ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ในแต่ละปีประเทศไทยใช้งบประมาณในการบำบัดรักษาโรคนับแสนล้านบาท หลายโรคจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อรักษาชีวิต แต่ก็พบว่ามีโรคและอาการจำนวนไม่น้อยที่สามารถ “สร้างนำซ่อม” หรือ “ป้องกันดีกว่ารักษา” ช่วยถนอมร่างกายจิตใจไม่บอบช้ำแล้วยังประหยัดเงินทองครอบครัวและงบประมาณแผ่นดินด้วย
ปัจจุบันเมืองไทยยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมากขึ้น เรามีแพทย์แผนไทยจำนวนมากที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย และยังมีหมอพื้นบ้านที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยอยู่ในตำบลตนเองเพื่อคอยดูแลสุขภาพหรือสร้างเสริมสุขภาพในตำบล
ยิ่งกว่านั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับมอบภารกิจถ่ายโอนงานสาธารณสุขมาดูแลก็กำลังเปิดรับบุคลากรแพทย์แผนไทยจำนวนมาก เพื่อช่วยหนุนนำให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างใกล้ชิดกว่าแต่ก่อน
มองการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญช่วยส่งเสริมระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วไทยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และถ้าได้จับมือ 4 ประสาน ประกอบด้วย รพ.สต., องค์กรปกครองท้องถิ่น (อบต.หรือเทศบาลตำบล) เครือข่ายหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนไทย และวัด โรงเรียน หรือหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่จะเพิ่มพลัง “สร้างนำซ่อม”
ตัวอย่างสัก 2 แห่ง ที่มูลนิธิสุขภาพไทยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปฏิบัติการสร้างระบบสุขภาพชุมชน โดยนำเอา โรงอบสมุนไพรเป็นศูนย์บริการสุขภาพและเป็นศูนย์รวมในการรวมคน รวมความรู้ รวมต้นไม้หรือสมุนไพรเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมพืชของชุมชน
ที่แรก ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นความร่วมมือ “บวร-พลัส” คือมีมากกว่าบ้าน วัด โรงเรียน แต่มีสาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อสม. อาจารย์จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ฯลฯ มีส่วนร่วมสร้าง 1 ตำบล 1 โรงอบสมุนไพร โดยใช้วัดหนองกงในพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้และบริการสุขภาพเสมือนในอดีตที่วัดเป็นทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล หรือ “อโรคยศาล” แปลได้ว่า ศาลาไร้โรค หรือก็คือสถานพยาบาลหรือสถานที่รักษาโรค
ซึ่งถ้าใครศึกษาวัฒนธรรมอีสานใต้ จากจารึกที่พบจำนวนมากในประเทศไทย เช่น จารึกพิมาย จารึกปราสาท เป็นต้น ก็จะพบเหตุผลการสร้างอโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดังความตอนหนึ่งว่า “โรคทางกายของปวงชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์เอง แต่ความทุกข์ของราษฎร์เปรียบเหมือน ความทุกข์ของผู้ปกครอง”
วัดหรือพระพุทธศาสนาจึงมีส่วนเยียวยารักษาทั้งจิตใจและร่างกาย ที่วัดหนองกง ต.บ้านสิงห์ ถือฤกษ์งามยามดีในงานปริวาสกรรมของทางวัด เปิดโรงอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ผลลัพธ์สุขภาพที่คนในพื้นที่บันทึกหลักฐานไว้ ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2567 (รวมระยะเวลา 10 วัน) พบว่ามีจำนวนผู้สนใจเข้ารับบริการอบสมุนไพร เป็นคนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง จำนวนทั้งหมด 274 คน แบ่งเป็นชายจำนวน 109 คน หญิงจำนวน 165 คน ก่อนเข้ารับบริการอบสมุนไพร ทางกลุ่ม อสม.จะเก็บข้อมูลประวัติส่วนตัว การตรวจวัดความดัน (ไม่ควรเกิน 140/100) และอุณหภูมิร่างกาย (ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส) ก่อนทุกครั้ง ในแต่ละครั้งจะเข้าห้องอบสมุนไพร 10 นาที หลังจากการอบสมุนไพรเสร็จ ให้ผู้มารับบริการนั่งพักแล้วเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ พบว่าหลังจากอบรมสมุนไพรแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เบาตัว รู้สึกกระปี้กระเปร่า หลังอบจะมีน้ำดื่มและน้ำสมุนไพร เช่น น้ำใบเตย และน้ำฝาง ให้ดื่มเพื่อชดเชยน้ำในร่างกายที่เสียไปด้วย จาก “คิกออฟ” นี้ได้ผลการตอบรับที่ดีจากทั้งคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง คณะทำงานระบบสุขภาพชุมชนจึงขยายผลเปิดให้มีบริการการอบสมุนไพรทุกวันพระ
สูตรอบสมุนไพรที่วัดหนองกง ยึดแนวสมุนไพรใกล้ตัวหาได้ในท้องถิ่นแต่มีสรรพคุณตรงตามต้นฉบับการอบสมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้ มะกรูด และไพล บางครั้งชาวบ้านเด็ดใบมะขาม เปล้า ใบเตย นำมาถวายวัดใส่ลงในหม้อต้มไอน้ำ ปรุงสูตรอบสมุนไพรให้กลิ่นหอมดีสรรพคุณเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพของชาวบ้านแห่งที่สอง โรงอบสมุนพรที่วัดควนแพรกหา ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยเจ้าอาวาสท่านสนับสนุนเต็มร้อย และมีทีมหมอพื้นบ้านตำบลแพรกหา เช่น นายจินตรัตน์ ทองช่วย นำสูตรยาอบพื้นบ้านที่ประกอบด้วยสมุนไพร ไพล ขมิ้นอ้อย ดอกกระวาน ตะไคร้บ้าน ตะไคร้หอม ใบสมุลแว้ง โปร่งฟ้า ใบบุนนาค ใบกฤษณา ใบส้มเสี้ยว เกล็ดการบูร มาให้บริการแก่ชาวบ้านทุกวันอาทิตย์ เริ่มมาตั้งแต่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านแฮปปี้ สัปดาห์หนึ่งมากัน 5-6 คน
สูตรสมุนไพรที่ใช้ในการอบมักคล้ายคลึงกัน ทุกท่านสามารถนำมาใช้ได้ หัวไพล หัวขมิ้นอ้อย แก้ฟกซ้ำ บวม แก้เคล็ดขัดยอก ขมิ้นชัน แก้โรคผิวหนัง บำรุงผิวพรรณ สมานแผล ต้นตะไคร้ ผิวมะกรูด แต่งกลิ่นให้หอมสดชื่น แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดเมื่อย ใบส้มป่อยช่วยให้ผิวสะอาดเกลี้ยงเกลา สดชื่น ใบมะขามแก้ข้อขัดบวม อักเสบ เถาเอ็นอ่อน แก้เส้นตึง บำรุงเส้น แก้ปวดเมื่อย และอย่าลืมปรุงแต่ง พิมเสน การบูร เล็กน้อยเพิ่มกลิ่นหอมเย็นสดชื่นแล้ว ยังช่วยกระจายเลือดลมในร่างกาย ผ่อนคลายความตึงเครียด
เหตุผลที่โรงอบสมุนไพร “สร้างนำซ่อม” เพราะการอบสมุนไพรช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายลดความเครียด ลดปวดเมื่อย ช่วยให้หลับสบาย บรรเทาอาการหวัดและคัดจมูก โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง ช่วยลดความดันโลหิตสูงที่ไม่รุนแรง ช่วยแก้อาการคันหรือแก้ผดผื่นคัน บำรุงผิวพรรณให้มีน้ำมีนวล อบสมุนไพรสม่ำเสมอยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายแข็งแรงกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค และเหมือน “ดีทอกซ์” ขับของเสียออกจากผิวหนังด้วย
หากเราสร้างระบบสุขภาพชุมชนเริ่มที่โรงอบสมุนไพรทุกตำบล ดั่งเช่นวัฒนธรรมญี่ปุ่น อาบน้ำ “ออนเซน” ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพแล้ว อบสมุนไพรเรายังช่วยปลูกขยายพันธ์สมุนไพรและสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022