงคราม
ในชีวิตจริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาและที่ไป

แต่การถ่ายภาพนิ่งเหมือนการหยุดเวลาของเรื่องราว ณ วินาทีนั้น

ทั้งที่ชีวิตยังดำเนินต่อไป

หนุ่มเมืองจันท์ อธิบายรายละเอียด ว่าภาพชายคนนั้นคือ

นายพลเหงียน หงอก โลน อธิบดีกรมตำรวจที่โหดร้ายในภาพนั้น

ภาพไม่ได้บอก “ที่มา”

แต่บอกแค่ “การกระทำ”

“เอ็ดดี้ อดัมส์” เป็นช่างภาพ ไม่ใช่นักข่าว

เขาส่งแต่ภาพ แต่ไม่ได้บรรยายที่มาของ “ภาพ” ทั้งที่เขาอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์นี้

คนที่ถูกจ่อยิงเป็นหัวหน้าหน่วยล่าสังหารของ “เวียดกง” ที่ถูกจับได้

เวียดกงคนนี้เพิ่งสังหารครอบครัวตำรวจ ทั้งลูกเมียและคนในบ้านอีกหลายศพ

นายพลเหงียน หงอก โลน เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ

ด้วยความแค้น เขาสั่งให้ลูกน้องยิงฆาตกรเวียดกงคนนี้

แต่ไม่มีใครกล้ายิง

นายพลเหงียน หงอก โลน จึงจัดการเอง

และกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้
แม้จะเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม และผิดกฎหมาย แต่ถ้าใครรู้ “ที่มา” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความรู้สึกต่อคนในภาพจะเปลี่ยนไป

ไม่ได้เห็นด้วย

แต่ระดับความแค้นคงลดลงบ้าง

ไม่เหมือนกับตอนแรก

แต่เพราะทุกคนไม่รู้

ทุกคนจึงตัดสินจากภาพที่เห็น

ภาพนี้ได้กลายเป็นภาพสะท้อนความโหดร้ายของสงครามเวียดนามที่ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนทั้งโลก

แน่นอน คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

คือ นายพลเหงียน หงอก โลน

หลังจากภาพนี้แพร่ไปทั่วโลก นายพลเหงียน หงอก โลน เจอระเบิดจนต้องตัดขา

ไปรักษาตัวที่ออสเตรเลียก็ถูกประท้วง

หลังสงครามเวียดนามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลเวียดนามใต้ และทหารอเมริกัน

นายพลเหงียน หงอก โลน อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ก็จะเจอกับการต่อต้านของชาวอเมริกัน

มีการเคลื่อนไหวให้เนรเทศเขาออกนอกประเทศ

เปิดร้านอาหารก็ถูกประท้วง มีการเขียนข้อความในห้องน้ำเพื่อบอกให้รู้ว่าทุกคนรู้ว่าเขาคือใคร

นายพลเหงียน หงอก โลน ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงที่อยู่สหรัฐอเมริกา

สงครามเวียดนามจบแล้ว

แต่สงครามในใจของเขาไม่จบ

จนวันที่เขาเสียชีวิต

“ความจริง” จึงเริ่มปรากฏ

“เอ็ดดี้ อดัมส์” ออกมาขอโทษ นายพลเหงียน หงอก โลน

เขากล่าวว่า “ท่านนายพลสังหารเวียดกงด้วยปืน แต่ผมสังหารท่านด้วยกล้อง”

เพราะ “ภาพ” คือการหยุดเวลา

เป็น “เรื่องราว” ณ เวลานั้น
แต่ “ความจริง” ของชีวิตเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง

มีที่มาและที่ไป

การตัดสินคนด้วยภาพภาพเดียวจึงสามารถฆ่าคนคนหนึ่งทั้งเป็นได้

ทุกครั้งที่ผมเห็นคลิปที่มีการแชร์กัน

ผมจึงนึกถึงภาพนี้ของ “เอ็ดดี้ อดัมส์”

เราแค่ “เห็น”

เรายัง “ไม่รู้” ความจริง

อย่าเพิ่งตัดสินใครด้วยภาพภาพเดียว

หรือคลิปเพียงคลิปเดียว

เราต้องให้โอกาสกับสิ่งที่ไม่รู้